ประธานคณะ กมธ. การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าว “แนวทางการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของฝุ่นแดงจากการถลุงเหล็กซึ่งเป็นกากของเสียอันตราย”
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภานายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะ กมธ. การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าว “แนวทางการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของฝุ่นแดงจากการถลุงเหล็กซึ่งเป็นกากของเสียอันตราย” จากกระแสข่าวว่าจะมีเรือขนฝุ่นแดง หรือฝุ่นเหล็ก ซึ่งเป็นของเสียจากการถลุงเหล็ก กากของเสียอันตรายบรรทุกขึ้นเรือขนส่งเอกชนรายใหญ่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์จำนวนเกือบ 100 ตู้น้ำหนักรวมประมาณ 816 ตัน ต้นทางจากประเทศแอลเบเนีย มุ่งหน้าปลายทางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังประเทศไทย ตามที่ได้มีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติได้แจ้งเตือนมานั้น คณะ กมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ติดตามเรื่องของการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกากแคดเมียม หรือ กากของเสียอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งในวันนี้(21 ส.ค. 67 ) คณะ กมธ.การอุตสาหกรรม ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกรมศุลกากร เข้าร่วมประชุมฯ โดยข้อมูลเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งว่า ฝุ่นแดงเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นของเสียเคมีวัตถุตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่สามารถขนย้ายข้ามประเทศเข้ามายังประเทศไทยได้ หากจะมีการขนย้ายเข้ามาในประเทศจะต้องได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ชี้แจงว่าในกรณีดังกล่าวไม่มีการอนุญาตให้ขนย้ายฝุ่นแดงเข้ามาในประเทศ และไม่เคยอนุญาตให้มีการขนย้ายฝุ่นแดงเข้ามาในประเทศมาก่อน
ด้านกรมศุลกากรได้ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ในส่วนของเรือที่บรรจุฝุ่นแดงจำนวน 2 ลำที่ได้รับการแจ้งเตือนนั้น ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเรือลำแรกได้เดินทางออกจากท่าเรือในประเทศสิงคโปร์เดินทางสู่ประเทศจีน โดยไม่มีการจอดที่ประเทศไทย และสำหรับเรือลำที่ 2 ยังอยู่ที่ประเทศโมร็อกโกและยังไม่มีการเดินทางมายังทวีปเอเชีย จึงขอให้พี่น้องประชาชนให้สบายใจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กมธ.การอุตสาหกรรม ได้ขอให้กรมศุลกากรติดตามเรือทั้ง 2 ลำอย่างใกล้ชิด สำหรับการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จของในตู้คอนเทนเนอร์นั้น ทางกรมศุลกากรแจ้งว่ามีการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ด้วยการเอกซเรย์ (X-Ray) และเปิดตู้คอนเทนเนอร์ แต่อย่างไรก็ดีอาจมีการเข้าสู่ประเทศผ่านการสำแดงเท็จอาจเกิดขึ้นได้ ทาง กมธ. จึงได้ขอให้กรมศุลกากรดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อไป
นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ถลุงฝุ่นแดงในประเทศไทยทั้งสิ้น 8 โรงงาน ยังมีการดำเนินการอยู่ 5 โรงงาน โดยเป็นการถลุงเฉพาะฝุ่นแดงในประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตามทาง กมธ. ได้ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการลักลอบถลุงฝุ่นแดงจากต่างประเทศ คณะกมธ. ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ และขอยืนยันว่าจะดำเนินการติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนต่อไป