รองประธานคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย คนที่หนึ่ง ในคณะกมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ แถลงข่าวผลการประชุมคณะอนุ กมธ.
วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองประธานคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย คนที่หนึ่ง ในคณะกมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ แถลงข่าวผลการประชุมคณะอนุ กมธ. เพื่อพิจารณาเรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในเวลาที่ผ่านมาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานทางภาครัฐดำเนินการแก้ปัญหาอย่างล่าช้า โดยไม่ได้มีส่วนทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำลดลงไปและไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ในวันนี้ คณะอนุ กมธ. ได้เชิญอธิบดีกรมประมงมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 7 มาตรการ 15 โครงการ ใช้งบประมาณในการรับซื้อจำนวน 450 ล้านบาท และงบประมาณจำนวนประมาณ 400 ล้านบาท ในการฟื้นฟู การทำความเข้าใจ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับตามความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหา อาทิ โครงการรับซื้อปลาหมอคางดำมูลค่ารวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท รับซื้ออยู่ประมาณ 5 ล้านกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนภาคเอกชน มีมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดยการรับซื้อจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม โดยภาครัฐและเอกชนรับซื้อรวมกันประมาณ 7 ล้านกิโลกรัม ทำให้เกิดความสงสัยว่า มีการนำเอาจำนวนที่เอกชนรับซื้อมารวมกับภาครัฐหรือไม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ ทำให้ทราบว่า ประชาชน ไม่ได้มีการนำมาขายมากเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 มีประกาศของกรมประมงว่ามีการแพร่ระบาด 19 จังหวัด 76 อำเภอ เกษตรกรเดือดร้อน เกือบ 50,000 คน แต่มาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการ ไม่ว่าจะร่วมกับเอกชนหรือหน่วยงานทางภาครัฐดำเนินการเองค่อนข้างสวนทางกับความต้องการ และผ่านไปช่วงระยะหนึ่งก็ประกาศว่างบประมาณจะหมดแล้วแต่ประชาชนยังไม่ได้จับออกจากพื้นที่ของประชาชนเลย สำหรับมาตรการที่ 6 คือวิจัย ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกรมประมง ซึ่งไม่มีความชัดเจนของการวิจัย ส่วนมาตรการที่ 7 เรื่องการฟื้นฟูมีการอนุมัติวงเงินงบประมาณ จำนวน 100 ล้านบาท โดยใช้ปลาท้องถิ่นจำนวน 5 ล้านตัวปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน ม.ค. 68 จากการประชุมดังกล่าว คณะอนุ กมธ. มีความเห็นว่า โครงการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ไม่มีความชัดเจนในส่วนของงบประมาณและรายละเอียดของโครงการที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คณะ กมธ. จึงขอฝากข้อห่วงใยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า โครงการแก้ปัญหาดังกล่าวมีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดหรือไม่