สหประชาชาติอนุญาตให้ประธานาธิบดีเซเลนสกี (Zelenskyy) ของยูเครน กล่าวถ้อยแถลงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมผู้นำโลกที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า


ประเทศ  สหประชาชาติ
ข่าวประจำวันที่  ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕
หมวด  การเมือง
 
 
            เมื่อวันศุกร์ (๑๖ กันยายน ๒๕๖๕) สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงคะแนนเสียงเพื่ออนุญาตให้ประธานาธิบดีของยูเครนกล่าวถ้อยแถลงที่บันทึกเสียงไว้แล้วในการประชุมผู้นำโลกในสัปดาห์หน้า ตามความประสงค์ของเขาที่จะตอบโต้การรุกรานของรัสเซีย โดยถือเป็นข้อยกเว้นของข้อกำหนดแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่าผู้นำทุกคนต้องแถลงในที่ประชุมด้วยตนเอง
            องค์คณะผู้นำโลกที่ประกอบด้วยสมาชิก ๑๙๓ ประเทศ อนุมัติให้นายโวโลดิเมีย เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) กล่าวถ้อยแถลงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ด้วยคะแนนเสียง ๑๐๑ ต่อ ๗ เสียง และงดออกเสียง ๑๙ เสียง ซึ่งรวมถึงประเทศจีน ทั้งนี้ สมาชิกจำนวน ๗ ประเทศ ที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ คือ เบลารุส (Belarus) คิวบา (Cuba) เอริเทรีย (Eritrea) นิการากัว (Nicaragua) เกาหลีเหนือ (North Korea) รัสเซีย (Russia) และซีเรีย (Syria)
            การประชุมในครั้งแรกเพื่อลงคะแนนเสียงให้แก้ไขเพิ่มเติมในการอนุญาตให้ผู้นำประเทศใด ๆ ที่เผชิญกับความยากลำบากเป็นพิเศษและไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมกล่าวคำปราศรัยที่ได้รับการบันทึกไว้ก่อนแล้ว ได้รับการเสนอโดยเบลารุส ที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซียนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๓ ต่อ ๖๗ เสียง และงดออกเสียง ๒๗ เสียง
            เอกสารที่ได้รับการอนุมัตินั้น ระบุข้อความที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับ “ผู้นำที่รักสันติภาพ” กล่าวคือ รัฐอธิปไตยที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง “เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐอันเนื่องมาจากการล่วงล้ำ การรุกราน การใช้กำลังทางทหารจากรัฐอื่นที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งทำให้ไม่อาจเดินทางออกจากหรือกลับสู่ประเทศของตนได้อย่างปลอดภัย หรือมีความจำเป็นในการป้องกันประเทศและหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคงของตน
            เอกสารที่ถูกเสนอโดยยูเครนและผู้ร่วมเสนออีกมากกว่า ๕๐ ประเทศ อนุญาตให้เซเลนสกีส่งคำแถลงการณ์ที่ได้รับการบันทึกไว้ก่อนแล้ว เพื่อเปิดแสดงในห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ และเน้นย้ำว่า เอกสารนี้จะไม่ได้สร้างบรรทัดฐานสำหรับการประชุมระดับสูงที่จะมีขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด
            นายเซอร์กีย์ คิสลิตสยา (Sergiy Kyslytsya) เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหประชาชาติแสดงความพึงพอใจว่า ที่ประชุมจะมีโอกาสได้รับฟังจากเซเลนสกีโดยตรงว่า “เขาเล็งเห็นว่าจุดจบของสงครามครั้งนี้จะเป็นอย่างไร และเขาประเมินผลกระทบของสงครามครั้งนี้ ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสหประชาชาติอย่างไร”
            เขาแสดงความขอบคุณในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ดเพรส (Associated Press) ว่า สมาชิกสหประชาชาติ ๑๐๑ ประเทศ ให้การสนับสนุนต่อการรับฟังถ้อยแถลงจากเซเลนสกีอย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่า “น่าสมเพช” ที่รัสเซียรวบรวมประเทศอื่นได้เพียงหกประเทศเพื่อคัดค้านคำแถลงของเซเลนสกี
            คิสลิตสยา กล่าวว่า เซเลนสกีวางกำหนดการไว้ว่า จะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่ที่จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันพุธหน้า (๒๑ กันยายน ๒๕๖๕) และไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงกำหนดการนี้
            เอกสารฉบับดังกล่าวอ้างถึงมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ได้รับความเห็นชอบในการประชุมสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่หกหลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ โดยมีการเรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลังและถอนกำลังทั้งหมดออกจากยูเครนโดยทันที การลงคะแนนเสียงต่อมติเรื่อง “การตำหนิการรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด” ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๑๔๑ ต่อ ๕ เสียง และงดออกเสียง ๓๕ เสียง
            นายฟิลิป รีด (Philip Reed) อุปทูตอังกฤษ กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ก่อนการลงคะแนนเสียงว่า ความจำเป็นในการเสนอข้อเรียกร้องนี้ เนื่องมาจาก “รัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้านและประธานาธิบดีของยูเครนไม่สามารถเดินทางไปนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการอภิปรายทั่วไป” ซึ่งเป็นชื่อทางการของการประชุมระดับสูง
            ผู้แทนของนิการากัว ซึ่งปฏิเสธที่จะระบุภารกิจของตน กล่าวว่า คำตัดสินของข้อเสนอ “สะท้อนแนวโน้มที่ชัดเจนต่อสถานภาพพิเศษ” และละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติที่ระบุว่า “สมาชิกทุกประเทศย่อมมีอธิปไตยเท่าเทียมกัน” เขาได้กล่าวเตือนให้สมาชิกคัดค้านข้อเสนอและหลีกเลี่ยง “ความเป็นสองมาตรฐาน” และ “ผลประโยชน์ส่วนบุคคล”
            เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา การประชุมประจำปีของผู้นำโลกในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงจัดขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และแบบผสมผสานในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ แต่ในปีนี้ สมัชชาใหญ่กำหนดว่า สมาชิกต้องกล่าวถ้อยแถลงทั้งหมดด้วยตนเอง
 
 
ที่มาของข่าว : https://globalnews.ca/news/9136344/ukraine-zelenskyy-un-speech-vote/
 
 
ผู้แปล : นางสาววัชรี จิรธนกรณ์  นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน : นายกิตติ เสรีประยูร  ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางสาวศิรสา  ชลายนานนท์  นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี  มาศรีจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
 
สำนักภาษาต่างประเทศ  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย