ฉงชิ่งเมืองใหญ่ที่สุดของจีนเริ่มใช้กฎระเบียบต่อต้านการจารกรรมท้องถิ่น

ประเทศ จีน
ข่าวประจำวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๖
หมวด การเมือง


                           เมืองฉงชิ่ง ซึ่งถูกจดจำว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนด้วยจำนวนประชากร ๓๒.๑๒ ล้านคน ได้ดําเนินก้าวสําคัญด้านการส่งเสริมความมั่นคงของชาติ โดยได้ประกาศใช้กฎระเบียบต่อต้านการจารกรรมท้องถิ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (๑ กันยายน ๒๕๖๖)  เนื่องจากฉงชิ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่านครเซี่ยงไฮ้ที่มีจำนวนประชากร ๒๔.๘๙ ล้านคน และกรุงปักกิ่งที่มีจำนวนประชากร ๒๑.๘๘ ล้านคน การขับเคลื่อนของฉงชิ่งจึงสร้างแนวทางปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อเมืองใหญ่อื่น ๆ ของประเทศจีน
                          ปฏิกิริยาต่อการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรมแห่งชาติของจีนเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ เนื่องจากการขยายขอบเขตด้านการถ่ายโอนข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เมืองฉงชิ่งสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและได้กลั่นกรองมาตรการต่อต้านการจารกรรมออกเป็น ๒๙ มาตรา
                          กฎระเบียบเหล่านี้มีความครอบคลุม ไม่เพียงการมุ่งมั่นตรวจจับ แต่ยังมีขึ้นเพื่อป้องกันการจารกรรม โดยเน้นความตระหนักและการเตรียมการ โดยมุ่งให้องค์กรและประชาชนมีเครื่องมือที่จําเป็นในการตอบโต้ภัยคุกคามล่วงหน้า ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นองค์ประกอบสําคัญอีกประการของแนวทางเหล่านี้ พลเมืองของฉงชิ่งไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังได้รับคําสั่งให้รายงานกิจกรรมอื่นใดที่อาจบ่งชี้ถึงความพยายามในการจารกรรมในบางกรณี ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานทางด้านสังคมที่มีร่วมกันของประเทศ ที่ความรับผิดชอบในการปกป้องผลประโยชน์ของชาตินั้นเป็นของพลเมืองทุกคนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
                         นอกจากนี้ กฎระเบียบใหม่ยังใช้ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศและการเดินทางของสถาบันที่ประจำการในต่างประเทศ ตลอดจนยังมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนตลอดจนความร่วมมือกับต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกอบรมการต่อต้านการจารกรรมเฉพาะทางก่อนการมอบหมายงานต่างประเทศ โดยจะมีการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศและเมื่อกลับมายังฉงชิ่งจะมีส่วนร่วมให้รายละเอียดในการซักถาม  กฎระเบียบดังกล่าวยังกําหนดให้องค์กรที่มีสาขาหรือบุคลากรในต่างประเทศ พัฒนาและดําเนินมาตรการเฉพาะด้านในการต่อต้านการจารกรรม
                        กฎระเบียบนี้ ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับผลที่ตามมาจากการจัดการข้อมูลที่ผิดพลาด โดยห้ามกระจาย คัดลอก หรือเก็บข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้มีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ซึ่งภาคธุรกิจและสถาบันของฉงชิ่งจะเป็นศูนย์กลางภายในกรอบการป้องกันนี้ โดยจะต้องมีการประเมินภายในอย่างสม่ำเสมอเพื่อระบุจุดอ่อน อีกทั้งต้องรายงานให้ทราบถึงการกระทําที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
                        จุดยืนนี้เป็นการเน้นย้ำด้านการจารกรรมที่ไม่ได้จํากัดอยู่แค่เขตแดนของประเทศจีน ในระดับสากลการต่อสู้แย่งความเป็นใหญ่ทั่วโลกด้านการจารกรรมนั้นมีอยู่อย่างชัดเจน เมื่อไม่นานมานี้ หัวหน้าสํานักข่าวกรองกลาง (CIA) ยอมรับถึงความก้าวหน้าของหน่วยงานปฏิบัติการข่าวกรองในประเทศจีน โดยสหรัฐฯ ยังได้เปิดเผยถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาชาวจีนในข้อหาสอดแนม หลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีนได้เผยแพร่ภาพเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับสํานักข่าวกรองกลาง ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เกิดข้อกล่าวหาและการตอบโต้ระหว่างมหาอํานาจสองประเทศ
                       ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้เกิดความโยงใยซับซ้อนมากขึ้นเมื่อช่วงต้นปี จากการที่บอลลูนตรวจสภาพอากาศขนาดใหญ่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐฯ ได้ยิงบอลลูนของจีนที่ลอยเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการต่อต้านการจารกรรม โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่าบอลลูนดังกล่าวเชื่อมโยงกับความพยายามของจีนในการสอดแนม ในขณะที่จีนระบุว่าใช้บอลลูนนี้เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และได้ลอยออกนอกเส้นทาง โดย ๑ สัปดาห์หลังจากนั้น นายหวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ประเทศจีนสังเกตเห็นบอลลูนของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างน้อย ๑๐ ลูก ลอยล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของจีน ซึ่งสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในทันที

***********************************

ที่มาของข่าว :  https://www.jurist.org/news/2023/09/chinas-biggest-city-chongqing-introduces-localized-anti-espionage-regulation/ #





 
ผู้แปล : นางมัญชุสา  ตั้งเจริญ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นางสาวศิรสา  ชลายนานนท์  นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี  มาศรีจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย