ประเทศ เครือรัฐออสเตรเลีย
ข่าวประจำวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๗
หมวด การเมือง
กฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้พนักงานตัดการติดต่อจากเจ้านายได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษหากไม่ตอบกลับ
กฎหมายใหม่ของประเทศออสเตรเลียเรื่อง “สิทธิในการตัดการติดต่อ” ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญช่วยปกป้องความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานจากเจ้านาย มีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา
กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้พนักงานไม่จำเป็นต้องอ่านและตอบข้อความและอีเมล์ที่เกี่ยวข้องกับงานนอกเวลาทำงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเบียดเบียนชีวิตส่วนตัวของพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการทำงาน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเห็นได้ชัดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และจากการทำงานนอกสำนักงาน (remote working)
กฎหมายจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า ๑๕ คน เพื่อช่วยปกป้องพนักงานจากการถูกลงโทษหากไม่ตอบข้อความหรืออีเมล์ของเจ้านายนอกเวลางาน

ตามความจริงแล้วนั้น กฎหมายใหม่นี้ทำให้ออสเตรเลียรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน เช่น ฝรั่งเศสและสเปน ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์จอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์น (Universidad Tecnológica de Swinburne) ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “ก่อนที่เราจะมีเทคโนโลยีดิจิทัล คนจะกลับบ้านหลังเลิกงานและจะไม่ติดต่อกับบริษัทจนกว่าจะกลับไปทำงานในวันถัดไป” แต่ทว่าในปัจจุบันกลับกลายเป็นเรื่องปกติที่พนักงานจะได้รับข้อความนอกเวลางานแม้กระทั่งในช่วงลาพักร้อนก็ตาม คาดว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวจบลง
จากการสำรวจของสถาบันคลังสมองออสเตรเลีย (Australia Institute) เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๖๖ ชาวออสเตรเลียทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๘๑ ชั่วโมงต่อปี นอกจากนี้ สถาบันคลังสมองฯยังได้ประเมินมูลค่าของการทำงานเพิ่มขึ้นที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนว่าสูงถึง ๑๓๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือ ๘๘,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จึงเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวในการปกป้องพนักงานและ

บทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
สำนักข่าว EFE รายงานว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของพนักงานในการตัดการเชื่อมต่อจากนายจ้าง เช่น การปฏิเสธที่จะรับสายโทรศัพท์ฉุกเฉินจากนายจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล จะต้องได้รับการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการการจ้างงานที่เป็นธรรมของออสเตรเลียซึ่งดูแลความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
หากพนักงานและบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาจต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง ๑๙,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือ ๑๒,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) และ ๙๔,๐๐๐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือ ๖๓,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ ทั้งนี้ เคยเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาขึ้นแล้วในประเทศฝรั่งเศส โดยบริษัท Rentokil Initial (ให้บริการสุขอนามัยเชิงพาณิชย์) ต้องจ่ายค่าปรับ ๖๐,๐๐๐ ยูโร (หรือ ๖๖,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากบังคับให้พนักงานต้องเปิดโทรศัพท์ตลอดเวลา

สนับสนุนหรือคัดค้าน
การอภิปรายเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้กลายเป็นเรื่องร้อนแรง โดยกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการคุ้มครองพนักงาน ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมออสเตรเลียกลับแสดงความกังวลและโต้แย้งว่า ความคลุมเครือในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสับสนแก่นายจ้างและพนักงาน และอาจส่งผลให้การทำงานมีความยืดหยุ่นน้อยลง และได้ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “อยู่ ๆ ก็มีกฎหมายเกิดขึ้น โดยมีการปรึกษาหารือเพียงเล็กน้อยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจริงและให้เวลานายจ้างน้อยมากเพื่อเตรียมตัว”
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานออสเตรเลียกลับสนับสนุนกฎหมายใหม่อย่างเต็มที่ โดย มิเชล โอ’นีล ประธานสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย กล่าวว่า บทบัญญัติที่รวมอยู่ในกฎหมายนี้รับประกันว่าจะไม่ขัดต่อคำขอที่สมเหตุสมผล และในทางกลับกัน กฎหมายมุ่งที่จะป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเวลาส่วนตัวของพนักงานอันเนื่องมาจากการวางแผนการบริหารจัดการที่ไม่ดี มิเชลยังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า “มันง่ายมากที่จะมีการติดต่อกันระหว่างนายจ้างและพนักงานจนทำให้ไม่มีการใช้สามัญสำนึก” จากกรณีของพนักงานที่ได้รับการติดต่อให้กลับไปทำงานเพียงสี่ชั่วโมงหลังจากที่ออกเวรตอนกลางคืนเวลาเที่ยงคืน
ราเชล อับเดลนัวร์ ลูกจ้างฝ่ายโฆษณา กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้สามารถตัดการเชื่อมต่อในภาค อุตสาหกรรมที่บ่อยครั้งมักจะมีเวลาทำงานที่ต่างไปจากลูกค้า อีกทั้งยังได้แสดงความเห็นกับสำนักข่าวรอยเตอร์ด้วยว่า “พวกเราใช้เวลาส่วนใหญ่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ของเรา เชื่อมต่อกับอีเมลล์ตลอดทั้งวัน” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายทำนองเดียวกันนี้เพื่อรักษาความสมดุลที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
ที่มาของข่าว : https://www.infobae.com/america/mundo/2024/08/26/australia-sanciono-una-nueva-ley-los-empleados-pueden-ignorar-los-mensajes-de-sus-jefes-fuera-de-horario-laboral/
ผู้แปล : นางสาวปฐมพร รักษ์พลเมือง นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ
กลุ่มงานภาษาสเปน เยอรมันและอาหรับ
ผู้ทาน : นางสาวจิรกาญจน์ สงวนพวก ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาสเปน เยอรมันและอาหรับ
นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร