ห้าประเด็นที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้งของแคนาดา



ประเทศแคนาดา
หมวดการเมือง
ข่าวประจำวันที่  ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๘






          การรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปของแคนาดาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการแข่งขันระยะเวลา ๓๖ วัน ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
         ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจว่าพรรคใดควรบริหารประเทศ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด ที่กำลังเข้าสู่สงครามการค้า และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ยังแสดงท่าทีเกี่ยวกับการทำให้แคนาดากลายเป็นรัฐที่ ๕๑ ของสหรัฐฯ
          แม้ว่าประเด็นภายในประเทศ เช่น ที่อยู่อาศัยและการย้ายถิ่นฐาน จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญ แต่นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ชาวแคนาดาจะต้องเผชิญกับคำถามเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ เมื่อพวกเขาไปลงคะแนนเสียงในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๘
          นี่คือห้าประเด็นที่ต้องจับตามองเมื่อการรณรงค์หาเสียงดำเนินไป
ผลกระทบของทรัมป์
          แคนาดาและสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงมายาวนาน และมีพรมแดนที่ยาวที่สุดในโลกซึ่งไม่ได้มีการป้องกันทางทหาร
          ดังนั้น เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงการใช้ “อำนาจทางเศรษฐกิจ” กดดันประเทศเพื่อนบ้านของอเมริกา โดยเรียกพรมแดนนั้นว่าเป็น “เส้นแบ่งที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล” และกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพันธมิตรทั้งสอง
          “เป็นไปไม่ได้เลยที่จะประเมินผลกระทบจากการกระทำของประธานาธิบดีที่มีต่อการเมืองของแคนาดาต่อจิตสำนึกของชาวแคนาดา และต่อภาคธุรกิจของแคนาดาที่ต่ำเกินไป” มาร์ซี เซอร์เคส (Marci Surkes) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านกิจการสาธารณะคอมพาส โรส (Compass Rose) และอดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) กล่าว
          การแทรกแซงของทรัมป์ได้เปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของแคนาดา ส่งผลให้การแข่งขันที่ดูเหมือน ว่าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) จะชนะอย่างแน่นอน กลายเป็นการต่อสู้ที่สูสีกับพรรคเสรีนิยม (Liberals) เกินกว่าจะคาดเดา
          ทั้งนี้ เมื่อการหาเสียงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำพรรคต่าง ๆ มุ่งเน้นการตอบโต้ภัยคุกคามจากสหรัฐฯ ในสารเปิดตัวของการรณรงค์หาเสียง
          สิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะกล่าวและดำเนินการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะส่งผลต่อการแข่งขันอย่างแน่นอน
          ตัวอย่างเช่น ในวันที่ ๒ เมษายน ซึ่งเป็นเพียงสัปดาห์ที่สองของการหาเสียง ทำเนียบขาวคาดการณ์ว่าจะประกาศอัตราภาษีศุลกากรทั่วโลกเพิ่มเติม
         ทรัมป์ได้เริ่มแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว โดยให้สัมภาษณ์กับลอรา อิงกราแฮม (Laura Ingraham) พิธีกรของสำนักข่าวฟอกซ์ นิวส์ (Fox News) เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ว่าปิแอร์ ปัวลิเยฟ (Pierre Poilievre) ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมเป็นคน “โง่เขลาและไม่ใช่เพื่อนของผม” และยังกล่าวอีกว่าอาจจะ “จัดการกับพรรคเสรีนิยมได้ง่ายกว่า”
          ท้ายที่สุดเขากล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าใครชนะก็ตาม “ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับผมเลย”
 
 
………………………………………………………..
 



ที่มาของข่าว : https://www.bbc.com/news/articles/c07zxy98g45o (24.3.2025)









 
ผู้แปล : นางสาวพรพิมล  หาญเศรษฐานนท์  นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน : นายกิตติ  เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ :  นางบุณฑริกา ชุณหะนันทน์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ รักษาราชการแทน
ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ





 
 
 
 


    


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย