อินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเพราะความหวังอันริบหรี่เรื่องราคาอาหาร

ประเทศ   สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ข่าวประจำวันที่    ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
หมวด เศรษฐกิจ

          กรุงลอนดอน (ข่าวธุรกิจ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น) อินโดนีเซียจะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจจะบรรเทาภาวะตลาดโลกตึงตัวได้และคลายความกดดันเรื่องราคาอาหาร
          นายโจโค วิโดโด (Mr. Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวในการแถลงข่าว
เมื่อวันพฤหัสบดี (วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕) ว่าเขาได้ตัดสินใจ "บนพื้นฐานปริมาณและราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในปัจจุบัน" รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจำนวน ๑๗ ล้านคน
          อินโดนีเซียมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มเกือบร้อยละ ๖๐ ของปริมาณน้ำมันปาล์มโลก การออกคำสั่งห้ามส่งออกเมื่อปลายเดือนก่อนเพื่อรักษาระดับปริมาณภายในประเทศและค่อยลดราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารให้ต่ำลง ข่าวเรื่องห้ามมีการซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบล่วงหน้าไปยังมาเลเซีย  ทำให้ราคามาตรฐานโลกพุ่งสูงขึ้น
          ระดับราคามีการปรับตัวลดลงอีกร้อยละ ๑ เมื่อวันพฤหัสบดี (วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕) หลังจากการประกาศของนายวิโดโด (Widodo) สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย
          จากการที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นกดดันให้ผู้บริโภคทั่วโลกตกอยู่ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบอาหารและในเครื่องสำอาง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature: WWF ) ได้ประมาณการว่ามีการนำน้ำมันปาล์มมาใช้เกือบร้อยละ ๕๐ ของสินค้าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในซูเปอร์มาร์เก็ต
          ที่ปรึกษาบริษัท แอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล (LMC International) กล่าวว่า เช่นเดียวกับยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ และเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยทั่วไปยูเครนใช้น้ำมันดอกทานตะวันแทนน้ำมันปาล์ม แต่จากการรุกรานของรัสเซียทำให้การผลิตหยุดชะงัก รวมทั้งภัยแล้งในอเมริกาใต้และแคนาดา ได้จำกัดจำนวนของน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันคาโนลาตามลำดับ
          สภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น และการขาดแคลนในสินค้าหลัก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้น
          จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อเดือนเมษายน
ระบุว่าราคาอาหารโลกในเดือนมีนาคมพุ่งขึ้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจาก “สงครามในภูมิภาคทะเลดำที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกตลาดที่ใช้ธัญพืชและน้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบหลักในหลายแห่ง”
          ทั้งนี้ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งใช้วัดการเปลี่ยนแปลงราคารายเดือนของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อาหารระหว่างประเทศ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๓.๖ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
          ระดับราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนเมษายน แต่ภัยพิบัติจากวิกฤตด้านอาหารโลกยังไม่หมดไป นายเดวิด บีสลีย์ (David Beasley) หัวหน้าโครงการอาหารโลกกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕) ว่า ผู้คนนับล้านคนจะได้รับความอดอยาก เนื่องจากความล้มเหลวในการเปิดท่าเรือในยูเครนเพื่อให้มีการส่งออกสินค้าประเภทธัญพืช
          นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า สงครามในยูเครน “คุกคามผู้คนหลายสิบล้านคนเรื่องความไม่มั่นคงด้านอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ ผู้คนหิวโหย และอดอยาก” ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตการณ์โลกอื่น ๆ ทั้งหมด

ที่มาของข่าว : https://edition.cnn.com/2022/05/19/business-food/indonesia-palm-oil-ban-lift/index.html
 
ผู้แปล นางสาวศุภพิชญ์ กิตติณัฐพงศ์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นายกิตติ  เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางสาวศิรสา  ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ  นางสาวกฤษณี  มาศรีจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย