มหาวิทยาลัยในฮ่องกงซบเซาจากการยึดครองของรัฐบาลปักกิ่ง



เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ข่าวประจำวันที่
 ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖
หมวดสังคม



มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงช่วงที่มีการประท้วงสูงสุดในปี ๒๕๖๒ โดยใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์
 
ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์วัย ๓๐ ปี ในเมืองนี้กล่าวว่า “ไม่มี ‘เส้นแดง’ ในฮ่องกงอีกต่อไป”
      “ถ้าพวกเขาต้องการติดตามคุณ ทุกอย่างสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้” เขาไม่ต้องการที่จะเปิดเผยชื่อของเขาเนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา
      เขากล่าวว่าฝันร้ายของเขากำลังถูกตั้งชื่อและโจมตีโดยสื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง โดยอาจทำให้เขาต้องสูญเสียงาน หรือแย่กว่านั้นคืออิสรภาพของเขา ความกลัวดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วมหาวิทยาลัยและแวดวงวิชกาการของฮ่องกง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูง เมืองนี้อยู่ใกล้กับแผ่นดินใหญ่แต่ก็ไกลพอที่จะเป็นที่ตั้งของห้องเรียนอันก้าวหน้า ห้องสมุดระดับโลก และหอจดหมายเหตุที่ให้เสรีภาพทางวิชาการ แม้กระทั่งในการศึกษาภาษาจีน
               นักวิชาการและนักศึกษากล่าวกับบีบีซีว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป หลายคนเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวเองเพราะความกลัว ทั้งนี้ ในภาคการศึกษา ๒๕๖๔/๒ นักวิชาการกว่า ๓๖๐ คน ออกจากมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง ๘ แห่งของฮ่องกง โดยอัตราการลาออกซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗.๔ ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ อีกทั้งการลงทะเบียนของนักศึกษาต่างชาติได้ลดลงร้อยละ ๑๓ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๒
               สเตฟาน ออร์ตทันน์ (Stephan Ortmann) นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงเมโทรโพลิทัน (Hong Kong Metropolitan University) กล่าวว่า “บรรยากาศเสรีภาพที่มีอยู่ไม่หลงเหลือแล้วและผู้คนต่างวิตกกังวล” เขากล่าวว่าเพื่อนร่วมงานของเขาหลายคนลาออกแล้ว และผู้ที่ยังอยู่ก็ระมัดระวังตัว เนื่องจากเขาได้ยินมาว่ามีครูซึ่งลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกงและจีนทั้งหมดออกจากหลักสูตรของเขา
               นักวิชาการกล่าวว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองเริ่มขึ้นหลังจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Law: NSL) มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ กฎหมายที่ครอบคลุมนี้มีเป้าหมายไปยังพฤติกรรมใด ๆ ก็ตามที่ถือว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือบ่อนทำลาย ทำให้ทางการสามารถกำหนดเป้าหมายไปที่นักเคลื่อนไหวและประชาชนทั่วไปได้เช่นกัน
               รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งบังคับใช้หลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้นำฮ่องกงออก “จากความวุ่นวายไปสู่การกำกับควบคุม” แต่ยังได้เปลี่ยนแปลงเมืองที่เคยมีชีวิตชีวาแห่งนี้อีกด้วย เมื่อก่อนจะมีการประท้วงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เกือบทุกวันสุดสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการแสดงความเห็นต่างอย่างเปิดเผยเป็นสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ ห้องสมุดสาธารณะไม่มีหนังสือที่ส่งเสริมสิ่งที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า “อุดมการณ์ที่ไม่ดี” อีกทั้งภาพยนตร์ยังถูกเซ็นเซอร์โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่โดดเด่นโดยบางคนถูกห้ามจากการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบให้ “เฉพาะผู้รักชาติเท่านั้น” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นนักวิชาการที่อาจถูกจำคุกหรือเนรเทศได้
              
*******************************************************************

ที่มาของข่าวhttps://www.bbc.com/news/world-asia-china-67689072 (14.12.2023)


 
ผู้แปล : นางสาวพรพิมล  หาญเศรษฐานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน : นางสาวศิรสา ชลายนานนท์  นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี  มาศรีจันทร์   ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ 
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 


 


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย