คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมาย “DBS ฉบับญี่ปุ่น” โดยมีหลักการสำคัญคือการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมทางเพศได้ยาวนานถึง ๒๐ ปี


ประเทศ  ญี่ปุ่นญี่ปุ่น
หมวด  สังคม (กฎหมาย)


              ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗ รัฐบาลเห็นชอบร่างกฎหมายที่มีการแนะนำระบบ “DBS [1] ฉบับญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นระบบในการตรวจสอบว่าคนที่ทำงานกับเด็กมีประวัติอาชญากรรมทางเพศหรือไม่ โดยมีหลักการสำคัญคือสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้ยาวนานถึง ๒๐ ปี
 
              รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะนำระบบ “DBS ฉบับญี่ปุ่น” มาใช้เพื่อตอบสนองต่อเหยื่ออาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนกวดวิชา
 
              ร่างกฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้นายจ้างสอบถามไปยังกระทรวงยุติธรรม ผ่านกรมกิจการเด็กและครอบครัว เพื่อตรวจสอบว่าผู้ที่จะทำงานกับเด็กมีประวัติอาชญากรรมทางเพศหรือไม่
 
              โรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็กมีหน้าที่จะต้องทำการสอบถามข้อมูล สำหรับสถานที่อื่น เช่น โรงเรียนกวดวิชาและสโมสรกีฬา จะมีการจัดทำระบบการรับรองเพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบถามตามระบบหรือไม่
 
              ระยะเวลาที่สามารถสอบถามประวัติอาชญากรรมทางเพศได้คือ ๒๐ ปี หลังจากสิ้นสุดโทษจำคุกสำหรับคดีที่มีโทษจำคุกหรือสูงกว่า และ ๑๐ ปี สำหรับคดีที่มีโทษปรับ
 
              นอกจากนี้ ประวัติอาชญากรรมทางเพศที่สามารถสอบถามได้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความผิดทางอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำผิดกฎหมาย เช่น การล่วงละเมิดและการแอบถ่าย โดยเป้าหมายในการบังคับใช้ไม่ใช่แค่ผู้ที่ได้รับการว่าจ้างใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานปัจจุบันด้วย
 
              รัฐบาลยังระบุว่า นายจ้างสามารถย้ายงานลูกจ้างได้ในกรณีที่มีประวัติอาชญากรรม หรือเลิกจ้างหากเป็นกรณีที่ยากต่อการรับรองความปลอดภัย และยังมีนโยบายจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการเมื่อมีการใช้ระบบดังกล่าวอีกด้วย รัฐบาลตั้งใจที่จะเสนอและผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในรัฐสภาชุดปัจจุบัน
 
ความคิดเห็นของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
 
              นายฮายาชิ โยชิมาสะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้กล่าวในการแถลงข่าวหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับเด็กจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจและร่างกายของเหยื่อไปตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยระบบนี้มีความจำเป็นในการปกป้องเด็กจากความรุนแรงทางเพศและรับรองความปลอดภัยของเด็ก ระบบนี้ยังได้รับอนุญาตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ
 
              นอกจากนี้ ยังได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะเดินหน้าดำเนินการอย่างครอบคลุมเพื่อป้องกันการทำร้ายทางเพศต่อเด็ก รวมถึงการสร้างระบบนี้ด้วย
 
ความคิดเห็นของนายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชาแห่งประเทศญี่ปุ่น
 
              ร่างกฎหมาย "DBS ฉบับญี่ปุ่น" ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้กำหนด "ระบบการรับรอง" ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขบางประการ ผู้ประกอบการในภาคเอกชนก็ต้องได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมเช่นกัน และรัฐบาลมีนโยบายที่จะประกาศชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง
 
              ในการนี้ นายอันโด ไดซากุ นายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชาแห่งประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีโรงเรียนกวดวิชาเป็นสมาชิกกว่า ๔๐๐ แห่ง ได้กล่าวว่า เวลารับสมัครงานจะมีข้อจำกัดในการมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัคร จึงรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการในภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมในระบบ DBS ได้ แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มภาระใหม่ แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากก็ยินดีที่สิ่งนี้จะเป็นการดำเนินการที่จำเป็นในการปกป้องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็ก ๆ
 
              ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมระบบนี้ จะต้องบริหารจัดการข้อมูลอย่างเหมาะสมและจะมีการลงโทษในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล โดยรัฐบาลจะประกาศแนวปฏิบัติต่อไปในอนาคต
 
              สำหรับเรื่องนี้ นายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชาได้แสดงความคิดเห็นว่าการดำเนินการส่วนนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่จำเป็นสำหรับการจัดการข้อมูล ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านต้นทุน ซึ่งจะสร้างความไม่สมดุลในสภาพแวดล้อมทางการศึกษาให้กับเด็ก จึงต้องการให้เสียงของผู้ที่ปฏิบัติงานจริงถูกสะท้อนออกมาเมื่อมีการกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการจำนวนมากได้ใช้ระบบดังกล่าวพร้อมกับรับประกันความปลอดภัย
 
              และยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเด็กแล้วโรงเรียนกวดวิชาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หรือกิจการส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นโรงเรียนกวดวิชา ดังนั้นภาคธุรกิจโดยรวมควรสร้างบรรยากาศที่ปกป้องเด็กๆ จากอาชญากรรมทางเพศ สมาคมฯจึงต้องการใช้มาตรการด้านความปลอดภัยของตนเองสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าร่วมในระบบ DBS ได้
 
[1] DBS(Disclosure and Barring Service)เดิมรู้จักกันในชื่อ CRB (Criminal Record Checks) เป็นบริการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมในสหราชอาณาจักร ที่จะช่วยให้นายจ้างตัดสินใจสรรหาบุคลากรได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีรายชื่อบุคคลต้องห้ามสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก และห้ามมิให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ได้รับการควบคุม



ที่มาของข่าว : https://www3.nhk.or.jp/news/html/20240319/k10014395381000.html

 
ผู้แปล : .นางสาวกษมน ฉัตรธรรมพร  นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
กลุ่มงานภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี
ผู้ทาน :  นางณัฏฐ์สุมน สมสมาน  ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี
นางสาวศิรสา  ชลายนานนท์  นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ตรวจ : นางสาวกฤษณี  มาศรีจันทร์  ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ

สำนักภาษาต่างประเทศ  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย