'ค่าสินสอด' ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การแต่งงานในจีนลดลง

ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ข่าวประจำวันที่
   13 สิงหาคม 2567
หมวด สังคม


ค่าครองชีพสูงและความไม่สมดุลทางเพศทำให้ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานแบบเดิมพุ่งสูงขึ้น

          กว่างโจว -- การจ่ายเงินตามประเพณีที่ชายชาวจีนจ่ายให้กับครอบครัวเจ้าสาวในเวลาแต่งงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยมักจะสูงถึง ๑๔๐,๐๐๐ หยวน (ประมาณ ๑๙,๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๖๗๓,๘๑๘ บาท - อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗) แนวโน้มนี้อาจเร่งให้การแต่งงานในหมู่คนหนุ่มสาวในจีนที่กังวลเกี่ยวกับอนาคตของตนลดน้อยลง
 
          ในไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา การจดทะเบียนสมรสในจีนลดลงร้อยละ ๑๘ กล่าวคือ เหลือเพียง ๑.๔๖ ล้านราย ซึ่งสถิติดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเป็นอันดับสองนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ รองจากสถิติ ๑.๓๙ ล้านรายในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมในปี ๒๕๖๕ ในช่วงระหว่างการระบาดของไวรัสโคโรนา
 
          “ค่าสินสอด” ที่แสนแพงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวจีนไม่อยากแต่งงาน ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์กง เว่ยกัง แห่งมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น พบว่า ปัจจุบันค่าสินสอดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ หยวน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ค่าสินสอดเฉลี่ยเคยอยู่ที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ หยวน จนถึงปี ๒๕๕๐ จากนั้นได้เริ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา
 
          ค่าครองชีพของครอบครัวในชนบทเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านในเมือง ซึ่งบางครั้งซื้อเพื่อให้ลูก ๆ ของพวกเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนในเมือง จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานสูงขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยังสืบเนื่องมาจากความต้องการลูกชายในจีนทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเพศ
 
          จำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นในภาคตะวันออกของจีน โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมณฑลฝูเจี้ยน และเจียงซี พื้นที่เหล่านี้มีค่าครองชีพสูงและประสบปัญหาความไม่สมดุลทางเพศมาเป็นเวลานาน
 
          ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน มีผู้เข้าร่วมงานตลาดการแต่งงาน ณ สวนสาธารณะเทียนเหอในเมืองกว่างโจวทางตอนใต้ มากกว่า ๑๐๐ คน บรรดาผู้ปกครองนำแผ่นกระดาษที่ระบุอายุ ส่วนสูง ประวัติการศึกษา บุคลิกภาพ อาชีพ และคุณสมบัติอื่น ๆ รวมทั้งสิ่งที่ลูก ๆ มองหาในตัวคู่ครองในอนาคตของพวกเขามาแสดง
 
          “ถ้าลูกชายของฉันรักคู่รักของเขาจริง ๆ เราคงต้องจ่ายเงินสินสอดแพงมาก” แม่ของชายวัย ๔๐ ปีกล่าวในงานดังกล่าวชายวัย ๓๐ ปี ซึ่งเข้าร่วมงานพร้อมเพื่อนเพื่อมองหาคู่ครองของตนเอง เขากล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันให้ซื้อบ้านให้คู่ครองอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าสินสอดแพงเกินไป ผมก็จะเลือกที่จะไม่แต่งงาน”
 
          ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สื่อจีนฉบับหนึ่งรายงานว่า อาสาสมัครในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ได้ไปเยี่ยมบ้านของชายและหญิงโสด เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาหยุดประเพณีการให้สินสอดที่มีราคาแพง เพื่อเป็นการส่งเสริมประเพณีการแต่งงานแบบ “สมัยใหม่”
 
          เมื่อเดือนธันวาคม ศาลฎีกาของจีนได้ประกาศการตีความทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องสินสอดทองหมั้นว่า หากคู่รักคู่ใดใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเพียงช่วงสั้น ๆ หลังจากแต่งงาน ศาลอาจสนับสนุนการคืนเงินค่าสินสอดที่มีจำนวนสูงเกินไป ทั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่าคู่แต่งงานดังกล่าวมีลูกด้วยกันหรือไม่ หากคู่รักคู่ใดใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเป็นเวลานานและมีลูก ศาลมักจะไม่สนับสนุนการคืนเงินค่าสินสอดดังกล่าว
 
          ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลได้ชี้แจงรายละเอียดว่า สินสอดทองหมั้นคืออะไร และหลักการในการคืนสินสอดทองหมั้นคืออะไร ทั้งนี้ ของขวัญวันเกิด และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่นับรวมอยู่ในรายการชำระเงินคืน
 
          ศาลยังกล่าวอีกว่า พ่อแม่สามารถเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมในคดีเกี่ยวกับสินสอดได้ เนื่องจากพ่อแม่มักมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมการแต่งงานให้กับลูก ๆ ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมผ่านงานต่าง ๆ ดังเช่น การปิดประกาศหาคู่ให้ลูกในตลาดการแต่งงานในเมืองกว่างโจว เป็นต้น

ที่มาของข่าว : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Society/China-s-soaring-bride-prices-in-focusasmarriagesdecline#:~:text=Expensive%20%22bride%20prices%22%20may%20be, began%20rising%20sharply%20in%202008
 
ผู้แปล นางอุมาพร เพ็ชรเลิศจำรัส นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นายกิตติ เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ นางสาวกฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ 

สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร


เจ้าภาพการประชุม

● สมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลกครั้งที่ 9

○ ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรการประชุม
○ ข้อมูลการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพลูกเสือรัฐสภาโลก ครั้งที่ผ่านมา
○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

● การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30

○ ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
○ ข้อมูลการประชุมประจำปี APPF ครั้งล่าสุด 5 ปี

○ ข้อมูลการเตรียมการเป็นเจ้าภาพของรัฐสภาไทยในการจัดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30


○ ข้อมูลการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30

● คณะกรรมาธิการว่าด้วยสังคมและวัฒนธรรมของสมัชชารัฐสภาเอเชีย

○ ภูมิหลังสมัชชารัฐสภาอาเซียน
○ ข้อมูลประเทศไทย
○ กฎบัตรและข้อบังคับการประชุม APA
○ คณะกรรมการเตรียมการประชุมฯ APA
○ ภาพกิจกรรมของคณะผู้แทนไทย