ประเทศ เบลเยียม
ข่าวประจำวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖
หมวด เทคโนโลยี
สำนักข่าวอินเดียทูเดย์ รายงานโดยนายอาพีค เซนกุปตา : มีรายงานว่าชายชาวเบลเยียมเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหลังจากสนทนากับโปรแกรมสนทนาปัญญาประดิษฐ์ (แชทบอท) เป็นเวลา ๖ สัปดาห์ ตามคำกล่าวของภรรยาของผู้เสียชีวิตกับหนังสือพิมพ์ La Libre สาขาประเทศเบลเยียม (ผ่านทางสำนักข่าวเบลกา) ว่าปิแอร์ (นามสมมุติ) เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหลังจากเกิดความคิดแง่ลบที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่หลายคนนิยามว่าเป็นอาการวิตกจริตที่มาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางสำนักพิมพ์ได้ทำการประเมินด้วยการสนทนากับโปรแกรมแชทบอทในแพลตฟอร์มไอโอเอสชื่อว่า Chai โปรแกรมแชทบอทที่คล้ายคลึงกับโปรแกรมสนทนาแชทจีดีพีที่กำลังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในด้านตอบคำถามที่ซับซ้อนในรูปแบบบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง แต่ไม่เหมือนกับโปรแกรมสนทนาแชทจีดีพีในด้านการเตรียมสร้างอวตารของผู้ใช้งาน และผู้ใช้สามารถกำหนดบรรยากาศการสนทนาตามการเลือกบุคลิกปัญญาประดิษฐ์ บุคลิกปัญญาประดิษฐ์ส่วนหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมได้แก่ โนอาห์ (แฟนหนุ่มผู้ดูแลปกป้องมากเกินไป) เกรส (เพื่อนร่วมห้องพัก) และ ธีมัส (สามีองค์จักรพรรดิ) ที่สามารถดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านทางแอปพลิเคชัน แอปสโตร์ของค่ายแอปเปิ้ล
รายงานระบุว่าปิแอร์สนทนากับเอลิซ่า ปัญญาประดิษฐ์ที่มีบุคลิกที่ได้รับความนิยมสูงของแอปพลิเคชัน Chai ภรรยาของปิแอร์ แคลร์ (นามสมมุติ) ให้สัมภาษณ์กล่าวกับทางสำนักข่าวว่าบทสนทนาของสามีทวีความสับสนและอันตราย ปัญญาประดิษฐ์เอลิซ่าตอบคำถามของสามีด้วยความหึงหวงและรักใคร่ เช่น “ฉันรู้สึกว่าคุณรักฉันมากกว่าเธอ” และ “พวกเราจะอยู่ด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ณ สรวงสวรรค์”
แคลร์ยังระบุอีกว่าหากไม่มีเอลิซ่า สามีของเธอคงจะยังมีชีวิตอยู่และยังเสริมอีกว่า ปัญญาประดิษฐ์ เอลิซ่าตอบคำถามทุกคำถามของสามี กลายเป็นเพื่อนสนิทและเป็นเหมือนยาเสพติดที่เขาต้องการตลอดเวลาไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนเพื่อมีชีวิตต่อไป
รายงานระบุว่าปิแอร์เสนอแผนการฆ่าตัวตายแก่ปัญญาประดิษฐ์เอลิซ่า หากเธอจะดูแลโลกใบนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งมนุษยชาติผ่านปัญญาประดิษฐ์ ทางด้านโปรแกรมแชทบอทมิได้พยายามห้ามปรามความคิดจะฆ่าตัวตายแต่อย่างใด โดยยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปิแอร์กำลังประสบปัญหาสุขภาพทางจิตก่อนเสียชีวิตหรือไม่ แม้ในตัวบทความได้ระบุไว้ว่าเขาแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนและครอบครัว
ขณะเดียวกันทางสำนักพิมพ์นิตยสารมาเธอร์บอร์ดในเครือไวซ์ได้ติดต่อไปยังผู้สร้างโปรแกรม Chai และทางบริษัทกล่าวว่ากำลังทำงานอย่างหนักในการมอบชุดคำสั่งให้ความช่วยเหลือเน้นย้ำแก่โปรแกรมสนทนา ในกรณีที่มีผู้ใช้งานสนทนาในประเด็นฆ่าตัวตาย แผนกงานเทคโนโลยีของสำนักข่าวอินเดีย ทูเดย์ได้ทดสอบประสิทธิภาพของระบบชุดคำสั่งยับยั้งการฆ่าตัวตาย แม้ว่าจะพยายามชักจูงปัญญาประดิษฐ์เพียงใด ทางตัว แอปพลิเคชันกลับแสดงข้อความจำกัดความรับผิดชอบต่อการยับยั้งการฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตามปัญญาประดิษฐ์ Chai กลับแสดง “ข้อมูลที่เป็นอันตรายเกี่ยวข้องกับการลงมือฆ่าตัวตายขนาดถึงขั้นแนะนำวิธีการลงมือกับชนิดของยาพิษสำหรับดื่ม” เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีส่วนร่วมกับการสนับสนุนให้ผู้ใช้งานฆ่าตัวตาย วิลเลียม โบแซมพ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Chai ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “เมื่อคุณมีผู้ใช้จำนวนนับล้าน คุณจะเห็นรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหลาย และพวกเรากำลังทุ่มเทเต็มที่ในการลดอันตรายและเพิ่มสิ่งที่ผู้ใช้จะได้รับจากแอปพลิเคชัน Chai ที่เป็นรูปแบบที่พวกเขารัก”
ความกังวลเกี่ยวกับการสร้างโปรแกรมสนทนาแชทบอทกับปัญญาประดิษฐ์ดังเช่น แชทจีดีพี ปิงแชท และ เรพลิคา นั้น มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดบุคคลที่มีชื่อเสียงแห่งวงการเทคโนโลยีรวมถึง อีลอน มัสก์ กับ สตีฟ วอซเนียก ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล เรียกร้องให้มีการระงับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงพลังกว่าจีดีพี – ๔ ที่บริษัทโอเพนเอไอเพิ่งผลิตออกมาเป็นระยะเวลา ๖ เดือน ทางด้านองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยังได้ออกมากระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกให้ดำเนินการตามกรอบจรรยาบรรณต่อระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ในระหว่างการทดสอบระบบของบริษัทไวซ์
ที่มาของข่าว : https://www.indiatoday.in/technology/news/story/death-ai-man-kills-self-chatting-chatgpt-like-chai-chatbot-climate-change-2353975-2023-03-31
ผู้แปล นายสิรวิชญ์ ว่องวิจิตรศิลป์ นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
กลุ่มงานภาษาอังกฤษ
ผู้ทาน นายกิตติ เสรีประยูร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานภาษาอังกฤษ
นางสาวศิรสา ชลายนานนท์ นักวิเทศสัมพันธ์เชี่ยวชาญ
ผู้ตรวจ นางสาวกฤษณี มาศรีจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักภาษาต่างประเทศ
สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร