ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2561 ณ โรงแรม Fairmont กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย พลเอก ศุภกร สงวนชาติศรไกร และนายวิทวัส บุญญสถิตย์ เข้าร่วมการเสวนาว่าด้วย “สมาชิกรัฐสภาผู้ให้การสนับสนุน ‘การปฏิวัติเงียบ’ เพื่อธรรมาภิบาลด้านการกำกับดูแลที่ดียิ่งขึ้น” (Dialogue on “Parliamentarians supporting the ‘quiet revolution’ for better regulatory governance”) ซึ่งสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures – NTMs) อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers – NTBs) และแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ (Good Regulatory Practice – GRP) พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้มีโอกาสอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของตนในเรื่องดังกล่าว
วันที่ 19 เมษายน 2561 ช่วงเช้า ณ โรงแรม Fairmont กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย พลเอก ศุภกร สงวนชาติศรไกร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฯ พร้อมด้วยนายวิทวัส บุญญสถิตย์ เข้าร่วมการเสวนาว่าด้วย “สมาชิกรัฐสภาผู้ให้การสนับสนุน ‘การปฏิวัติเงียบ’ เพื่อธรรมาภิบาลด้านการกำกับดูแลที่ดียิ่งขึ้น” ในวาระมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) และอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) โดยได้ร่วมกล่าวอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญของคำกล่าวอภิปราย คือ การออกแบบมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางอย่างมากและจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ บทบาทของสมาชิกรัฐสภาจึงมีค่อนข้างจำกัด ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าจำนวนมากอยู่ในรูปของกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และประกาศกรม สมาชิกรัฐสภาเพียงแต่ออกกฎหมายแม่บท (Primary legislation) ซึ่งวางโครงสร้างกรอบการทำงานในระดับกว้างเท่านั้น นอกจากนี้
ในโอกาสดังกล่าว หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังได้กล่าวถึงการพิจารณาให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เป็นกรณีตัวอย่างของบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้วย เนื่องจากสาระสำคัญประการหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าวคือการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถเสนอเรื่องการปรับปรุง ทดแทน หรือยกเลิกมาตรการในการพิจารณาอนุญาตบางประการ ในกรณีที่เห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เข้าร่วมการเสวนาในวาระว่าด้วยประสบการณ์ของภาคธุรกิจกับบทบาทของอาเซียนและรัฐบาลในการจัดการกับประเด็นด้านกฎระเบียบและวาระว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบและการลดภาระด้านกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น โดยหัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กล่าวแลกเปลี่ยนต่อเวทีการเสวนาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยซึ่งเอื้อต่อความโปร่งใสด้านกฎระเบียบทางการค้า ซึ่งได้หยิบยกกรณีการจัดทำคลังข้อมูลทางการค้าระดับชาติ (National Trade Repository) ของไทย ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทาง
www.thailandntr.com และมีการเผยแพร่เป็นภาษาทางการของอาเซียน (ภาษาอังกฤษ) พร้อมนี้ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า AIPA และ ERIA สามารถช่วยผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจาอื่นๆ จัดทำฐานข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้และอยู่ในภาษาอังกฤษ อันเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้