เลขที่ |
59 |
หมวดหมู่ |
เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน@ |
ประเภท |
ความตกลง |
ชื่อภาษาไทย |
ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน |
ชื่อภาษาอังกฤษ |
ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) |
สถานที่ลงนาม |
อำเภอชะอำ ประเทศไทย |
วันที่ลงนาม / วันที่ได้รับการลงมติยอมรับ |
26 กุมภาพันธ์ 2552 |
สถานะการให้สัตยาบัน |
ไทยได้ส่งมอบสัตยาบันสารไปยังเลขาธิการอาเซียนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 |
การเริ่มมีผลบังคับใช้ |
มาตรา 48(1)
ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่รัฐสมาชิกทั้งหมดได้แจ้ง หรือหากจำเป็น ส่งมอบสัตยาบันสารต่อเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะต้องไม่ใช้เวลาเกินกำหนด 180 วันนับจากวันที่ได้มีการลงนามในความตกลงนี้ |
สถานะการมีผลบังคับใช้ |
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555 |
สาระสำคัญ |
ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA) เป็นการปรับปรุงและผนวกหลักการของความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area หรือ AIA) ซึ่งเป็นความตกลงเปิดเสรีการลงทุนที่มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2541 เข้ากับความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนอาเซียน (Agreement on Promotion and Protection of Investments หรือ ASEAN IGA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2530 เพื่อให้เป็นความตกลงเต็มรูปแบบฉบับเดียวที่มีความทันสมัยและความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์การลงทุนในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างสภาพการลงทุนในอาเซียนให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนทุกกลุ่ม
ความตกลง ACIA ครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก คือ การเปิดเสรีการลงทุน การส่งเสริม การอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามาลงทุนทั้งการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment หรือ FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio) โดยขอบเขตของการเปิดเสรีครอบคลุมธุรกิจ 5 ภาคและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และภาคการผลิต
พันธกรณีสำคัญ ACIA ได้แก่ การปฏิบัติต่อนักลงทุนและการลงทุนอย่างเป็นธรรม ด้วยหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favored-nation Treatment) การห้ามกำหนดเงื่อนไขการลงทุน (Prohibition of Performance Requirements – มาตรา 7) เงื่อนไขการดำรงตำแหน่งบริหารอาวุโส และคณะกรรมการ (Senior Management and Board of Directors - มาตรา 8) ซึ่งห้ามมิให้รัฐสมาชิกกำหนดเงื่อนไขให้นิติบุคคลของรัฐสมาชิกนั้นแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสจากบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติใดเป็นการเฉพาะ การขยายขอบเขตความตกลงให้ทั้งนักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนและต้องการขยายการลงทุนในอีกประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นต่างได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลง ACIA
สำหรับในด้านการคุ้มครองการลงทุน ACIA ยังคงไว้ซึ่งกลไกการคุ้มครองการลงทุนที่มีอยู่เดิมภายใต้ ASEAN IGA แต่มีการปรับปรุงรายละเอียดในบทบัญญัตติต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ โปร่งใส ชัดเจนในขั้นตอนและรายละเอียดมากขึ้น ทั้งการชดเชยในกรณีฉุกเฉิน (เช่นเวลาเกิดความขัดแย้งภายในประเทศ การจลาจล เป็นต้น) การชดเชยในกรณีที่มีการเวนคืนหรือโอนกิจการมาเป็นของรัฐ รวมถึงการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน
ทั้งนี้ รัฐสมาชิกสามารถสงวนสาขาการลงทุนที่รัฐนั้นยังไม่พร้อมเปิดเสรี รวมทั้งออกมาตรการที่เป็นเงื่อนไขในการลงทุนต่างๆได้ตามความสมัครใจ โดยให้ระบุไว้ในรายการข้อสงวน ซึ่งมีกำหนดให้รัฐสมาชิกส่งรายการข้อสงวนภายใน 6 เดือนหลังมีการลงนามในความตกลง |
กฏหมายที่เกี่ยวข้อง |
|