๑. การค้าการลงทุน ปัญหาเศรษฐกิจ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของเวียดนาม
คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรองประธานกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาประชาชนแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
(นายเหงียน วัน ฟุก) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสิบคณะกรรมาธิการทั้งหมดของสภาประชาชน โดยแต่ละคณะกรรมาธิการจะมีจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ๓๖ คน โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจมีภารกิจสำคัญ
ในการตรวจสอบแผนงานในแต่ละปีทั้งเรื่องนโยบาย โครงการด้านเศรษฐกิจ ติดตามตรวจสอบการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล การบังคับใช้กฎหมายและการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ
การลงทุน และการธนาคาร ทำให้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของเวียดนามมีภารกิจค่อนข้างกว้าง และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้สังกัดของทั้งสิบกระทรวง
รัฐธรรมนูญของเวียดนามฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศได้ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้นที่อนุญาตเฉพาะ
นักลงทุนภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งทำให้มีนักลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของนักลงทุนทั้งหมด โดยนักลงทุนส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนภาคอุตสาหกรรม เช่น การทอผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้า การผลิตรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ในภาคการเกษตรนักลงทุน
เข้าไปลงทุนเกี่ยวกับการผลิตยางพาราและกาแฟ ปัจจุบันเวียดนามมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณสูงถึงร้อยละ ๔๒ ของเงินงบประมาณทั้งหมด เพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตประมาณร้อยละ ๗.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงการออกนโยบายทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือคนจน โดยมีการกำหนดนโยบายเรียนฟรีสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า ๖ ปี และนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร นโยบายประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน และนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ขณะที่ความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามมีการประสานความร่วมมือกันในระดับอาเซียน
โดยในอนาคตทั้งสองฝ่ายควรจะมีความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน และการส่งออกข้าวให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิดอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งสองประเทศมากขึ้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. ทั้งสองประเทศควรมีความร่วมมือกันในด้านการค้า การลงทุนและการส่งออกข้าวโดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานมากที่สุด
๒. ควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับทวิภาคี โดยอาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดจนรูปแบบการดำเนินงานในการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนาม
๒. การส่งออกข้าวของเวียดนาม
คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับประธานคณะกรรมการสภาประชาชนแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เวียดนามและไทยมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรรม โดยมีข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ซึ่งถ้าเวียดนามและไทยประสานความร่วมมือกันในการส่งออกข้าวก็น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการช่วยกันพัฒนาทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพในการส่งออกข้าวในอนาคต
ปัจจุบันราคาข้าวสารและข้าวเปลือกภายในเวียดนามมีมูลค่าลดลง เนื่องจากปริมาณข้าวสารและข้าวเปลือกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวตามฤดูกาลมีปริมาณมากส่งผลให้ราคาข้าว
ในประเทศลดลงตามกลไกตลาด นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินเฟ้อ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามลดลง
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมให้มีการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีการปรับข้อบังคับในการส่งออกข้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยยกเลิกการกำหนดราคาข้าวขั้นต่ำในช่วงไตรมาส ๓ ของปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๕๒ และอนุมัติให้ผู้ส่งออกข้าวสามารถกู้เงินไปซื้อข้าวเปลือกได้ เพราะปริมาณความต้องการข้าวจากต่างประเทศ
ลดน้อยลง ทำให้ราคาส่งออกข้าวลดลง แต่ปริมาณการสต๊อกข้าวมีจำนวนสูงขึ้นตามลำดับ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งชาติเวียดนามสามารถอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ส่งออกข้าวเพื่อใช้ในการรับซื้อข้าวเพื่อการส่งออกได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวก็ตาม ซึ่งทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวเปลือกได้มากถึง ๔ ล้านตัน โดยธนาคารฯ ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมร้อยละ ๑๙.๙ ต่อปี จากเดิม
ร้อยละ ๒๑ ต่อปี ซึ่งหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงเหลือร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนประสานความร่วมมือในเรื่องธุรกิจการส่งออกข้าวโดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบของทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในเรื่องราคาและมาตรฐานข้าว
ในตลาดส่งออก
๒. ถ้ามีการประสานความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศน่าจะทำให้นักลงทุนไทยสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
๓. การบริหารจัดการระบบการผลิตและจำหน่ายข้าวของเวียดนาม
คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับผู้บริหารของบริษัท Vinafood สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
บริษัท Vinafood จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าประเภทเกษตรกรรมและธุรกิจการส่งออก โดยมีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีสำนักงาน ๒ สาขา ที่อยู่ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ และเป็นสมาชิกที่ขึ้นตรงกับสมาคมข้าวของเวียดนาม (Vietnam Food Association : VFA) มีภารกิจหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ ผลักดันและส่งออกข้าวไปสู่ตลาดในต่างประเทศเพื่อหา
ช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าให้ได้ปริมาณและมีคุณภาพมากที่สุด
เวียดนามมีอุปสรรคในเรื่องของภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบการด้านเกษตรกรรมและผลผลิตทางด้านการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพและยังเกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร
เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บริษัทจึงได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โดยจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือต่อเกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้ทัน รวมถึงบริษัทได้กำหนดนโยบายในการผลิตข้าวโดยได้มีการจัดสรรเป็น ๒ ส่วน คือ ข้าวที่ผลิตเพื่อจำหน่ายและข้าวที่ผลิตเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยและภัยธรรมชาติ รัฐบาลเวียดนามจะเป็นผู้ควบคุมราคาข้าว
โดยการกำหนดราคาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและพ่อค้าได้ทราบเงื่อนไขราคาตลอดจนคุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนด โดยรัฐบาลจะกำหนดราคาข้าวจากการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ คุณภาพข้าวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทำให้ราคาข้าวในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ รัฐบาลถือว่าอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ จึงได้กำหนดนโยบายให้ชาวนา
ได้รับกำไรจากการขายข้าวไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ โดยชาวนาสามารถทำนาได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดินส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่น อีกทั้งเวียดนามยังสามารถผลิตปุ๋ยได้เองประมาณร้อยละ ๗๐ ของความต้องการภายในประเทศทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตของเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการผลิตข้าวนอกจากเรื่องภัยธรรมชาติก็คือปัญหาการเก็บรักษาสินค้า ส่งผลให้ปริมาณและยอดการจำหน่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งบริษัทมีความเห็นว่าถ้ามีการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนามกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ (กรมส่งเสริมการส่งออก) ของไทย ก็น่าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกันจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก โดยส่งออกปีละ ๔ - ๕ ล้านตัน ซึ่งข้าวที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ๒๕% รองลงมาเป็นข้าวขาว ๕% ข้าวขาว ๑๕% และข้าวเหนียว โดยมีตลาด
ส่งออกที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กาน่า ไอเวอรี่โคสต์ เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. ไทยและเวียดนามควรมีการประสานผ่านความร่วมมือในระดับทวิภาคีซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องการส่งออกข้าวเกิดความรวดเร็วกว่าการประสานผ่านความร่วมมือทางอาเซียน
๒. ทั้งสองประเทศควรร่วมมือระหว่างกันในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกให้ได้ราคามาตรฐาน เพราะทั้งไทยและเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
คำค้น เวียดนาม, การพัฒนาเศรษฐกิจ, การส่งออกข้าวเวียดนาม, เศรษฐกิจเวียดนาม
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|