๑. นโยบายการทำงาน และความก้าวหน้าของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในการศึกษาดูงานนโยบายการทำงานและความก้าวหน้าของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ได้รับฟังบรรยายสรุปและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สรุปสาระได้ดังนี้
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ (ค.ศ. ๑๙๖๗) ประกอบด้วยสมาชิก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ในการรวมตัวกันของทั้ง ๑๐ ประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน ได้มีการรับรองกฎบัตรอาเซียน ทำให้อาเซียน
เปลี่ยนสภาพจากการรวมตัวในกรอบความร่วมมืออย่างหลวม ๆ ในลักษณะของสมาคมมาเป็นองค์การระหว่างประเทศและมีสถานะทางกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ การตัดสินใจของอาเซียนใช้หลักการฉันทามติภายใต้
การทำงานร่วมกันของอาเซียนเพื่อเป้าหมายมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community- AC) ใน พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ซึ่งประกอบด้วย ๓ เสาหลัก คือ
๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)
๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
ในการดำเนินการของแต่ละเสาหลักมีแผนงาน (Blueprint) ได้แก่ ๑) เสาหลักด้านการเมือง มีเป้าหมายในการส่งเสริม สร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคง ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน
๒) เสาหลักด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิตร่วมกันทำให้เกิด การเคลื่อนย้ายเงินทุน สินค้า การบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือ ระหว่างประเทศสมาชิก
โดยเสรี และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ๓) เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากร
อาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน และความไว้เนื้อเชื่อใจกันในหมู่สมาชิก
ในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนไม่ได้พิจารณาเฉพาะ ๓ เสาหลักเท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินการเสริมสร้างความเท่าเทียมกัน การลดช่องว่างในความแตกต่าง การให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่สมาชิก
๔ ประเทศที่เข้ามาภายหลัง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยเน้นทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะ SME ที่มีความสำคัญต่อทุกประเทศ เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจลื่นไหล และเมื่อรวมตัวกันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำการค้ากับประเทศต่าง ๆ โดยการจัดอันดับขนาดเศรษฐกิจของโลกที่น่าสนใจคือ อันดับหนึ่ง ได้แก่ สหภาพยุโรป รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ส่วนอาเซียน
จะอยู่ในอันดับที่ ๕ ซึ่งการรวมตัวกันจะทำให้ GDP และรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้น การบริการเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย
สำหรับสถานการณ์ด้านการค้าของอาเซียนกับคู่ค้ามีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๖ – พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีคู่ค้าที่สำคัญคือ จีน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย ทั้งนี้ การค้าระหว่างอาเซียนจะมีแนวคิดและข้อตกลงร่วมกัน โดยคู่เจรจาที่สำคัญ คือ ASEAN+3, ASEM, APEC, ARF และ EAS การรวมตัวของอาเซียนเป็นการรวมตัวทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่วน ASEAN+3 เน้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาเซียนค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะบางประเทศเป็นสมาชิก APEC และ ASEM ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีสินค้าสำคัญคือก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งสามารถส่งออกไปที่อื่นได้ ทั้งนี้ ในระยะแรกกระทรวงการต่างประเทศหรือภาคราชการได้เน้นการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นหลัก ความจริงแล้วภาคเอกชนจะต้องเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ดังนั้น รัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ไทยจะได้หรือเสียในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นขึ้นอยู่กับกติกาที่ตกลงกัน และขึ้นอยู่กับประเทศที่เข้ามารวมตัวกันเป็นหลักด้วย
ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทยอาจส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมอย่างดีของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในภาคเอกชนที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างขีดความสามารถ เช่น เร่งพัฒนาสินค้า เร่งใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิต และพัฒนาในด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของไทย ส่วนภาครัฐก็ควรทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
จากรายงานสรุปผลการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พบว่าการศึกษาดูงานทำให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการ ดังนี้
๑. การดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) นับเป็นสิ่งสำคัญซึ่งประเทศสมาชิกต้องตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การพิจารณาความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในประเทศกับการดำเนินงานตามพันธกรณีในภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้า ตลอดจนลดช่องว่างต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกให้มีความสมดุลระหว่างกัน
๒. แม้ว่าไทยจะมีจุดแข็งในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีรากฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรกรรมหลายรายการ แต่อาจส่งผลกระทบต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและ
การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยได้ เพราะแรงงานเป็นประเด็นสำคัญสำหรับทุกภาคส่วน กล่าวคือแรงงานยังขาดทักษะและความสามารถการใช้เทคโนโลยีจะต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่จะเพิ่มสูงขึ้น
๓. คณะกรรมาธิการมีข้อห่วงใยในการรวมตัวกันเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของแต่ละประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความก้าวหน้าไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน
มีความแตกต่างกันมาก จึงควรมีมาตรการลดช่องว่างความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังเป็นเป้าหมายที่ท้าทายของอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องมี
แนวทางการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพที่ต้องการความตั้งใจจริงของทุกประเทศร่วมกัน
๒. ความมั่นคงในอาเจะห์ การแก้ไขปัญหาและการดูแลพื้นที่ในอาเจะห์
ในการศึกษาดูงานความมั่นคงในอาเจะห์ การแก้ไขปัญหาและการดูแลพื้นที่ในอาเจะห์ ณ สำนักงานเลขาธิการประธานาธิบดี ได้รับฟังบรรยายสรุปและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปได้ ดังนี้
แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์สุมาตราหรือขบวนการณ์อาเจะห์เสรี (Free Aceh Movement; Gerakan Aceh Merdeka :GAM) เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกร้องเอกราชในบริเวณอาเจะห์ที่อยู่ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย การต่อสู้ด้วยความรุนแรงขององค์กรยุติลงหลังการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อปี ๒๕๔๘ ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกกลุ่มนี้ว่า “ขบวนการก่อกวนความปลอดภัยในอาเจะห์ (Aceh Security Disturbance Movement)”
ปัญหาความไม่สงบในอาเจะห์เกิดจากมีความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก แต่เดิมนั้นฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการใช้กำลังทหาร ตำรวจในการแก้ไขปัญหาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในช่วงรัฐบาลทหารซูฮาร์โต เป็นตาบูหรือข้อห้ามไม่ยอมให้ใช้วิธีการเจรจาหรือวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม การใช้อาวุธดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเดียวไม่ได้และยังทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น จากการใช้ปฏิบัติการทางทหารมากเกินไปทำให้ขบวนการณ์อาเจะห์เสรี (GAM) ยิ่งเติบใหญ่มากขึ้น และนำมาสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จนประชาชนได้เข้าร่วมกับ GAM เพื่อต่อต้านรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นยุคการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต และเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ายุคแห่งการปฏิรูป หรือการมีประชาธิปไตยมากขึ้นทำให้นโยบายของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดย GAM ยอมรับการเจรจาในการแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในอาเจะห์ ทั้งนี้ การเจรจาได้ดำเนินการไปจนนำไปสู่การเจรจาหารือในลักษณะที่เรียกว่า “การพูดจาหารือเชิงมนุษยธรรม” และในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นโดยวางรูปแบบ มีการตกลงเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงอำนาจในการปกครองตนเองบางส่วนในบางระดับที่รัฐบาลกลางจะอนุญาตให้
อาเจะห์สามารถมีอำนาจปกครองตนเองบางส่วนได้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาก็ไม่ได้เป็นไปด้วยความราบรื่น ข้อเสนอในการให้ปกครองตนเองบางส่วนและรูปแบบการปกครองพิเศษนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เกิดเหตุการณ์มหาภัยพิบัติสึนามิ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในอาเจะห์โดยเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทำให้ผู้นำทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่าย GAM หันมาเจราจากันอีกรอบ โดยในครั้งนั้นมีอดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์คือ มาร์ตติ โอยวา กาเลวิ อะห์ติซาริ เป็นคนกลางประสานและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ จนนำไปสู่ข้อตกลง Helsinki Accord ได้สำเร็จ จากนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินนโยบายได้แก่ ๑) ให้อำนาจการปกครองตนเองแบบพิเศษในอาเจะห์ ๒) ให้อำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณ เนื่องจากปัญหาเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในอาเจะห์
ที่มีรายได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติ และได้นำเงินส่งให้รัฐบาลกลาง แต่ภาษียังคงบริหารโดยรัฐบาลท้องถิ่นร้อยละ ๗๐ และ ๓) การยินยอมให้อาเจะห์คงอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และกฎหมายชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลามไว้ รวมถึงอนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
จากรายงานสรุปผลการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พบว่าการศึกษาดูงานความมั่นคงในอาเจะห์ การแก้ไขปัญหาและการดูแลพื้นที่
ในอาเจะห์ ทำให้เห็นว่าการปกครองเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน การเจรจาสันติภาพจะประสบความสำเร็จอยู่ที่บริบททางการเมืองและการเจรจากับผู้แทนผู้ก่อเหตุการณ์รุนแรงที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การเจรจาสันติภาพมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สันติภาพและสันติไม่ได้เกิดขึ้นจากการเจรจาเพียงครั้งเดียว แต่ต้องอาศัยความพยายามของ
แต่ละฝ่ายในการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบและเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง พร้อมนี้ประชาชนในพื้นที่จะต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่และรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
๓. การบริหารจัดการท้องถิ่นเมืองบาหลี
ในการศึกษาดูงานการบริหารจัดการท้องถิ่นเมืองบาหลี ณ ท้องถิ่นเมืองบาหลี ได้รับฟังบรรยายสรุปและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ทั้งด้านการปกครอง การบริหารจัดการ การเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งลงพื้นที่ศึกษาดูงานเมืองบาหลี สรุปสาระได้ดังนี้
๓.๑ จังหวัดบาหลีเป็น ๑ ใน ๓๓ จังหวัดของอินโดนีเซีย มีพื้นที่ทั้งหมด ๕,๖๓๔.๔๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งสิ้น ๓,๔๒๒,๖๐๐ คน ภาษาที่ใช้คือ ภาษาอินโดนีเซียและภาษาบาหลี
๓.๒ การพัฒนาท้องถิ่นเมืองบาหลี ผู้บริหารส่วนกลางจะกระจายอำนาจตรงไปยังท้องถิ่นในการบริหารพื้นที่ ผู้บริหารเมืองบาหลีคือ ผู้ว่าราชการเมืองบาหลีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ในการกำกับเมืองบาหลีนั้น เมืองบาหลีไม่มีอำนาจพิเศษ รัฐบาลกลางเป็นผู้ดูแลพื้นที่
๓.๓ เศรษฐกิจของเมืองบาหลี ประกอบด้วย ๓ ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว ด้านเกษตรกรรม และด้านอุตสาหกรรม โดยด้านการท่องเที่ยวมีองค์กรท่องเที่ยวบาหลี ๙ สมาคม ซึ่งเป็นของเอกชนและอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่น ทั้งนี้ รายได้หลักของบาหลีขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวและงานฝีมือ ส่วนการสนับสนุนจากส่วนกลางที่จะได้รับขึ้นอยู่กับโครงการขององค์กรปกครองท้องถิ่นส่งไปยังรัฐบาลกลาง ขณะเดียวกัน บาหลีส่งรายได้ให้ส่วนกลางร้อยละ ๕๐ คิดเป็น ๓.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ และภาษีสนามบินได้ส่งให้รัฐบาลกลางทั้งหมด
๓.๔ ในด้านกฎหมาย นอกจากจะปฏิบัติตามนโยบายของประเทศแล้ว ยังมีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายท้องถิ่นอีกด้วยเนื่องจากเป็นวัฒนธรรมของตนเอง
๓.๕ ในด้านสังคม วัฒนธรรมและความเชื่อ ชาวบาหลีมีความเชื่อว่าทำอะไรจะได้อย่างนั้น กล่าวคือ ทำดีได้ดี เป็นความเชื่อและเป็นกฎหมายปกครองบาหลี และชาวบาหลียังมีความเชื่อในเรื่องสันติภาพ ความสงบ และการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
๓.๖ ในด้านการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยพื้นที่ต่าง ๆ โดยรอบเมืองบาหลี พบว่า ตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของท้องถิ่น โดยปกติแล้วไม่ค่อยพบเห็นตำรวจจราจรบนท้องถนน เนื่องจากไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ ชาวบาหลีจะได้รับการปลูกฝังเรื่องวินัยจราจรตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ให้เคารพในกฎหมาย นอกจากนี้ บาหลีจะพึ่งพาผู้นำทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อคนในท้องถิ่น หากประชาชนมีข้อมูลใดสามารถแจ้งกับผู้นำได้โดยตรง
นอกจากนี้ จุดเด่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของบาหลี คือสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะบริเวณชายหาด ให้มีร้านอาหารที่มีความสวยงามใกล้กับชายหาดพร้อมกับการขับกล่อมด้วยเสียงดนตรี ทำให้บรรยากาศอบอวลไปด้วยธรรมชาติและไออุ่นจากท้องทะเล ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในบาหลีเพิ่มมากขึ้น
นโยบายในการพัฒนาพื้นที่เมืองบาหลี ประกอบด้วย
๑) นโยบายด้านผังเมือง มีแผนการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) ออกเป็นพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมและพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว โดยพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ โซนการท่องเที่ยวทั่วไป และโซนการท่องเที่ยวพิเศษ
๒) นโยบายด้านการท่องเที่ยว เน้นการพัฒนาที่มีสมดุลระหว่างการส่งเสริมการท่องเที่ยวกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมเกษตรกรรมและวัฒนธรรมฮินดู โดยการดำเนินการ
ในกรอบของการจัดเขตพื้นที่ (Zoning) ตามนโยบายผังเมือง
๓) นโยบายด้านการคมนาคมบนเกาะบาหลี เน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเครือข่ายการคมนาคมที่มีอยู่ โดยดำเนินการปรับปรุงและยกระดับถนน และการสร้างถนนเส้นทางใหม่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาคนี้ในด้านต่าง ๆ ลักษณะเด่นของถนนที่สร้างใหม่ คือ เส้นทางลัดเข้าสู่อ่าวและชายหาด โดยสร้างถนนไปกับชายหาดและไม่ผ่านย่านชุมชน เส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองหรือย่านชุมชนโดยตรง เส้นทาง
ตามแนวชายฝั่ง เพื่อให้เห็นความงดงามของทะเลและชายฝั่ง และเส้นทางด่วนเข้าสู่สนามบิน Ngurah Rai International Airport เพื่อแก้ปัญหาจราจร
๔) นโยบายด้านการคมนาคมทางทะเล เน้นการพัฒนาท่าเรือให้ขยายตัวรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น ท่าเทียบเรือขนส่งผู้โดยสาร ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ท่าเรือประมง ท่าเรือขนถ่ายสินค้านำเข้า-ส่งออกสำหรับสินค้าพื้นเมือง เป็นต้น รวมถึงการสร้างท่าเรือแห่งใหม่อื่น ๆ ด้วย
๕) นโยบายด้านการพัฒนาสนามบิน เน้นการพัฒนา Ngurah Rai International Airport ในส่วนของการปรับปรุงการบริการเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการทางด้านโลจิสติกส์ โดยหวังผลของ
การขยายตัวทางธุรกิจประเภทอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ทั้งส่วนที่เป็นการท่องเที่ยวและส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อนึ่ง อุตสาหกรรมในบาหลีนั้น นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมพื้นบ้าน (ไม้ โลหะ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องเคลือบดินเผา สิ่งทอ และหัตถกรรมอื่น ๆ)
คำค้น อินโดนีเซีย , กฎหมาย , การยุติธรรม , สิทธิมนุษยชน , ประชาคมอาเซียน , อาเจะห์ , บาหลี
เสาหลัก เศรษฐกิจ (นโยบายการทำงาน และความก้าวหน้าของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน)
การเมืองและความมั่นคง (ความมั่นคงในอาเจะห์ การแก้ไขปัญหาและการดูแลพื้นที่ในอาเจะห์ และการบริหารจัดการท้องถิ่นเมืองบาหลี)
|