๑. การดำเนินงานของสมาคม Thai Club และกลุ่ม ALC (ASEAN Ladies Circle) ปัญหาคนไทยถูกค้ามนุษย์ในมาเลเซีย แรงงานไทยในมาเลเซีย และนักเรียนไทยในมาเลเซีย
คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้แทนกลุ่มสตรีไทย และผู้แทนนักเรียนไทยในมาเลเซีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑.๑ สมาคม Thai Club ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มสตรีไทยในมาเลเซียและได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตไทยเพื่อช่วยเหลือคนไทย
ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผ่านการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ เป็นตัวกลางประสานกงสุล หรือสถานทูต การให้เงินช่วยเหลือ นอกจากนี้ สมาคมยังมีห้องสมุดเพื่อให้บริการยืมหนังสือ มีการสอนความรู้ศิลปะและ
การแกะสลักผัก ผลไม้ การร้อยมาลัย ประดิษฐ์ใบตองและพับผ้าเป็นของชำร่วยเพื่อส่งเสริมอาชีพและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย
๑.๒ กลุ่ม ALC (ASEAN Ladies Circle) เป็นการรวมกลุ่มกันของภรรยาผู้บริหารของกลุ่มอาเซียน ซึ่งไทยเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม โดยกลุ่มจะมีกิจกรรม Coffee Morning เดือนละครั้ง การทานอาหารกลางวันร่วมกัน การระดมทุนเพื่อใช้ในด้านการกุศล เช่น มอบให้เด็กมาเลเซียที่ติดเชื้อ HIV การทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น แข่งขันร้องเพลงคาราโอเกะ แข่งขันแบดมินตัน และโบว์ลิง เป็นต้น นอกจากนี้ ALC ยังได้อาศัยความสัมพันธ์ที่ดีในการช่วยเหลือหญิงไทยที่ถูกกลั่นแกล้ง เช่น เด็กหญิงที่อายุไม่ถึง ๑๕ ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยของแต่ถูกส่งเข้าเรือนจำแทนที่จะเป็นสถานพินิจ เป็นต้น
๑.๓ ปัญหาคนไทยถูกค้ามนุษย์ในมาเลเซีย สาเหตุที่หญิงไทยถูกหลอกค้ามนุษย์เกิดจากการที่มีการศึกษาน้อยทำให้ถูกคนใกล้ชิดหลอกว่าหากไปทำงานแล้วจะร่ำรวยจึงเกิดจากความโลภ โดยหวังจะได้ค่าแรงที่สูงกว่าในประเทศ เกิดจากความยากจนที่ทำให้เป็นหนี้นอกระบบและต้องออกไปหางานทำนอกประเทศ ทั้งนี้ หญิงไทยเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ในมาเลเซีย โดยถูกจับกุมมากที่สุดในคดีรับจ้างขน
ยาเสพติดโดยใช้วิธีกลืนยาเสพติดลงท้องและถ่ายออกเมื่อถึงปลายทางคือมาเลเซีย รวมถึงการถูกหลอกให้ขายบริการผ่านการคุย (Chat) ทางอินเตอร์เน็ตกับชาวต่างชาติ ซึ่งการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์
มีการคัดแยกว่าเป็นการหลบหนีประเภทใด เช่น แบบหลบหนีเข้าเมือง แบบอยู่เกินกำหนด หรือแบบค้าประเวณี เพื่อไม่ให้มาเลเซียดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่พิจารณาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากไทยมี
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ความคุ้มครองอยู่ กล่าวคือหากเหยื่อเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี กฎหมายจะคุ้มครองให้พาเด็กไปอยู่บ้านพักฉุกเฉินและห้ามมาเลเซียดำเนินคดีใด ๆ กับเด็ก
อนึ่ง ในส่วนของไทยนั้นหลายฝ่ายได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ NGOs รวมถึงประสานงานกับกลุ่มประเทศอาเซียน ๙ ประเทศด้วย
๑.๔ แรงงานไทยในมาเลเซีย ปัจจุบันหญิงไทยนิยมประกอบอาชีพนวดสปาในมาเลเซีย โดยมีผู้ที่ยื่นขอใบอนุญาตไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๐ - ๗๐ ได้ทำงานกับนายจ้างที่ดีและมีการขออนุญาตที่ถูกต้องให้โดยมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท ขณะที่แรงงานสตรีที่ไปทำงานเย็บผ้าในโรงงานไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใด กล่าวได้ว่าโดยรวมแล้วปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซียไม่ค่อยมี พบว่า
แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ในมาเลเซียมาจากอินโดนีเซียและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก
๑.๕ นักเรียนไทยในมาเลเซีย นักศึกษาไทยในมาเลเซียเดินทางมาจากกรุงเทพฯ และในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งที่ใช้ทุนส่วนตัว ทุนภาครัฐและภาคเอกชน ทุน ODOS
(ไม่ผูกมัดหลังจากเรียนจบ) ๑๒ ทุน ศกอ. ๑๕ - ๒๐ ทุน และทุน PETONAS ๑๐ ทุน โดยนักศึกษาทั้งหมดมีจำนวนประมาณ ๗๐๐ - ๘๐๐ คน ศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ส่วนใหญ่พบว่าศึกษาด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเรียนศาสนา (ปอเนาะ) ที่รัฐกลันตันและรัฐตรังกานู
ปัญหาและอุปสรรคของนักเรียนไทย
๑) ปัญหาทุนการศึกษาน้อย เนื่องจากทุนจากมาเลเซียถูกนำไปอุดหนุนให้แก่คนมาเลเซียมากกว่า
๒) โอกาสในการได้งานทำในไทยมีน้อย ทำให้จำเป็นต้องหางานในมาเลเซีย แม้ว่าอยากจะกลับไปทำงานที่ไทยก็ตาม
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียกับนักศึกษาไทยในมาเลเซีย
สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ให้การดูแลนักเรียนไทยอย่างลูกหลาน เมื่อเรียนจบแล้วมีการรับเข้าฝึกงานในสถานทูตโดยเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมถึงให้ไปร่วมงานในวันสำคัญต่าง ๆ ของไทยด้วยนอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารเย็นในช่วงออกบวชประจำวันในเทศกาลถือศีลอดเดือนรอมฎอนให้แก่นักศึกษาไทยมุสลิมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ณ มหาวิทยาลัยอิสลาม
นานาชาติมาเลเซีย (International Islamic University Malaysia : IIUM) ซึ่งมีนักศึกษาไทยมุสลิมศึกษาอยู่มากกว่า ๒๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจาก ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดติดต่อกัน
เป็นปีที่ ๓ แล้ว
๒. โครงสร้าง วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย ภารกิจหลักของกระทรวงสตรี ครอบครัว และการพัฒนาชุมชน รวมถึงประเด็นสำคัญของระบบสวัสดิการสังคมในมาเลเซีย
คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฟังบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารกระทรวงสตรี ครอบครัว และการพัฒนาชุมชน มาเลเซีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โครงสร้างของกระทรวงสตรี ครอบครัว และการพัฒนาชุมชน
๑) คณะกรรมการประชากรชาติและการพัฒนาครอบครัว (National Population & Family Development Board
๒) กรมสวัสดิการสังคม (Department of Social Welfare
๓) กรมพัฒนาสตรี (Department of Women Development)
๔) สถาบันสังคมแห่งมาเลเซีย (Social Institute of Malaysia)
๕) สถาบัน NAM เพื่อให้สตรีดูแลกันของมาเลเซีย (NAM Institute for the Empowerment of Women Malaysia)
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อสนับสนุนการดูแล การป้องกัน และการฟื้นฟูสมรรถภาพของกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง
๒) พัฒนาชุมชนโดยผ่านการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการสร้างองค์ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง
๓) ส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการดูแล
๔) ส่งเสริมการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม
กลุ่มเป้าหมาย
๑) กลุ่มเด็ก
๒) กลุ่มผู้สูงอายุ
๓) กลุ่มผู้พิการ
๔) กลุ่มผู้ยากจน
๕) กลุ่มครอบครัว
๖) ลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ NGOs
๗) กลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภารกิจหลักขององค์กร
๑) การป้องกัน/การคุ้มครอง
๒) การฟื้นฟู
๓) การยับยั้ง
๔) การพัฒนา
๕) การบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน
ประเด็นสำคัญของระบบสวัสดิการสังคมในมาเลเซีย
๑) กฎหมายมาเลเซียเริ่มจากรัฐธรรมนูญข้อที่ ๘ ระบุไว้ว่าจะไม่มีการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งปวง ทำให้กฎหมายฉบับต่าง ๆ จะไม่มีการระบุเรื่องศาสนาหรือเรื่องเพศ
๒) ระบบสวัสดิการสังคมของมาเลเซียจะดูแลและคุ้มครองเฉพาะผู้มีสัญชาติและเชื้อชาติมาเลเซียเท่านั้น โดยผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของทางการเป็นผู้ตรวจสอบว่าผู้สูงอายุดังกล่าวมีความจำเป็นในการรับเบี้ยยังชีพมากน้อยเพียงใด เนื่องจากมอบเบี้ยยังชีพจะมอบให้เฉพาะรายที่สมควรได้รับเท่านั้น
๓) มาเลเซียมองว่าการจัดระบบสวัสดิการของมาเลเซียเป็นความท้าทายมากกว่าที่จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรค เช่น การแทรกแซงจากการเมืองต่อนโยบายต่าง ๆ การยุติการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่
ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น
๔) มาเลเซียมีการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ (๑) บ้านพักคนชรา (๒) ศูนย์ดูแลเฉพาะกลางวัน (Day Care) (๓) บริการให้คำปรึกษา (๔) การช่วยเหลือด้านการเงิน และ
(๕) การช่วยเหลือที่บ้านโดยได้รับความช่วยเหลือจาก NGOs
๕) มาเลเซียมีการดูแลผู้พิการดังนี้ (๑) มีสถาบันดูแลผู้พิการ (๒) มีศูนย์การฝึกอาชีพผู้พิการ (๓) มีหลักสูตรฟื้นฟู (CBR) ในชุมชน (๔) CBR Model การได้พักผ่อน มีสังคมและสุขภาพและ (๕) มีศูนย์ CBR One Stop (๖) มีงานให้ทำที่บ้าน และ (๗) ผู้พิการที่มีรายได้ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ ริงกิต/เดือน จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเดือนละ ๓๐๐ ริงกิต
๖) มาเลเซียมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ๒ ส่วน คือ (๑) กฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยตรง (๒) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการรับบุตรบุญธรรม ขณะที่กระทรวงสตรี ครอบครัว และการพัฒนาชุมชน มีหน้าที่เพียงจัดทำรายงานถึงกระทรวงมหาดไทยว่าการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในแต่ละกรณีมีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งในท้ายที่สุดศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นชาวต่างชาติที่ประสงค์จะรับเด็กชาวมาเลเซียเป็นบุตรบุญธรรมจะต้องยื่นเรื่องผ่านสถานทูต
ที่เกี่ยวข้อง อนึ่ง หากผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ประสงค์จะอุปการะเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอีกต่อไปแล้ว ก็ให้นำส่งคืนสถานสงเคราะห์ได้ โดยไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องชดเชยค่าเลี้ยงดูหรือค่าการศึกษาแก่เด็กจนบรรลุนิติภาวะ
๗) ปัจจุบันมาเลเซียยังคงมีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ค.ศ. ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐) และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒) โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการค้ามนุษย์โดยตรงคือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตำรวจตรวจตราน่านน้ำ และกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย มีศูนย์พักพิงดูแล
เหยื่อการค้ามนุษย์ ๓ ศูนย์ ซึ่งขณะนี้มีผู้หญิงและเด็กพักอาศัยประมาณ ๖๐ คน สำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนมากมาจากจีน อินโดนีเซีย และไทย ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้จัดลำดับมาเลเซียในเรื่องการค้ามนุษย์
อยู่ในระดับ ๓
คำค้น มาเลเซีย, กิจการเด็ก, ระบบสวัสดิการสังคม, แรงงานไทย, นักเรียนไทย
เสาหลัก สังคมและวัฒนธรรม
|