คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้รับฟังการบรรยายสรุปเรื่องหลักธรรมาภิบาลของบริษัทปิโตรนาสและแลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งการได้เยี่ยมชมอาคารแฝดบริษัทปิโตรนาส บุคคลสำคัญที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้แก่ ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต (Tan Sri Dato’ Seri Megat Najmuddin Bin Datuk Seri Dr.Hj. Megat Khas) อดีตประธาน
กรรมการบริษัทปิโตรนาส (ปัจจุบันเป็นกรรมการที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร (Independent Non-Executive ) และเป็นประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความเสี่ยง (Chairman of the PETRONAS Board Governance & Risk Committee) ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต สรุปสาระสำคัญดังนี้
๑. องค์ประกอบของกรรมการบริษัทปิโตรนาส
กรรมการบริษัทปิโตรนาส ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
๒. ความโปร่งใสขององค์กร
แม้กฎหมายมิได้กำหนดให้บริษัทปิโตรนาส ต้องรายงานต่อรัฐสภา หน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ แต่บริษัทก็ได้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อให้การบริหารจัดการมีความโปร่งใส รวมทั้งมีการจัดเวทีเพื่อแถลง
ผลประกอบการและการดำเนินการในอดีตและอนาคตแก่สื่อมวลชนรายไตรมาส นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรอิสระจากโครงสร้างของระบบราชการ การที่บริษัทปิโตรนาสไปซื้อกิจการในต่างประเทศเช่น การซื้อกิจการในแคนาดาจะต้องพิสูจน์ได้ว่าบริษัทไม่มีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลเพื่อที่จะให้มั่นใจว่าการดำเนินการของบริษัทอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลเชิงพาณิชย์มิใช่การเมือง
๓. จรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจ
บริษัทปิโตรนาสได้นำแนวคิดเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจ (Code of Conduct and Ethics in Business) ประกอบด้วยหลักการทางวินัย ๕ ประการ คือ ความประพฤติดี ความเป็น
มืออาชีพ ความจงรักภักดี ความซื่อตรง และความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร นอกจากนี้ มีโครงการ “ไม่ให้และไม่รับของขวัญ” เพื่อป้องกันการรับสินบนและการให้สินบนของเจ้าหน้าที่บริษัททุกระดับ และจัดตั้ง
“คณะกรรมการเป่านกหวีด” เพื่อเปิดโอกาสให้มีการร้องเรียนหรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตั้งแต่ระบบดังกล่าวเริ่มมีการนำมาใช้ มีการชี้เบาะแสแล้วประมาณ ๔๐ - ๕๐ ราย แสดงว่าพนักงานมีความมั่นใจในระบบที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้ร้องเรียน
๔. การโฆษณาสื่อมวลชน
ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต กล่าวถึงการโฆษณาในสื่อมวลชนเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ดังนั้น หากจะใช้จ่ายงบประมาณกับสื่อมวลชนต้องได้รับการอนุมัติจากระดับคณะกรรมการบริหาร
๕. การวิจัยและพัฒนา
บริษัทปิโตรนาส ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งนำผลงานวิจัยมาใช้ คือ ระบบสัญญารับจ้างบริการแบบเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงกับแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณน้อย
๖. แนวคิดเรื่องการชดเชยราคาน้ำมัน
ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต ได้ให้ความเห็นว่า “บริษัทปิโตรนาส (ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ) ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรเพื่อมาแบ่งปันกันแบบบริษัทเอกชน แต่บริษัทปิโตรนาส เป็นองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของหุ้นส่วนในฐานะเจ้าของประเทศ รัฐบาลใช้รายได้ที่มาจากกำไรของบริษัทปิโตรนาสมาอุดหนุนราคาน้ำมันให้ประชาชน ถ้าจะหากำไรให้หาจากการส่งออกปิโตรเลียม” นอกจากนี้ สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม รัฐบาลได้มอบนโยบายแก่บริษัทปิโตรนาสว่าให้ขายให้แก่ประชาชนในราคาถูกแต่ไม่ให้ขาดทุน ทั้งนี้กิจการที่ทำกำไรให้บริษัทมากที่สุดคือ กิจการต้นน้ำ ซึ่งก็คือการผลิตปิโตรเลียม กิจการโรงกลั่นมีกำไรน้อยมาก ถ้าจะให้มีกำไรมากต้องเป็นกิจการผูกขาด
๗. ความเห็นเรื่องลักษณะของแหล่งปิโตรเลียมในไทย
ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต (ซึ่งเป็นนักกฎหมายและมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทปิโตรนาส มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔) ให้ความเห็นว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ที่แหล่งปิโตรเลียมของไทยมีขนาดเล็ก ขุดยาก และต้นทุนต่อหน่วยสูง เพราะไทยและมาเลเซียอยู่ในสภาพทางธรณีวิทยาเดียวกัน บางแหล่งปิโตรเลียมก็ขุดร่วมกันด้วยซ้ำไป ในตอนแรก มาเลเซียก็เริ่มต้นจากเล็กไป”
๘. ความเห็นเรื่องหากมีการนำบริษัทปิโตรนาสเข้าตลาดหลักทรัพย์
ตันศรี ดาโต๊ะ เมกัต ให้ความเห็นว่า “ก็อาจเป็นไปได้ หากมีนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียสักคนหนึ่งจะแปรรูปบริษัทปิโตรนาสเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่เขาจะไม่มีวันที่จะได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็น
นายกรัฐมนตรีอีกเลย”
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า แม้ว่าประเด็นพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่ถือว่าจำนวนผู้สนใจยังมี
สัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบจำนวนประชากรทั้งหมด อีกทั้ง ประชาชนเข้าใจว่า “เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น” ทรัพยากรปิโตรเลียมไม่ว่าไทยเราจะมีมากหรือมีน้อย แต่เป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด ใช้แล้วหมดไปรัฐจึงควรจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน สำหรับวิธีการปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ว่าด้วยแนวนโยบายด้าน
การบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา ๗๘ (๕) ที่บัญญัติว่า “เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน”
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ ฯ ได้มีข้อเสนอแนะทั้งต่อภาคประชาชนและต่อรัฐบาล ดังนี้
ข้อเสนอต่อภาคประชาชน
ประชาชนควรจะรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาการที่ทำหน้าที่แปลงเรื่องราวให้เรื่องพลังงานสามารถเข้าใจได้ง่ายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ควรประสานกันเป็นเครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจและรณรงค์กับประชาชนทุกกลุ่ม ในลักษณะที่เรียกสั้น ๆ ว่า “สร้างความรู้เพื่อประชาชน สร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนา
ข้อเสนอต่อรัฐบาล
๑. ให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานยุติการเปิดสัมปทานรอบ ๒๑ จนกว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐยังคงมีกรรมสิทธิ์หรืออธิปไตยเหนือแหล่งปิโตรเลียมตลอดไป โดยที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการปิโตรเลียมในอนาคตควรจะเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต
๒. ในแปลงปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุสัมปทาน ให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานยุติการต่ออายุสัญญาสัมปทาน จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิตหรือระบบรับจ้าง บริการในหลุมเก่าที่หมดสัมปทานไปแล้ว
๓. ให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบการลงทุนของเอกชนในหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมทุกแปลง เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าหลุมปิโตรเลียมใดบ้างที่เอกชนใช้วิธีการเช่าแท่นขุดเจาะแทนการลงทุนสร้างแท่นขุดเจาะเองเพื่อดำเนินการให้เอกชนเปลี่ยนจากการเช่าเป็นการลงทุนในอุปกรณ์เองทุกแปลง
๔. ในกระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๘ (๕) ที่บัญญัติว่า“เพื่อให้การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน”
คำค้น มาเลเซีย, ปิโตรเลียม, พลังงาน, ธรรมาภิบาล, ปิโตรนาส
เสาหลัก เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|