๑. สระแก้วเป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตลาดการค้าชายแดน บริการด้านการท่องเที่ยวและขนส่งเป็นประตูฝั่งตะวันออกของไทยในแนว South – East Corridor (SEC) เชื่อมต่อสู่กัมพูชา ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต - โอเนียง และสามารถเชื่อมต่อออกสู่ทะเลผ่านท่าเรือของเวียดนามใต้ และจากการที่มีที่ตั้งของจังหวัดอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดสระแก้วจึงมีโอกาสเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งออกที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของประเทศ
๒. จังหวัดสระแก้วถือเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดจาก ๗ จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จังหวัดสระแก้วมีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาทั้งสิ้น ๘๐,๒๔๕.๙๖ ล้านบาท (ร้อยละ ๖๔.๕๕ ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา) แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก ๖๑,๙๗๗.๐๓ ล้านบาท และมูลค่านำเข้า ๑๘,๒๖๘.๙๓ ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตร รถยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง สุกรมีชีวิต อาหารสัตว์ สินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
๓. สำหรับสถานการณ์การค้าส่งและการค้าปลีกที่ตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ หลังจากที่มีการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและดำเนินคดีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้พ่อค้าชาวกัมพูชาจำนวนมากไม่กล้าเข้ามาค้าขายสินค้าที่ฝั่งไทยจึงทำให้ตลาดโรงเกลือซบเซาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เนื่องจากจังหวัดสระแก้วและภาครัฐได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย และมีการประชุมแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภายในตลาดโรงเกลือภายใต้ชื่อ “สระแก้วโมเดล” และได้มีการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง โดยเน้นย้ำว่าจะต้องไม่มีการนำสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาจำหน่ายในบริเวณตลาดโรงเกลืออีกต่อไป
๔. รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วโดยกำหนดให้ท้องที่ตำบลท่าข้าม ตำบลบ้านด่าน ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ และตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และแก้ปัญหาความมั่นคงโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
๕. จังหวัดสระแก้วได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว เช่น ก่อสร้างถนนแยก ทล.358 - บ้านป่าไร่ ก่อสร้างทางหลวงเชื่อมจุดผ่านแดนที่บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท ก่อสร้างอาคารสำนักงาน C.I.Q และลานตรวจปล่อยสินค้า รวมทั้งก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรค
ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดสระแก้วที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งขณะนี้ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันของคนในพื้นที่ระหว่างพื้นที่บริเวณ
บ้านป่าไร่ ตำบลป่าไร่ กับพื้นที่บ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม ปัญหาด้านการขนส่งสินค้าบริเวณด่านพรมแดนค่อนข้างแออัด ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินการที่จะให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และที่ดินของเอกชนให้เช่ามีราคาแพง และการตรวจสอบสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ตลาดโรงเกลือทำให้เกิด
ผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการทำธุรกรรมการค้าเกิดการชะงักงัน รวมถึงปัญหาด้านแนวเขตแดนระหว่างไทย – กัมพูชา บนพื้นที่เขตเศรษฐกิจบ้านป่าไร่ยังไม่มีความชัดเจน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วมีความคืบหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น โดยมีการจัดเตรียมพื้นที่ขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ มีการวางผังพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ระบบขนส่งและกระจายสินค้ารวมถึงเตรียมตัดถนนเชื่อมโยงในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว แต่เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้มาใช้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วให้มากขึ้น ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องควรดำเนินการ ดังนี้
๑.๑ เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนเข้าสู่พื้นที่บ้านป่าไร่ สะพานข้ามคลองพรมโหดที่จะเชื่อมต่อไปยังบ้านโอเนียงฝั่งกัมพูชา ก่อสร้างด่านถาวรแห่งใหม่ ณ บ้านหนองเอี่ยน
ตำบลท่าข้าม รวมถึงจัดการระบบน้ำ ไฟฟ้าให้เสร็จตามกำหนดเวลา เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่โดยเร็ว
๑.๒ เร่งหารือเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณแนวชายแดนบ้านป่าไร่ เพื่อให้สามารถจัดตั้งด่านถาวรของฝ่ายไทยเชื่อมโยงไปยังกัมพูชาได้
๑.๓ เร่งวางแผนพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ที่จะย้ายฐานการผลิตมายังจังหวัดสระแก้ว
๑.๔ เร่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านป่าไร่ จังหวัดสระแก้วกับเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต - โอเนียงของกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งไทยเพียง ๑ กิโลเมตร
๑.๕ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ต้องเชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนกับจังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเปิดโอกาสให้ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service) สามารถพิจารณาอนุมัติการลงทุน (วงเงินไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดสระแก้วได้
๒. วางระบบมาตรฐานตลาดโรงเกลือ เพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าส่งและการค้าปลีก ขยายเศรษฐกิจการค้าชายแดนและเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
๒.๑ รักษาความต่อเนื่องของนโยบายให้ตลาดโรงเกลือเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของไทย – กัมพูชา
๒.๒ สร้างมาตรการจูงใจในการจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงการจัดการตลาด การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้า ณ ตลาดโรงเกลือ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชน
ในจังหวัดสระแก้ว
คำค้น กัมพูชา, การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, สระแก้วโมเดล, ตลาดโรงเกลือ
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|