คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ นายพีระพันธ์ ประยูรวงษ์ กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองเดนปาซาร์ ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของเกาะบาหลี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ด้านการลงทุนในเกาะบาหลี
บริษัทในไทยที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย คือ บริษัทที่ดำเนินกิจการด้านการก่อสร้าง การผลิตปูนซีเมนต์ การทำดีเซลขนาดเล็ก การผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจด้านโรงแรมมีการเติบโตสูง ส่วนใหญ่การดำเนินกิจการท่องเที่ยวเป็นคนในพื้นที่ และนักลงทุนชาวจีนที่มักจะเข้ามาลงทุนด้านการพัฒ นาและสร้างอสังหาริมทรัพย์
๒. ด้านการท่องเที่ยว
๒.๑ จำนวนนักท่องเที่ยว
จำนวนนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จำนวน ๒,๙๔๙,๓๓๒ คน เป็นนักท่องเที่ยวจาก ๑) ออสเตรเลีย จำนวน ๗๙๙,๘๙๗ คน ๒) จีน จำนวน ๓๑๗,๑๖๕ คน ๓) ญี่ปุ่น จำนวน ๑๘๘,๗๑๑ คน ๔) มาเลเซีย จำนวน ๑๖๙,๕๙๒ คน ๕) เกาหลีใต้ จำนวน ๑๒๓,๑๕๗ คน ๖) สิงคโปร์ จำนวน ๑๑๗,๕๓๖ คน ๗) อังกฤษ จำนวน ๑๑๖,๔๖๒ คน ๘) ฝรั่งเศส จำนวน ๑๑๒,๔๔๗ คน และ ๙) ไทย จำนวน ๓๖,๔๕๔ คน อีกทั้ง ยังมีนักท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่ท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ ๔,๐๐๐,๐๐๐ คน ถือเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของทั้งประเทศ
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกาะบาหลีประมาณ ๓,๓๐๐,๐๐๐ คน นักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ คน อันดับ ๑ คือนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียเดินทางเข้ามามากที่สุดเนื่องจากอยู่ใกล้กับเกาะบาหลีประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน อันดับ ๒ คือ นักท่องเที่ยวจากจีนส่วนใหญ่จะเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวและพักโรงแรมระดับ ๒ – ๓ ดาว อันดับ ๓ คือ ญี่ปุ่นและอันดับ ๔ คือ เกาหลีใต้ ส่วนการเดินทางมาท่องเที่ยวยังเกาะบาหลีจากประเทศในทวีปยุโรปจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากจึงพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากอังกฤษประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนเท่านั้น
๒.๒ ด้านการรองรับนักท่องเที่ยว
เกาะบาหลีมีสนามบินขนาดเล็กไม่สามารถขยายได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการเปิดสนามบินแห่งที่ ๒ ทางตอนเหนือของเกาะบาหลี การท่องเที่ยวบริเวณเกาะบาหลีและจังหวัดใกล้เคียงยังไม่มีการบริหารจัดการเส้นทางท่องเที่ยวทั้งทางด้านการคมนาคมและการอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ พบว่ามีการเชื่อมต่อการท่องเที่ยวจากเกาะบาหลีไปยังเกาะลอมบ็อค ซึ่งนักลงทุนจากประเทศแถบตะวันออกกลางได้พยายามลงทุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยใช้เรือเร็วเดินทาง ๓ ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเท่าที่ควร ประชากรส่วนใหญ่ของเกาะบาหลีนับถือศาสนาฮินดูทำให้การท่องเที่ยวของเกาะบาหลีมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนโดยการอ่านหนังสือ อาบแดด ดังนั้น จึงไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวในเวลากลางคืน
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ หาดกูตาซึ่งเป็นหาดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาะบาหลีเป็นหาดที่ยาวที่สุดทางตอนเหนือของเกาะบาหลี ลักษณะทรายมีสีดำที่เกิดจากภูเขาไฟ แต่เมื่อเปรียบเทียบ
กับหาดป่าตองที่ภูเก็ตของไทยแล้วหาดป่าตองมีลักษณะของทรายและน้ำทะเลที่สวยงามมากกว่า ดังนั้น หากเปรียบเทียบเกาะบาหลีกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยแล้ว ไทยมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามน่าดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า
๒.๓ ด้านการให้บริการนักท่องเที่ยว
การให้บริการกับนักท่องเที่ยวบนเกาะบาหลียังไม่ดีพอ ไม่มีการดูแลนักท่องเที่ยว แตกต่างกับการให้บริการนักท่องเที่ยวของไทย ซึ่งถือเป็นข้อดีของไทยที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้บริการดังกล่าว
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. การจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
มหาสถูปบุโรพุทโธ เป็นโบราณสถานเกี่ยวกับพุทธศาสนาซึ่งมีการจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าไม่อนุญาตให้ตั้งร้านค้าหรือร้านจำหน่ายของที่ระลึกในบริเวณโบราณสถาน ดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานของไทยซึ่งมีความสวยงามและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเช่นเดียวกัน แต่กลับปล่อยให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนเข้ามาบุกรุกหรือมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์และสภาพภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมควรนำแนวทางการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานและวัฒนธรรมของรัฐบาลอินโดนีเซียมาเป็นต้นแบบการจัดการ โดยอาศัยอำนาจและบังคับใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ อย่างจริงจัง
๒. การจัดระเบียบบริเวณชายหาด
เกาะบาหลี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงของอินโดนีเซียมายาวนาน โดยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ ๕ ล้านคนต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่จากการศึกษาดูงานพบว่า เกาะบาหลีมีชายหาดที่มีความสวยงามน้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยและยังมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง แต่จุดแข็งสำคัญประการหนึ่งที่ไทยควรนำมาเป็นแบบอย่าง คือ รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถจัดระเบียบชายหาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่หากพิจารณาสภาพชายหาดของจังหวัดภูเก็ตพบมีการบุกรุกพื้นที่จากผู้ประกอบการและประชาชนจนทำให้เกิดสภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยกระจายอยู่ทั่วไป
ดังนั้น รัฐบาลไทยควรอาศัยจุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงามมากกว่า รวมถึงความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งแก้ไขปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของชายหาดในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น
๓. การคมนาคมขนส่งทางอากาศ
รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความสำคัญของการคมนาคมขนส่งทางอากาศ โดยพัฒนาท่าอากาศยานให้มีขนาดและศักยภาพที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเช่นเดียวกัน แต่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตมีขนาดและศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวไม่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยว
ดังนั้น รัฐบาลไทยควรดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวอันจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้เป็นแหล่งรายได้ของไทย
ได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
คำค้น อินโดนีเซีย, การท่องเที่ยว, บาหลี, การจัดระเบียบ
เสาหลัก เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|