กงสุลใหญ่ประจำนครโฮจิมินห์ได้นำคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เข้าเยี่ยมคารวะประธานคณะกรรมการประชาชนเกิ่นเธอ โดยมีผู้ว่าราชการเกิ่นเธอร่วมให้การต้อนรับ จากนั้น คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยข้าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ศักยภาพภาคการเกษตรของนครเกิ่นเธอ
นครเกิ่นเธอ (Can Tho) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ริมฝั่งแม่น้ำเห่ายาง (Hau Giang) สาขาใหญ่ของแม่น้ำโขง ห่างจากนครโฮจิมินห์ประมาณ ๑๖๙ กิโลเมตร เป็นเมืองมีขนาดใหญ่ที่สุดใน ๑๓ จังหวัดของภูมิภาคสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง และเป็น ๑ ใน ๕ ของนครที่รัฐบาลกำกับดูแลโดยตรง และสนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ เช่น การก่อสร้างสนามบินนานาชาติ การก่อสร้างสะพานเกิ่นเธอ การขยายท่าเรือสำหรับรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ การก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต ๒,๘๐๐ เมกะวัตต์ เพื่อยกระดับเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง
ด้านเกษตรกรรม ความอุดมสมบูรณ์ของดินอันเกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนจากน้ำท่วมส่งผลดีต่อการเพาะปลูก อีกทั้ง รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านการเกษตรให้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นรากฐานนำไปสู่การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม รัฐจึงเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ และเทคนิคด้านการเกษตร มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยขึ้น รวมถึงจัดทำโครงการความร่วมมือกับไทยด้วย เกษตรกรรมเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของนครเกิ่นเธอ ผลผลิตหลักทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์
- ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ นครเกิ่นเธอสามารถปลูกข้าวได้มากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากจังหวัดอันยาง และหากรวมผลผลิตข้าวกับจังหวัดอื่นในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปริมาณข้าวที่ผลิตได้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ
- การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พันธุ์สัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงมากที่สุด คือปลาจา (ปลาสวาย) และปลาสา (ปลาเผาะ) และจะเพิ่มปริมาณการส่งออกปลาจาให้มากขึ้นในอนาคต ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำ ภาครัฐพยายามส่งเสริม
ให้มีการพัฒนาพันธุ์กุ้งก้ามกราม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบปัญหาเรื่องโรคของสัตว์น้ำและคุณภาพผลผลิตที่มีสารเจือปน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก
- ปศุสัตว์ สัตว์เศรษฐกิจคือการเลี้ยงโคนมและสัตว์ปีก รวมถึงผลิตไข่ได้ประมาณร้อยล้านฟองต่อปี
- อุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยความโดดเด่นในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเป้าหมายจึงเน้นที่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นิคมอุตสาหกรรมในนครเกิ่นเธอมีจำนวน ๕ แห่ง เนื้อที่ ๑,๐๐๐ เฮกตาร์ และยังมีโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอีก ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้อีกประมาณ ๕,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ เฮกตาร์ สำหรับเป็นนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรที่นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในด้านการลงทุนรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งบังคับใช้กับนักลงทุนชาวเวียดนามและนักลงทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน การลงทุนไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ กล่าวคือต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ ๑๐๐ หรืออาจเป็นการร่วมทุนก็ได้ บริษัทสัญชาติไทยอย่างบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร โดยบริษัทฯ ได้ร่วมมือและประกอบธุรกิจโดยตรงกับผู้เลี้ยงปศุสัตว์และเจ้าของฟาร์มช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาเทคนิคการเกษตรของเวียดนามให้ทันสมัย
๒. การเพาะปลูกข้าว
พันธุ์ข้าวที่นำมาเพาะปลูกบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ คือ พันธุ์ OM ซึ่งปลูกมากกว่าร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด ลักษณะการทำนาเป็นนาหว่าน ปลูกเป็นแถว มีการกำหนดมาตรการเพื่อลดการใช้ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี เพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลผลิต รวมถึงผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ในการกำจัดศัตรูพืชเน้นแนวทางการบริหารจัดการศัตรูข้าวแบบผสมผสานกล่าวคือ คัดเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรคและแมลงในพื้นที่ให้ปุ๋ย น้ำ และจัดการดินอย่างเหมาะสมซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของข้าว รวมถึงอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาในการควบคุมปริมาณแมลงศัตรูข้าวให้สมดุล ปริมาณผลผลิตข้าวจะขึ้นกับฤดูกาลการผลิต ข้าวนาปีจะให้ผลผลิตประมาณ ๖ ตันต่อเฮกตาร์ ส่วนนาปรังประมาณ ๔.๕ ตันต่อเฮกตาร์ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวพยายามเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว ประมาณ ๙๐ – ๑๐๐ วันต่อฤดูการผลิต
การปลูกข้าวคำนึงถึงการลดปริมาณการใช้สารเคมี รัฐบาลดำเนินการสำรวจว่าสารเคมีใดส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ และออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสารเคมีนั้น รวมทั้งมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อลดการพึ่งพิงสารเคมีโดยทำการศึกษาว่าช่วงใดเหมาะสมกับการปลูกข้าว ช่วงใดเกิดแมลงศัตรูข้าว และศึกษาหาวิธีกำจัดศัตรูข้าวด้วยแนวทางธรรมชาติ เช่น ก่อนทำนาต้องมีการไถหน้าดินเพื่อส่งน้ำเข้านาได้อย่างสม่ำเสมอซึ่งช่วยป้องกันการวางไข่ของหอยเชอรี่ เป็นต้น กรณีต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเนื่องจากถือว่าเป็นการป้องกันผลประโยชน์ชาติ
ในการให้ความช่วยเหลือชาวนานั้น รัฐบาลไม่ใช้มาตรการประกันราคาข้าวแต่เป็นการเข้ามาแทรกแซงด้านนโยบาย เช่น กรณีข้าวมีปริมาณผลผลิตมากจนระบายไม่ทัน เป็นเหตุให้ข้าวค้างสต็อกปริมาณมาก รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อแก่รัฐวิสาหกิจเพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งถือเป็นการพยุงราคาข้าวได้อีกทางหนึ่ง
๓. บทบาทของสถาบันวิจัยข้าว (Cuu Long Delta Rice Research Institute)
สถาบันวิจัยข้าวจัดตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่นครเกิ่นเธอ รับผิดชอบในเรื่องการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง และเหมาะสมสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง โดยได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนาข้าวจากองค์กรต่างประเทศ สถาบันวิจัยข้าวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ ๙๐ พันธุ์ ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองมีจำนวน ๔๑ พันธุ์ มีการจัดทำโครงการการทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้ดินและเพิ่มรายได้แก่ชาวนาคือ ปลูกข้าวร่วมกับการปลูกพืชชนิดอื่น หรือร่วมกับการเลี้ยงปลาหรือกุ้ง นอกจากนั้น ยังถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและเทคนิคการปลูกข้าวให้แก่ชาวนาในพื้นที่ ซึ่งดำเนินการ ๒ วิธี คือ ๑) สถาบันวิจัยข้าวที่นครเกิ่นเธอถ่ายทอดความรู้ไปยังศูนย์วิจัยย่อยตามท้องถิ่นต่าง ๆ และ ๒) การเชิญชาวนาเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อนำแนวทางไปปฏิบัติจริงให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vietnam Fruits and Vegetables Association : Vinafruit) และตลาดสินค้าเกษตรทูดึ๊ก (Thu Duc) ณ นครโฮจิมินห์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
๔. บทบาทของสมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (Vietnam Fruit and Vegetables Association)
สมาคมผักและผลไม้เวียดนามจัดตั้งในปี ๒๕๔๔ ที่นครโฮจิมินห์ เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกผักและผลไม้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งในพื้นที่ทางตอนใต้ของเวียดนาม คือ ผลผลิตผักและผลไม้ปริมาณสองในสามของประเทศมาจากแหล่งผลิตในพื้นที่แห่งนี้และรัฐบาลต้องการปรับปรุงพันธุ์ผักและผลไม้ ซึ่งแต่เดิมมักมีลักษณะภายนอกไม่สวยงาม แต่ปัจจุบันได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนมีผลที่สวยงาม สมาคมฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพผักและผลไม้เพื่อให้ได้มาตรฐานการส่งออก เนื่องจากการส่งออกผักและผลไม้มักประสบปัญหา
๑) การรักษาคุณภาพด้านอนามัย และความปลอดภัยด้านอาหาร กล่าวคือมีสารตกค้าง ดังนั้น จึงนำระบบ GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นแนวทางการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนดมาประยุกต์ใช้ และ ๒) แมลงศัตรูพืชเจาะผลไม้ ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ออกกฎหมายเพื่อป้องกันการนำเข้าผักและผลไม้จากเวียดนาม
๕. ตลาดสินค้าเกษตรทูดึ๊ก ศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตร
ตลาดสินค้าเกษตรทูดึ๊กเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรแถบเวียดนามตอนใต้ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ สินค้าที่ทำการซื้อขายหลัก คือผลไม้ ผัก และมัน เปิดทำการในเวลากลางคืน จำนวนผู้ซื้อผู้ขายประมาณ ๒,๐๐๐ คนต่อคืน ปริมาณสินค้าราว ๒,๕๐๐ – ๓,๕๐๐ ตันต่อคืน เป็นตลาดที่ให้บริการหลายด้าน ทั้งการมีสถานที่จัดเก็บสินค้า รวมทั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า กรณีตรวจสอบแล้วพบสารตกค้างจะดำเนินการส่งกลับคืนไปยังแหล่งผลิต เนื่องจากเวียดนามไม่ได้มีการกำหนดมาตรการการลงโทษ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าภาคการเกษตรของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร เช่นเดียวกับไทยที่พยายามกำหนดแนวทางถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ ต่อเกษตรกร กล่าวคือ สนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การใส่ปุ๋ยตามช่วงเวลา ปริมาณความต้องการสารอาหารของพืชแต่ละชนิด ช่วงเวลาและปริมาณการใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม
เวียดนามสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี เนื่องจากมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอ ส่วนไทยมักประสบปัญหา คือในฤดูฝน พื้นที่ทางการเกษตรประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ส่วนในฤดูแล้งขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก ดังนั้น หากระบบการจัดการน้ำครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก
คำค้น เวียดนาม, ศักยภาพการเกษตรนครเกิ่นเธอ, การเพาะปลูกข้าวนครเกิ่นเธอ, สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม, ตลาดสินค้าเกษตรทูดึ๊ก, นครโฮจิมินห์
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|