คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้เยี่ยมชมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิตชุมชนเมือง การวางผังเมือง สวัสดิการสังคมและการคุ้มครองคุณภาพชีวิต สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การออกแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิตชุมชนเมือง
สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมของสิงคโปร์มีความโดดเด่น ล้ำสมัย และสัมพันธ์กับการพัฒนาเมือง ด้วยประเทศมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ การออกแบบจึงเน้นเรื่องการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด ผสมผสานกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนา เพื่อสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจ และให้ชาวสิงคโปร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ
โรงละครเอสพลานาด (Esplanade - Theatres on the Bay)
โรงละครเอสพลานาด อยู่ในย่านซีวิค ดิสทริคท์ (Civic District) บริเวณอ่าวมาริน่า โครงสร้างเป็นอาคารกระจกทรงกลม ๒ หลัง สื่อถึงความเปิดกว้าง รวมถึงมีการติดตั้งกระจกรูปสามเหลี่ยมกว่า ๗,๐๐๐ ชิ้น สำหรับบังแดด ลดอุณหภูมิความร้อนภายในอาคาร การออกแบบทางสถาปัตยกรรมทำให้อาคารมีเอกลักษณ์ โดดเด่น เพราะรูปลักษณ์คล้ายทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ยอดนิยมของสิงคโปร์ ชาวสิงคโปร์จึงเรียกโรงละครแห่งนี้ว่า “เดอะ ดูเรียน” โรงละครเอสพลานาดสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์แสดงศิลปะการแสดงระดับโลก ประกอบด้วยห้องจัดแสดงขนาด ๒,๐๐๐ ที่นั่ง และ ๑,๖๐๐ ที่นั่ง นอกจากนั้น ยังมีสตูดิโอขนาดเล็กทั้งด้านในและด้านนอกอาคาร รายการแสดงมีความหลากหลาย เหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย ทั้งการแสดงดนตรี การเต้นรำ ละคร และทัศนศิลป์ทุกประเภท โดยเน้นที่วัฒนธรรมภูมิภาคเอเชีย
โครงการ Marina Bay Sands
โครงการ Marina Bay Sands เป็นศูนย์รวมความบันเทิงแบบครบวงจร ประกอบด้วยโรงแรมขนาด ๒,๕๐๐ ห้อง ห้างสรรพสินค้า โรงละคร ร้านอาหาร คาสิโน ไนท์คลับ พิพิธภัณฑ์ศิลป์ และศาสตร์ (ArtScience Museum) ลานกิจกรรม ฯลฯ ภายในโครงการประกอบด้วยกลุ่มอาคารทรงสูง ๓ หลัง จุดเด่นที่เป็นสัญลักษณ์ คือ โครงสร้างสถาปัตยกรรมอาคารซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากดอกบัว และ Sands SkyPark ที่มีรูปทรงคล้ายเรือขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดตึกสูงของทั้ง ๓ อาคาร
Sands SkyPark จัดสรรพื้นที่เป็นสวน พื้นที่ออกกำลังกาย สระว่ายน้ำในส่วนของโรงแรม และทีมงานออกแบบได้ยื่นพื้นที่ตอนเหนือไปอีก ๖๕ เมตร ถือเป็นโครงสร้างที่ยื่นออกไปในอากาศยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนนี้จัดทำเป็นลานชมวิว สามารถมองเห็นเมืองสิงคโปร์และอ่าวมาริน่า
Garden by the Bay
โครงการ Garden by the Bay ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองในสวน ประกอบด้วย โดมกระจก ๒ โดม คือ Flower Dome จัดแสดงต้นไม้และพรรณดอกไม้จากทุกมุมโลก และ Cloud Forest
ที่แสดงพันธุ์ไม้ของป่าเขตร้อน นอกจากนั้น ยังมีการจัดสวนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สวนแบบพืชสวน (Horticulture), Heritage Garden ฯลฯ
๒. สวัสดิการสังคมและการคุ้มครองคุณภาพชีวิต
สิงคโปร์สนับสนุนให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิการสังคม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กระทรวงการพัฒนาชุมชน เยาวชน และการกีฬา (Ministry of Community Development, Youth and Sports: MCYS) และคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund (CPF) Board) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน
รัฐบาลต้องการให้ชาวท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงผู้มีสัญชาติสิงคโปร์และผู้มีถิ่นพำนักถาวร (มากกว่า ๓ ปีขึ้นไป) ที่อยู่ในตลาดแรงงาน มีทุนสำรองเลี้ยงชีพและหมดภาระเรื่องที่พักอาศัยหลังเกษียณ มีเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับใช้จ่ายเมื่ออายุมากขึ้น จึงได้กำหนดให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินประกันสังคมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ ๒๐ สำหรับนายจ้าง และร้อยละ ๑๐ สำหรับลูกจ้าง สมาชิกกองทุน CPF สามารถนำเงินสะสมมาใช้ในโครงการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย การชำระค่าเล่าเรียนบุตร การเพิ่มสินทรัพย์ ฯลฯ
การดูแลผู้สูงอายุ
สิงคโปร์มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี คาดว่าภายในปี ๒๕๗๓ ประชากร ๑ ใน ๕ จะมีอายุมากกว่า ๖๕ ปี รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ ภายใต้คำขวัญ "Successful Ageing for Singapore” ดังนี้
- ส่งเสริมการจ้างงานและความมั่นคงด้านการเงิน
- ดูแลสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยเน้นเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด และตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล
- ช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการเข้าใช้อาคาร สถานที่สาธารณะ ระบบขนส่งมวลชน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม
- ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน สภาพกายใจดีสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเด็ก
จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กอปรกับอัตราการแต่งงานและการเกิดของสิงคโปร์ค่อนข้างต่ำ ทำให้รัฐบาลพยายามส่งเสริมการมีคู่และการเพิ่มจำนวนประชากร โดยสนับสนุนทางการเงิน
เพื่อการพัฒนาเด็ก (Baby Bonus) หากมีบุตร รัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้แก่บิดามารดา
โดยจ่ายเงินสด (Cash Gift) สำหรับการคลอดบุตรคนที่ ๑ และ ๒ จำนวน ๔,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์/คน และสำหรับบุตรคนที่ ๓ และ ๔ จำนวน ๖,๐๐๐ ดอลลาร์สิงคโปร์/คน นอกจากนั้น หากบิดามารดา
เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อการพัฒนาเด็ก (Children Development Account: CDA) สำหรับใช้เป็นทุนการศึกษาของบุตรที่เกิดหลังวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ รัฐบาลจะสมทบทุนให้อีกในจำนวนเท่ากัน
(Dollar For Dollar Matching) ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน ค่าเล่าเรียนในโรงเรียนที่จดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ และใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกประเภทของบุตร
นโยบาย "Marriage & Parenthood Package”
รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนแต่งงานและผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้ประเทศ แบ่งออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่
- การแต่งงาน อาทิ บริการหาคู่ และเพิ่มวงเงินอุดหนุนเพื่อช่วยคู่แต่งงานซื้อที่อยู่อาศัย
- การมีบุตร อาทิ การให้เงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลเพื่อช่วยสามีภรรยาที่มีบุตรยาก และการพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการคลอด
- การเลี้ยงดูบุตร อาทิ การลดหย่อนภาษีบิดามารดาที่มีรายได้ การให้ Baby Bonus และการให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพแก่ศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนและโรงเรียนอนุบาล
- การสนับสนุนสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว อาทิ การอนุญาตให้มารดาลาคลอดได้ ๔ เดือนและยังคงได้รับเงินเดือน (บริษัทเป็นผู้จ่ายเงินเดือน ๒ เดือนแรก และรัฐจ่ายให้
๒ เดือนหลัง) และการอนุญาตให้บิดามารดาลาดูแลบุตรอายุต่ำกว่า ๗ ปี ได้ ๖ วัน/ปี โดยได้รับเงินเดือน
๓. การวางผังเมือง
หน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านการวางผังเมือง คือ “Urban Redevelopment Authority” หรือ เรียกแบบย่อว่า “URA” การกำหนดกรอบแนวคิดการวางแผนและพัฒนาเมืองจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์/นโยบายของรัฐบาล ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และยุคสมัย เช่น ในช่วงหนึ่ง เคยใช้แนวคิดอุทยานนคร (Garden City) แต่หลังปี ๒๕๔๔ ได้นำแนวคิดการเป็นเมืองแบบกระชับ (Compact City) มาใช้เพื่อส่งเสริมให้ย่านใจกลางเมืองเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและสร้างมูลค่าสูง ส่วนแนวคิดที่ใช้ในแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน (แผนแม่บท ปี ๒๕๕๑ : Master Plan 2008) ได้นำแนวคิดลัทธิชุมชนเมืองยุคใหม่ (New Urbanism) ผสมผสานกับแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) โดยตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ แนวคิดหลักที่นำมาพิจารณา คือ
- การใช้พื้นที่ที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับการเติบโตในอนาคตโดยการพัฒนาพื้นที่ใต้ดิน (Underground Spaces) สำหรับนำมาใช้ประโยชน์
- การขยายศูนย์กลางเศรษฐกิจไปยังเขตจูร่ง และปายา เลอบาร์ (Jurong and Paya Lebar) เพื่อสร้างพื้นที่ธุรกิจแห่งใหม่นอกเมือง ลดความแออัดของพื้นที่เศรษฐกิจเดิม และรองรับ
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ ขนส่งทางราง ควบคู่กับการลดการขนส่งและการสัญจรส่วนบุคคล
- การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความภูมิใจในอัตลักษณ์ รัฐบาลจัดพื้นที่/กิจกรรมนันทนาการให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่ายและหลากหลายรูปแบบ นอกจากนั้น ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม/การสงวนรักษามรดกทางธรรมชาติ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติ เพื่อให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจและเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน
สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสูงที่สุดในเอเชีย ทั้งนี้ ได้นำเอาเกณฑ์การพัฒนาเมืองตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาดมาปรับใช้ ดังนี้
- การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน รัฐบาลส่งเสริมการใช้พื้นที่อย่างผสมผสาน เกิดความสมดุลโดยกำหนดให้พื้นที่ใจกลางเมืองดำเนินกิจกรรมที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมกับจัดสรรพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย/พื้นที่ส่วนกลางเพื่อชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- การออกแบบอาคารและกลุ่มอาคารให้เกาะกลุ่มและการออกแบบชุมชนให้กระชับ (Compact Building Design) ลดการกระจายตัว ย่านพาณิชยกรรมและย่านอยู่อาศัยเกาะกลุ่มกัน
เพื่อการใช้ที่ดินอย่างประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุด
- การส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รัฐจัดที่อยู่อาศัยแบบแฟลต ซึ่งกระจายตัวรายรอบศูนย์กลางธุรกิจ ส่วนผู้มีรายได้สูงอาศัยในพื้นที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ นอกจากนั้น รัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีรายได้สูงเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ การจัดสรรทางเลือกที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงคุณภาพของที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ฯลฯ
- การออกแบบปรับปรุงโครงข่ายทางเดินให้เชื่อมต่อกันทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ระหว่างย่านธุรกิจและย่านที่พักอาศัย รวมถึงระหว่างกลุ่มอาคาร พื้นที่ว่าง และพื้นที่สีเขียวในชุมชนรัฐให้ความสำคัญกับการก่อสร้างทางเท้าที่ได้มาตรฐาน การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อดึงดูดการเดินเท้า ทั้งนี้ ได้มีการออกข้อกำหนดให้อาคารที่ก่อสร้างริมถนนทางเดินต้องจัดพื้นที่ด้านหน้าให้เป็นทางเดินใต้หลังคา ซึ่งต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า ๒.๕๐ เมตร และยาวต่อเนื่องไปจนสุดแนวอาคาร
- การส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งที่หลากหลายและเข้าถึงง่าย เชื่อมต่อเขตที่อยู่อาศัยกับเขตเศรษฐกิจ หรือเขตชานเมืองกับใจกลางเมือง เพื่อประชาชนสามารถเลือกวิธีเดินทางได้หลายรูปแบบ ได้แก่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถโดยสารประจำทาง และรถแท็กซี่
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อม ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยชุมชนเมือง การจัดสรรพื้นที่และพัฒนาอาคารสถานที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพของคนในสังคม
ไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นชาติยาวนานและมีมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับโลก รัฐบาลจึงควรศึกษาวิธีการ รูปแบบการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงจัดสรรงบประมาณด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และศาสนสถานที่สำคัญ มีการบริหารจัดการทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น รัฐบาลควรวางแผนการพัฒนาเมือง ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสามารถแข่งขันกับนานาประเทศ
คำค้น สถาปัตยกรรมในสิงคโปร์ สวัสดิการสังคม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การวางผังเมือง
เสาหลัก สังคมและวัฒนธรรม
|