คณะกรรมาธิการการศึกษาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์
นายอุดมศักดิ์ ศรีธัญโกศ อุปทูต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ สปป.ลาว สาระสำคัญดังนี้
นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของรัฐบาล สปป.ลาว
- ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน
- สร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
- เสริมสร้างบทบาทที่สร้างสรรค์และส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในองค์การระหว่างประเทศ
- กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา
- ส่งเสริมการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพรมแดนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่มีผลกระทบต่อ สปป.ลาว
- สนับสนุนการทูตเพื่อประชาชน
- ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอาเซียนและอนุภูมิภาค
- ประสานการดำเนินงานของส่วนราชการในต่างประเทศ
- ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมและองค์กรอิสลามระหว่างประเทศ
การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สปป.ลาว ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์
- ชายแดนมีสันติสุข
- ความมั่นคง มั่งคั่งของ สปป.ลาว เท่ากับความมั่นคง มั่งคั่งของไทย
- เสริมสร้างผลประโยชนร่วมกันอย่างยั่งยืน เน้นการลดช่องว่างเพื่อการพัฒนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
- “Look beyond Laos” สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพ มิได้เป็นเพียงแค่ประเทศทางผ่าน ดังนั้น นอกจากมองผลประโยชน์ร่วมกันในกรอบทวิภาคีแล้ว ควรเสริมสร้างความร่วมมือสู่ระดับพหุภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ด้วย เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และความร่วมมือในกรอบอาเซียน (ASEAN)
- เอื้อเฟื้อ ผ่อนปรน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว เป็นเหมือนญาติใกล้ชิด มิตรใกล้บ้าน
- มองข้ามปมปัญหาในอดีต เน้นจุดเหมือนมากกว่าจุดต่าง
มองผ่านยุทธศาสตร์ 3 C’s
- Connectivity มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในเส้นทางต่าง ๆ เช่น แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และแนวพื้นที่ตาม Northern Development Strategy
- Community ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างสมาชิกเดิมกับสมาชิกใหม่
- Competitiveness ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
- เร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
- ลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งยังมีการพัฒนาที่ล้าหลังกว่าสามารถรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
- เจรจาขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค โดยจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป
ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-สปป.ลาว
- ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อ สปป.ลาว ซึ่งตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของ สปป.ลาว
- มีความร่วมมือหลายระดับทั้งระดับรัฐบาลภายใต้กำกับของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และระดับสถาบันการศึกษา
ระบบการศึกษาของ สปป.ลาว
- กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา มีหน่วยงานในสังกัด ๒๒ กรม
- การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การศึกษานอกระบบโรงเรียน สายอาชีพหรืออาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาชั้นสูง
- ระบบการศึกษาเป็นแบบ 11 ปี (ระบบ 5: 3: 3) คือ การศึกษาในระดับก่อนประถมศึกษา ๓ ปี ระดับประถมศึกษา ๕ ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี
- การศึกษานอกระบบโรงเรียน มุ่งเน้นการฝึกอบรมผู้ใหญ่ให้อ่านออกเขียนได้ ยกระดับวิชาชีพ รวมถึงยกระดับวิชาการให้แก่เจ้าหน้าที่
- สายอาชีพหรืออาชีวศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนอาชีวศึกษา ให้การฝึกอบรมเทคนิควิชาชีพแรงงาน โรงเรียนเทคนิคระดับกลาง จำนวน ๓๙ แห่ง ให้การฝึกอบรมเทคนิควิชาชีพระดับกลาง และโรงเรียนเทคนิคระดับสูง จำนวน ๘๙ แห่ง ให้การฝึกอบรมเทคนิควิชาชีพชั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยพละศึกษา จำนวน ๑ แห่ง วิทยาลัยศิลปศึกษา จำนวน ๑ แห่ง และวิทยาลัยครู จำนวน ๕ แห่ง
- ระดับอุดมศึกษาหรือการศึกษาชั้นสูง รวมถึงการศึกษาด้านเทคนิคสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแห่งชาติ มีการเรียนการสอน ๑๓๒ หลักสูตร/สาขาวิชา มหาวิทยาลัยจำปาสัก มีการเรียนการสอน ๑๑ หลักสูตร/สาขาวิชา มหาวิทยาลัยสุพานุวง มีการเรียนการสอน ๑๕ หลักสูตร/สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต มีการเรียนการสอน ๘ หลักสูตร/สาขาวิชา
- กระทรวงศึกษาธิการและกีฬามีความร่วมมือด้านการศึกษากับ ๑๔ ประเทศ คือ เวียดนาม จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลักเซมเบิร์ก อินเดีย ไทย ฝรั่งเศส มาเลเซีย สิงคโปร์ คิวบา มองโกเลีย และ
- กัมพูชา สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป.ลาว ด้านการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ พยายามดำเนินการเจรจามาโดยตลอดแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากนโยบายด้านการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์ ประกอบกับจำนวนบุคลากรของ สปป.ลาว มีไม่เพียงพอ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้การขับเคลื่อนจากภาครัฐโดยอาจริเริ่มจากโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์ในสายอาชีพหรือระดับอาชีวศึกษาก่อนซึ่ง สปป.ลาว ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน
- สปป.ลาว ต้องการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการศึกษาทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบความร่วมมืออาเซียนซึ่งเป็นเวทีที่ สปป.ลาว ได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เชื่อมั่นว่า สปป.ลาว จะสามารถตอบสนองได้ทันที เนื่องจากความพร้อมและเข้มแข็งของภาครัฐ ประกอบกับ สปป.ลาว มีนโยบายที่เป็นเอกภาพสามารถการดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว
๒. กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา
คณะได้เข้าพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษากับ ดร.พันคำ วิพาวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สรุปสาระสำคัญดังนี้
- สปป.ลาว จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบใหม่ในรูปแบบประถมศึกษา ๕ ปี มัธยมศึกษาตอนต้น
3 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย ๓ ปี รวมระยะเวลา ๑1 ปี เป็นการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับระบบสากล ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาแล้ว นักเรียนอาจศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยเทคนิค ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย ๕ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ (ดงโดก) ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งจากการแยกคณะด้านการแพทย์ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ออกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ) มหาวิทยาลัยสุพานุวงในแขวงหลวงพระบาง สำหรับรองรับนักเรียนจากแขวงทางภาคเหนือ มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขตและมหาวิทยาลัยจำปาสัก สำหรับรองรับนักเรียนจากแขวงทางภาคใต้ ทั้งนี้ การเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะใช้ระบบการสอบคัดเลือก
- นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกเรียนในสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาได้ ซึ่งแบ่งเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นกลางใช้เวลาศึกษา ๒ ปี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงใช้เวลาศึกษา ๓ ปี ทั้งนี้ สปป.ลาว มีวิทยาลัยเทคนิคในสังกัดกรมอาชีวศึกษา จำนวน ๒๒ แห่ง เช่น วิทยาลัยเทคนิคสรรพวิชา วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสัก โรงเรียนเทคนิค สปป.ลาว-เยอรมัน นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยที่มีหลักสูตรเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยการช่าง วิทยาลัยช่างครู วิทยาลัยกฎหมาย รวมทั้ง
- มีสถาบันการศึกษาของเอกชน เช่น วิทยาลัย สปป.ลาว-อเมริกัน วิทยาลัยธุรกิจ สปป.ลาว-สิงคโปร์ และสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเปิดสอนด้านการพยาบาลและคอมพิวเตอร์
- นโยบายการพัฒนาการศึกษาของ สปป.ลาว ยึดแนวทางที่เรียกว่าการศึกษาสำหรับทุกคน (Education for All) และแนวทางให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มีบุคลากรและแรงงานสอดรับกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สปป.ลาว ยังประสบปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยและพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ความพยายามแก้ไขในเบื้องต้นโดยกำหนดนโยบายให้ครูทำการสอนคละระดับชั้นและการจัดกลุ่มโรงเรียนให้สอดรับกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน
- สปป.ลาว กระตุ้นการปลุกจิตสำนึกด้านวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีของเยาวชนโดยดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้ปกครอง มีการกำหนดเป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับทุกระดับถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ วิชาเรียนจะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของชาวลาว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการทางวัฒนธรรมเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของ สปป.ลาว ไว้อย่างครบถ้วน
- การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มีการกำหนดให้เรียนวิชาวัฒนธรรมอาเซียน
วิชาโลกรอบตัว และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักศึกษาระหว่าง สปป.ลาว กับประเทศอื่น ๆ
- สปป.ลาว ประสบปัญหาเยาวชนติดเกมเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีแนวทางการแก้ไขโดยการนำกีฬาเข้ามาเสริมกิจกรรมของเด็ก ดังนั้น รัฐบาลจึงได้นำเรื่องกีฬามารวมไว้กับกระทรวงศึกษาธิการจึงกลายเป็นกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาในปัจจุบัน
๓. วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสัก นครหลวงเวียงจันทน์
- วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสัก มีการจัดทำโครงการการเรียนการสอนร่วมกับประเทศต่าง ๆ และเป็นโรงเรียนต้นแบบอาชีวศึกษาของ สปป.ลาว มีความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานเพื่อสร้างหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม โดยศึกษาจากหลักสูตรของประเทศแถบเอเชียหลาย ๆ ประเทศ แล้วนำมาประยุกต์และพัฒนาเป็นหลักสูตรของตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนามาตรฐานอาชีพ
- สาขาวิชาที่มีความนิยมในการเรียน คือ การบัญชี การไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การเทคโนโลยีรถยนต์และการท่องเที่ยว สำหรับทักษะด้านภาษาต่างประเทศนั้นนักศึกษาสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้หากแต่ยังไม่สามารถพูดสื่อสารได้ดี ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสักจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาต่างประเทศอื่น ๆ อาทิ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนในหลักสูตรการศึกษาโดยเป็นความร่วมมือกับประเทศเจ้าของภาษานั้น ๆ สำหรับภาษาอาเซียนยังไม่มีการเรียนการสอนและยังไม่มีแผนการรองรับ
- ทัศนคติและค่านิยมของสังคมใน สปป.ลาว ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้การเรียนการสอนในสายอาชีพหรือระดับอาชีวศึกษาประสบปัญหาจำนวนนักเรียนน้อย ดังนั้น รัฐบาลจึงเสนองบประมาณสนับสนุนให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษา พร้อมสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักเรียนที่เลือกเรียนสายอาชีพหรือระดับอาชีวศึกษา อีกทั้งใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่จะเข้าเรียนเพื่อเป็นการลดขั้นตอนให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
คณะกรรมาธิการได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
๑. การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนควรมีการดำเนินการทั้งในระดับข้าราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน นักเรียนและนักศึกษา อีกทั้ง ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญสำหรับติดต่อสื่อสารในประชาคมอาเซียน ดังนั้น ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการใช้ภาษาอังกฤษของคนกลุ่มต่าง ๆ ให้ดีขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ด้านสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน
๒. คุณภาพทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาเกิดความใฝ่รู้และตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
๓. การพัฒนาทักษะภาษาอาเซียนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องพิจารณาเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน หรือจัดการอบรมให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้การพัฒนาทักษาภาษาอาเซียนและภาษาอังกฤษสามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมประชาสัมพันธ์สามารถร่วมมือกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการพัฒนาทักษะและให้ความรู้ด้านภาษาให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งอาจสอดแทรกข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์และใกล้ตัวประชาชน นักเรียน และนักศึกษา อาทิ กฎระเบียบในการประกอบอาชีพและการลงทุนในอาเซียน
๔. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักศึกษาระหว่างไทยและ สปป.ลาวในหลากหลายสาขาวิชาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
๕. ต้องดำเนินการปรับทัศนคติของนักเรียนและนักศึกษาให้สนใจเรียนสายอาชีพและอาชีวศึกษาซึ่งสามารถทำได้โดยให้ความรู้เรื่องอาชีพที่รองรับภายหลังสำเร็จการศึกษา และรายได้ที่จะได้รับเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียนและนักศึกษาหันมาสนใจเรียนสายอาชีพและอาชีวศึกษาให้มากขึ้น
๖. สาธารณชนรับรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุด ประกอบกับภาคเอกชนและธุรกิจทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ประชาชนรับรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากกว่าการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งที่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ๓ เสาหลัก ดังนั้น ต้องสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนในเรื่องประชาคมอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น
๗. หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ต้องวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ควรพิจารณาจากศักยภาพของหน่วยงานและองค์กรตนเองเป็นสำคัญ รวมถึง เร่งยกระดับมาตรฐานแรงงาน เสริมสร้างภาวะเป็นผู้นำ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้กฎระเบียบต่าง ๆ
๘. ควรมีหน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานและติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจังหวัดควรเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาจดำเนินการผ่านกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จังหวัด โดยตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการ จัดทำเป็นวาระของจังหวัดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม
คำค้น สปป.ลาว, การศึกษา, อาเซียน
เสาหลัก เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|