คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ได้เดินทางไปยังกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท เพื่อเข้าพบหารือข้อราชการกับผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการป้องกันและช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติและเยี่ยมเยือนกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ โดยได้มีการหารือข้อราชการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งได้รับข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเวียดนาม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา ได้เดินทางไปยังกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท เพื่อเข้าพบหารือข้อราชการกับผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการป้องกันและช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติ โดยมีคณะผู้บริหารของกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท ให้การต้อนรับ นำโดย นายเหงียน วันยิ่งห์ รองอธิบดีทบวงชลประทาน ในการนี้ คณะผู้บริหารของกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท ได้กล่าวบรรยายสรุปปรากฏสาระสำคัญ ดังนี้
- เวียดนามมีแม่น้ำสำคัญหลายสายแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำแดงและแม่น้ำ (ถายบิ๋ญ) อยู่ทางภาคเหนือ และแม่น้ำอีกสายหนึ่งอยู่ทางภาคใต้ตอนล่างซึ่งไหลมาจากสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยสภาพภูมิประเทศของเวียดนามที่ตั้งอยู่ในเขตโซนร้อนและมีชายฝั่งทะเลจากเหนือจรดใต้ประมาณ ๓,๒๐๐ กิโลเมตรทำให้เวียดนามมีเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องภัยพิบัติด้านวาตภัยและอุทกภัยอยู่เป็นประจำ โดยในช่วงมรสุมพายุจะเข้ามาทางภาคเหนือไล่ลงมายังภาคใต้ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีปริมาณน้ำฝนไม่เท่ากัน ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้มากที่สุดอยู่ทางเหนือวัดได้ ๔,๒๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งภัยพิบัติน้ำท่วมเกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือจะท่วมอยู่ประมาณ ๑-๒ วัน ส่วนภาคใต้ได้รับผลกระทบหนักกว่าเพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงโดยจะท่วมอยู่ประมาณ ๒-๓ วัน สำหรับภาคกลางปริมาณน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็วโดยจะท่วมอยู่ประมาณ ๖-๑๒ ชั่วโมง ที่ผ่านมาปริมาณน้ำท่วมหนักที่สุดประมาณ ๓๗,๘๐๐ ลูกบาศก์เมตร เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และ พ.ศ. ๒๕๑๔
- ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามมีพื้นที่ ๓ ใน ๔ เป็นภูเขาและป่า และเป็นที่ราบ ๑ ส่วน วาตภัยรุนแรงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่จังหวัดก่าเมาทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นเขตที่ไม่ค่อยประสบภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีประสบการณ์ในการรับมือได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต ๗๗๘ คน และสูญหาย ๒,๑๒๓ คน เรือประมงได้รับความเสียหาย ๓๐,๐๐๐ ลำ รวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้แก่ประชาชนและทรัพย์สิน รัฐบาลมีนโยบายการฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมโดยการเสนอยุทธศาสตร์ในการป้องกันภัยพิบัติและแผนปฏิบัติจนถึง พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยในปีนี้รัฐบาลจะออกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยพิบัติและให้ความรู้กับประชาชนและให้การแนะนำวิธีป้องกันและช่วยเหลือตนเองในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทันท่วงทีในการเตรียมรับมือกับพิบัติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติมีจำนวนลดลง
คณะกรรมาธิการได้มีการซักถามผู้บริหารของกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทซึ่งปรากฏข้อมูลสำคัญ ดังนี้
- เวียดนามมีระบบสหกรณ์ที่สังกัดอยู่กับกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท
- รัฐบาลมอบหมายนโยบายให้กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทดูแลเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ และจะมอบหน้าที่ให้ทหารมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิต และกู้ภัยผู้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจาก ยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการป้องกันและการบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ
- ศูนย์พยากรณ์ธรรมชาติแห่งชาติโดยกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทได้ร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์ธรรมชาติแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ในการพยากรณ์อากาศของเวียดนามและสร้างระบบเตือนภัยให้แก่ประชาชนภายในประเทศ
- กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบท มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งด้านอนุรักษ์ทรัพยากรอื่น ๆ สำหรับมาตรการปกป้องการบุกรุกและทำลายป่า รวมถึงการป้องกันภัยพิบัติอันเกิดจากไฟไหม้ป่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ทบวงป่าไม้
- ปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในการสร้างเขื่อน รัฐบาลมีนโยบายอพยพประชาชนไปอยู่ในเขตพื้นที่อื่นเพื่อให้มีที่ดินทำกินโดยเฉพาะ
- เวียดนามมีศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โดยมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อขายให้ต่างประเทศภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการผลิตกระแสไฟฟ้ายังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รัฐบาลเวียดนามจึงมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น จำนวน ๒ แห่ง เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศ
- เวียดนามเป็นประเทศเกษตรกรรม ระบบชลประทานจึงมีการพัฒนามาตั้งแต่เริ่มแรก ที่มีการพัฒนาประเทศ มีการสร้างระบบชลประทานให้เพียงพอกับทุกจังหวัดในประเทศเพื่อให้เพียงพอกับการทำนาในแต่ละปี ซึ่งเกษตรกรเวียดนามทำนาได้ ปีละ ๓ ครั้ง และมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมจำนวน ๗.๗ ล้านเฮกเตอร์
- งบประมาณที่กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทได้รับในแต่ละปี ได้นำไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้าง การลงทุนให้แก่ท้องถิ่น ฯลฯ
- เมืองเว้ และเมืองดานัง เป็นพื้นที่สูงชันติดต่อกับภูเขาและทะเล เมื่อเกิดน้ำท่วมน้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว
- หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเมื่อเกิดพายุ คือ กระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ตามชายฝั่งทะเล ได้แก่ ตำรวจชายแดน ทำหน้าที่ป้องกันภัยทางทะเลและช่วยเหลือประชาชน
- บทบาทของกองทัพเรือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากเป็นปัญหาเล็กน้อย จะเป็นหน้าที่ของเรือทหารชายแดน โดยจะมีการบัญชาการให้เรือที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวกู้ภัย หากเป็นปัญหาใหญ่หรือเกิดห่างไกลออกไปจากชายฝั่งจะใช้กองกำลังของกองทัพเรือเข้าช่วยเหลือ
ข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเวียดนาม
คณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา เข้าพบและเยี่ยมเยือนนางสาวพรรณพิมล สุวรรณพงศ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ โดยได้มีการหารือข้อราชการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งได้รับข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเวียดนาม สาระสำคัญ ดังนี้
ข้อมูลทั่วไปของเวียดนาม
- เวียดนามเป็นประเทศในประชาคมอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญด้านความมั่นคง
ในภูมิภาค ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา (กลุ่ม CLMV)
- เวียดนามเป็นตลาดใหญ่ในกลุ่มประเทศอินโดจีน มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อต่อเนื่อง
ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน
- ไทยและเวียดนามได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-เวียดนาม และมีข้อตกลงจะเพิ่มปริมาณการค้าขึ้นปีละร้อยละ ๒๐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๘
- ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายได้ลงนามการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม (Thailand-Vietnam Business Council) เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม
- เวียดนามเปิดรับการรับลงทุนจากต่างประเทศหลังการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือ “Doi Moi” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อลดการผูกขาดและการรวมศูนย์ที่รัฐบาลกลาง และพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
- นักลงทุนไทยเริ่มเข้ามาลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ปัจจุบันการลงทุนของไทยในเวียดนามส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคใต้ของประเทศ มีบริษัทของไทยจดทะเบียนทำธุรกิจประมาณ ๒๐๐ บริษัท โดยที่มูลค่าการลงทุนสะสมของไทยในเวียดนามสูงเฉลี่ยเป็นอันดับ ๑๐ - ๑๑ จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
ข้อมูลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
- ทั้งสองฝ่ายมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานและมีการส่งเสริมการสอนภาษาเวียดนามในไทย การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์ไทยศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเวียดนาม
ข้อมูลด้านกงสุล
- ขณะนี้มีคนไทยอยู่ในเวียดนามประมาณ ๑,๐๐๐ คน ส่วนมากอาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของเวียดนามประกอบด้วยนักธุรกิจ พนักงานบริษัท และคู่สมรสชาวต่างชาติที่ทำงาน
ในเวียดนาม
ปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนของไทยในเวียดนาม
- ขาดทักษะความรู้ภาษาเวียดนาม และขาดความเข้าใจวิธีการทำงานของคนเวียดนาม
- ขาดความเข้าใจกฎระเบียบการค้าและการลงทุนของเวียดนาม
- ค่าเช่าที่ดินและอาคารมีอัตราสูง
- ขาดแคลนแหล่งเงินทุน
- ขาดผู้บริหารระดับกลางและแรงงานที่มีทักษะ
- ข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการขาดแคลนไฟฟ้าในฤดูแล้ง
- ผู้ประกอบการไทยต้องพึ่งพาผู้จัดจำหน่ายเวียดนาม
- มีปัญหาในการทำธุรกิจกับหุ้นส่วนท้องถิ่น
- บริษัทท้องถิ่นลอกเลียนแบบสินค้าไทย
- ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วม และโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคการเกษตร และประมง
เวียดนามกับประชาคมอาเซียน
- เวียดนามมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่นการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลงต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียน
- เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน
- รัฐบาลส่งเสริมความเชื่อมโยงระดับประชาชนสู่ประชาชน
- รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ทั้งในด้านภาษา และฝีมือแรงงาน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
คณะกรรมาธิการได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะว่าหลังจากที่เวียดนามได้รับอิสรภาพเมื่อประมาณ ๓๐ ปีเศษมานี้ ความเสียหายที่เกิดจากสงครามเวียดนามทำให้ประเทศต้องล่มสลายประธานาธิบดีโฮจิมินห์ได้รวบรวมประชาชนทั้งประเทศให้มีจิตใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาประเทศให้ฟื้นคืนสามารถกลับมายืนอยู่ในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างสง่างาม ประเด็นสำคัญคือศูนย์รวมของประเทศ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกันของประชาชนเวียดนาม ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ
- การพัฒนาระบบการจัดการการส่งสินค้า (Logistics) ของเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่โดยยินยอมให้รัฐบาลเวนคืนที่ดินริมทะเลเพื่อให้รัฐบาลนำไปให้นักลงทุนต่างชาติมาสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามให้สิทธินักลงทุนต่างชาติสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจต่าง ๆ ได้เป็นระยะเวลา ๕๐ ปี จากนั้น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จะตกเป็นของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้วถึง ๒ แห่ง มีการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่นครโฮจิมินห์ โดยให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนซึ่งท่าอากาศยานแห่งใหม่บินใหม่นี้จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๖๔
- เวียดนามมีการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องเนื่องจากด้วยระบอบการปกครองที่มีการรวมศูนย์อำนาจการบริหารประเทศเป็นหนึ่งเดียวจึงทำให้ไม่มีปัญหาระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ บุคลากรภาครัฐทุกคนในประเทศไม่ว่าอยู่หน่วยงานใด อาทิ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และหน่วยงานราชการต่าง ๆ เมื่อรับราชการมาถึงระดับหนึ่งจะต้องโอนและเปลี่ยนเครื่องแบบไปเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่จะต้องปฏิบัติตามมติพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นส่วนดีและข้อได้เปรียบในการบริหารประเทศ
- หากเวียดนามมีการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปสรรคหรือปัญหาใด ประเมินว่าภายใน ๓๐ ปี ต่อจากนี้ (พ.ศ. ๒๕๘๖) จะมีการพัฒนาประเทศเจริญรุดหน้าจนเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่สำคัญในอาเซียน การลงทุนประกอบธุรกิจโดยตรงจากต่างประเทศ
จะหลั่งไหลสู่เข้าสู่เวียดนาม
คำค้น เวียดนาม, สาธารณภัย, ภัยพิบัติ, การลงทุน
เสาหลัก การเมืองและความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|