คณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย–ลาว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางไปประชุมทวิภาคี ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามคำเชิญของ นายอุ่นแก้ว วุทิลาด ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาลาว–ไทย สภาแห่งชาติลาว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ในระดับสถาบันนิติบัญญัติ โดยในการเยือนครั้งนี้ คณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย–ลาว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อธิบายถึงสถานการณ์และพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตให้ผู้แทนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของ สปป.ลาวได้รับทราบ รวมทั้งได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของ สปป.ลาว สาระสำคัญดังนี้
- ไทยกับ สปป.ลาว มีความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ทั้งมิติของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สำหรับโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซ้อน–ห้วยซั้ว (หลัก ๒๒) ณ กรุงเวียงจันทน์ ที่คณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย–ลาว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีโอกาสเยี่ยมชม เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทาน ของนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว ทั้งนี้ เนื่องจากนายไกสอนได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์การศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงเกิดความประทับใจและประสงค์ให้มีโครงการด้านการพัฒนาในลักษณะเดียวกันใน สปป.ลาว นอกจากนี้ ไทยและ สปป.ลาวยังมีความร่วมมือกันในด้านการศึกษา โดยเฉพาะโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างสองประเทศ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกัน โดยไทยได้ช่วยเหลือสตรีลาวอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีในไทยให้ปลอดภัยจากขบวนการค้ามนุษย์ได้ ในขณะที่ฝ่าย สปป.ลาวได้ตรากฎหมายด้านการค้ามนุษย์แล้ว และพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการขจัดปัญหา ดังกล่าวให้หมดไป
- สปป.ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Land Locked) จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศให้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงจีนและอินเดียเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน และลุ่มน้ำโขง (Land Linked) ตามแนวคิด “Land Locked to Land Linked” ในการนี้ รัฐบาล สปป.ลาวได้อนุมัติให้สร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างจีน สปป.ลาว ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมทั้งเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเวียดนามด้วย นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังจะยกระดับการสร้างถนนให้สามารถรองรับน้ำหนักการขนส่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจของประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการผลิต การบริการ และการลงทุน
- แขวงจำปาสักตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว โดยอยู่ห่างจากกรุงเวียงจันทน์ ๖๑๐ กิโลเมตร ทิศเหนือติดกับแขวงสาละวัน ทิศใต้ติดกับกัมพูชา ทิศตะวันออกติดกับแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือ ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดอุบลราชธานีของไทย โดยเป็นแขวงเดียวทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ที่มีพื้นที่อยู่บนสองฝั่งแม่น้ำโขง แขวงจำปาสักมีทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความงดงามและศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ปราสาทวัดพู ณ เมืองปากเซ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ให้เป็นเมืองมรดกโลกแห่งที่สองของ สปป.ลาว ต่อจากเมืองหลวงพระบาง
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แขวงจำปาสักมียุทธศาสตร์การพัฒนา ๔ ด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนี้
- ด้านกสิกรรม ประกอบด้วยสาขาหลัก คือ การปลูกข้าวและการปลูกพืช โดยมีสินค้าหลัก คือ ข้าว กาแฟ เมล็ดผัก ผลไม้ และพืชไร่ต่าง ๆ
- ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วยการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
- ด้านการค้า การลงทุน และการบริการ แขวงจำปาสักมีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับจังหวัดอุบลราชธานีในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างกัน เช่น ความร่วมมือบริเวณชายแดน การค้าสินค้าเกษตร การจัดแสดงสินค้า เป็นต้น โดยมีนักลงทุนชาวไทยให้ความสนใจมาลงทุนในแขวงจำปาสักเป็นจำนวนมาก
- ด้านพลังงาน มีการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
การเดินทางไปประชุมทวิภาคี ณ สปป.ลาว ในครั้งนี้ คณะผู้แทนกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย–ลาว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีโอกาสสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ไทย โดยการชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยและความก้าวหน้าของการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่ การจัดการเลือกตั้งทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันในหลายด้าน ซึ่งคณะผู้แทนฝ่ายไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับไทยในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ เช่น การรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาวลาวท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น
คำค้น ลาว, กลุ่มมิตรภาพ, การพัฒนา, ยุทธศาสตร์
เสาหลัก การเมืองและความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|