คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าพบ Ms. Angela Png ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของ The Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) และคณะ เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารงานของ The Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) และการบริหารงานของบริษัทท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ Port of Singapore Authority (PSA) สรุปสาระสำคัญดังนี้
๑. การบริหารงานของ The Maritime and Port Authority of Singapore (MPA)
The Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ ตามกฎหมาย มีลักษณะเป็นคณะกรรมการอิสระ (Statutory Board) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วยประธานและคณะกรรมการสรรหามาจากคณะกรรมการการเดินเรือทางทะเลแห่งชาติ (The National Maritime Board) และกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (Marine Department) มีตำแหน่งผู้ช่วยประธาน ๒ ตำแหน่ง คือ ผู้ช่วยประธานฝ่ายปฏิบัติการ และผู้ช่วยประธานฝ่ายพัฒนาองค์กร MPA ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแต่เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสิงคโปร์ โดยร่วมกับองค์การขนส่งทางน้ำและคณะกรรมการบริหารจัดการทางน้ำเป็นการร่วมทุนกับภาคเอกชนให้สามารถบริหารจัดการท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดนโยบายด้านการขนส่งทางทะเลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
MPA มิได้ดำเนินงานเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการท่าเรือเพียงอย่างเดียว แต่ดำเนินการทางทะเลอื่น ๆ ด้วย รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ MPA ได้บริหารจัดการท่าเรือ โดยมีหน่วยงานด้านกฎหมายและคณะกรรมการการเดินเรือทางทะเลแห่งชาติควบคุมดูแล
ภายหลังจากที่มีการก่อตั้ง MPA บริษัทท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ Port of Singapore Authority (PSA) ได้ให้ความสำคัญกับองค์กร MPA ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารงาน
ด้าน Terminals ของสิงคโปร์ ซึ่งมุ่งเน้นให้การสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเดินเรือทางทะเลท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก จึงได้แนะนำมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเดินเรือ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ หลายแห่ง ปรับปรุงระบบความปลอดภัยภายในเขตท่าเรือให้ดียิ่งขึ้น
MPA มีรายได้จากการเรียกเก็บภาษีและการออกใบอนุญาตการเดินเรือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจอดเทียบท่าของเรือสำราญ ดำเนินงานธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือ กองทะเบียนใบอนุญาต
การเดินเรือ ดูแลการนำร่องการเดินเรือ และพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือทางทะเล สิงคโปร์มีความโชคดีที่ประเทศอังกฤษได้วางรากฐานการบริหารจัดการท่าเรือไว้เป็นอย่างดี และตำแหน่งท่าเรือของ PSA สิงคโปร์เป็นที่ตั้งที่ดีซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต
๒. การบริหารงานของบริษัทท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority: PSA)
PSA มุ่งเน้นระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความถูกต้อง และรวดเร็วของการขนถ่ายสินค้า นอกจากนั้น ยังนำเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยมาใช้ ได้แก่ ระบบการเคลื่อนย้าย
ตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติ โดยเครนจะทำการยกตู้ตามลำดับที่จัดด้วยคอมพิวเตอร์โดยปราศจากการใช้แรงงานคน ขั้นตอนของการนำตู้วางลงบนรถขนส่งตู้จะใช้พนักงานบังคับเพื่อควบคุมทิศทาง เนื่องจากต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ PSA ได้นำระบบการควบคุมการวางตู้คอนเทนเนอร์แบบรวมศูนย์ โดยพนักงานผู้ควบคุมจะนั่งอยู่ในห้องบังคับการ และควบคุมผ่านกล้องวงจรปิด ส่งผลให้จำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลงและ
ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
PSA ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการท่าเรือสิงคโปร์ (Operator Terminal) ให้สามารถบริหารจัดการท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดนโยบายด้านการขนส่ง
ทางทะเลที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมีองค์กรเฉพาะเพื่อรับผิดชอบกิจการท่าเรือและพาณิชย์นาวี จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรให้สอดคล้องกับบทบาทของท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งต้องปรับเปลี่ยน
ไปตามพลวัตการขนส่งทางทะเลซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งทำให้ PSA อยู่ในฐานะเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฉะนั้น PSA ต้องการให้ MPA พัฒนาท่าเรือสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการขนถ่ายสินค้า (Transshipment Hub) ให้อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และมีจุดมุ่งหมายจะเป็นผู้นำการขนถ่ายสินค้าทางทะเลและเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนการขนถ่ายสินค้าทั่วโลกอย่างไร้พรมแดน และจะพัฒนา
ท่าเรือสิงคโปร์ให้ก้าวหน้าเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยที่สุด
PSA นั้นเป็นการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทของเอกชน ปัจจุบันท่าเรือ PSA ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับการดูแลของ MPA เนื่องจากได้แปรรูปเป็นบริษัทท่าเรือและการขนถ่ายสินค้าสิงคโปร์ เพราะรัฐบาล
เห็นว่าการบริหารจัดการท่าเรือขนถ่ายสินค้าโดยหน่วยงานภาคเอกชนจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ปัจจุบันท่าเรือของมาเลเซียบางแห่งได้ให้หน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการเช่นกัน
การที่ท่าเรือสิงคโปร์สามารถบริหารจัดการท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เนื่องจากมีนโยบายด้านการขนส่งทางทะเลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมของภาครัฐ มีองค์กรเฉพาะเพื่อรับผิดชอบกิจการท่าเรือและพาณิชย์นาวี ทำให้ PSA สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้สอดคล้องกับบทบาทของท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตการขนส่งทางทะเลซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง
ที่ทำให้ PSA สามารถบริหารท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ คือ การบริหารโดยปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศที่เน้นย้ำการมีภาพลักษณ์ที่โปร่งใส และไม่แทรกแซงการดำเนินงานของภาคธุรกิจไม่ว่าธุรกิจนั้นจะประกอบการโดยรัฐหรือเอกชน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
๑. ควรนำการบริหารจัดการระบบการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ทันสมัย มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือคลองเตย และท่าเรือแหลมฉบัง
ของประเทศไทย
๒. ควรสร้างเครือข่ายการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓. ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันทำธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าทางเรือมากกว่าจะเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจ
๔. โครงการก่อสร้างสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) บริเวณภาคใต้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกามีปัญหาด้านหินโสโครก โจรสลัดและปริมาณเรือที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี
๕. ควรกำหนดนโยบายการบริหารงานด้านการขนส่งทางเรือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม และรัฐเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) มากกว่าผู้ประกอบการ (Operator)
คำค้น สิงคโปร์ , คมนาคม , ท่าเรือสิงคโปร์ , MPA , PSA
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|