ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา มอบหมายให้นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และการกีฬา เดินทางไปเยือนและศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) ครั้งที่ ๕ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
๑. การศึกษาดูงานสถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซีย (Sukan Negara National Sport Institute of Malaysia หรือในภาษามาเลเซียเรียกว่า Institut Sukan Negara: ISN)
- Dr. Victor ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา และ Mr. AJ Wong ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์การกีฬาและผู้เชี่ยวชาญการฝึกสอนกีฬา บรรยายสรุปความเป็นมาและพันธกิจของหน่วยงาน ดังนี้ สถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียก่อตั้งและพัฒนามาจากศูนย์กีฬาแห่งชาติ (National Sport Center) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ภายใต้การกำกับดูแลของสภาการกีฬาแห่งชาติ (National Sports Council) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้แยกตัวออกเป็นหน่วยงานอิสระที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงเยาวชนและกีฬา (Ministry of Youth and Sports) สถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียมีพันธกิจในการพัฒนาความรู้ด้านเวชศาสตร์และวิทยาศาสตร์การกีฬา การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมของนักกีฬา พร้อมทั้งติดตาม ควบคุม และกำกับพัฒนาการของนักกีฬา การพัฒนากีฬาเพื่อมวลชนและการกีฬาเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองว่ามีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และเป็นเครือข่ายการกีฬาที่สำคัญในระดับนานาชาติ
- สถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซีย มีหน่วยงานหลัก ๒ หน่วย คือ ๑) เวชศาสตร์การกีฬา รับผิดชอบดูแลด้านคลินิกกีฬา กายภาพบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ ๒) วิทยาศาสตร์การกีฬา รับผิดชอบดูแลด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกาย ชีวกลศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา โภชนวิทยาการกีฬา การประเมินผลการกีฬา และการฝึกร่างกายเพื่อการกีฬาและเทคโนโลยีการกีฬา สถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียประกอบด้วยบุคลากรด้านต่าง ๆ อาทิ แพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักวิจัย นักวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย นักวิจัยและคัดกรองผู้มีอัจฉริยภาพด้านกีฬา ผู้เชี่ยวชาญด้านสารต้องห้าม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีจำนวนบุคลากรทั้งสิ้น ๓๓๐ คน
- ภายในสถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ อาทิ ๑) หอพักนักกีฬา ประมาณ ๓๐๐ ห้อง ทุกห้องเป็นห้องปรับอากาศและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน มีอาหารหลักบริการ ๓ มื้อ และอาหารว่าง ๒ มื้อ นอกจากนี้ นักกีฬายังได้รับเงินเดือนประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท ๒) คลินิกกีฬา มีห้องแพทย์ประจำการ ห้องเอ็กซเรย์และอัลตราซาวด์ ห้องปฐมพยาบาล ห้องกายภาพบำบัด สระน้ำขนาดเล็กที่ใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ นักกีฬาทุกคนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลและการบำบัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๓) หน่วยสรีรวิทยาการออกกำลังกาย มีอุปกรณ์การออกกำลังกายและห้องตรวจสารครบวงจร อาทิ เครื่องตรวจวัดระดับความแข็งแรงของร่างกายด้วยการวัดความสามารถในการนำออกซิเจนมาใช้ได้สูงสุด (Oxygen Consumption) เครื่องวิเคราะห์แก๊ส (Gas Analysis) สำหรับใช้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของหัวใจและปอด เครื่องตรวจสารคัดหลั่งจากเลือดและน้ำลายเพื่อหาสารภูมิต้านทาน ๔) หน่วยชีวกลศาสตร์ เป็นโรงยิมขนาดเล็กที่ใช้ศึกษากลไกและพัฒนาการเล่นกีฬา มีอุปกรณ์วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวและตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ
- ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์การกีฬากล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานว่า แม้ว่าสถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียจะแยกตัวออกเป็นหน่วยงานอิสระที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงเยาวชนและกีฬาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้วก็ตาม หากแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินงานทำให้เกิดปัญหาในเรื่องงบประมาณที่ยังคงอยู่ภายใต้การจัดสรรเงินสนับสนุนผ่านศูนย์กีฬาแห่งชาติโดยการพิจารณาจากสภาการกีฬาแห่งชาติ นอกจากนี้ การดำเนินงานของสถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียต้องเร่งพัฒนาบทบาทให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้รับผิดชอบภารกิจในการพัฒนากีฬาให้ครอบคลุมถึงเยาวชนมากยิ่งขึ้น
๒. การศึกษาดูงานสภาโอลิมปิกแห่งมาเลเซีย (Olympic Council of Malaysia)
- Datuk Dr. M. Jegathesan รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งมาเลเซีย บรรยายสรุปดังนี้ เมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมในเครือจักรภพได้จัดตั้ง สภาโอลิมปิกแห่งสหพันธ์มาลายา (Federation of Malaya Olympic Council: FMOC) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีบทบาทในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในโอกาสต่าง ๆ อาทิ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๒ ณ กรุงมะนิลา (พฤษภาคม ๒๔๙๗) กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ ๑๖ ณ นครเมลเบิร์น (ตุลาคม ๒๔๙๙) และกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ ณ กรุงเทพมหานคร (ธันวาคม ๒๕๐๒) จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาโอลิมปิกแห่งมาเลเซีย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗
- สภาโอลิมปิกแห่งมาเลเซียมีคณะกรรมการบริหาร จำนวน ๑๒ ตำแหน่ง ประกอบด้วย ประธานฯ รองประธานฯ ๑ ตำแหน่ง กรรมการฯ ๕ ตำแหน่ง เลขาธิการฯ ๑ ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ๒ ตำแหน่ง เหรัญญิก ๑ ตำแหน่ง และผู้ช่วยเหรัญญิก ๑ ตำแหน่ง และผู้แทนจากสมาคมกีฬาต่าง ๆ จำนวน ๕ ตำแหน่ง คณะกรรมการบริหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี สภาโอลิมปิกแห่งมาเลเซียได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเยาวชนและกีฬา และมีหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ เฉพาะการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) กีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games) เอเชียนเกมส์ (Asian Games) และซีเกมส์ (SEA Games) เท่านั้น
๓. การศึกษาดูงานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (Asian Football Confederation: AFC)
- Mr. Alex Soosay เลขาธิการสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย บรรยายสรุปดังนี้ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่กรุงมะนิลา ต่อมาได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาตั้งที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียเป็นองค์กรที่ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลในทวีปเอเชีย จัดการเกี่ยวกับทีมฟุตบอล เงินรางวัล กฎระเบียบ รวมถึงลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอล ทั้งนี้ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียเป็น ๑ ใน ๖ สมาคมที่จัดการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (ภาษาฝรั่งเศส: Fédération Internationale de Football Association: FIFA)
- การแข่งขันระหว่างสโมสรในสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียมีการแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ
ตามความสามารถและความพร้อมของแต่ละประเทศ คือ ๑) การแข่งขันเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก (AFC Champions League: ACL) คือ กลุ่มประเทศที่มีความสามารถด้านฟุตบอลระดับสูงร่วมแข่งขันโดยประเทศที่มีสิทธิเข้าร่วม ได้แก่ กาตาร์ เกาหลีใต้ คูเวต จีน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ญี่ปุ่น ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย อิหร่าน อิรัก และอุซเบกิสถาน ๒) การแข่งขันเอเอฟซีคัพ (AFC Cup) คือ กลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสามารถด้านฟุตบอลระดับกลางร่วมแข่งขันโดยประเทศที่มีสิทธิเข้าร่วม ได้แก่ จอร์แดน เติร์กเมนิสถาน บังกลาเทศ บาห์เรน มัลดีฟส์ มาเลเซีย เยเมน เลบานอน สิงคโปร์ อินเดีย โอมาน และฮ่องกง และ ๓) การแข่งขันเอเอฟซีเพรซิเดนต์คัพ (AFC President Cup) คือ กลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ระบบฟุตบอลอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยประเทศที่มีสิทธิเข้าร่วม ได้แก่ กวม กัมพูชา คีร์กีซสถาน ภูฏาน ติมอร์-เลสเต ไต้หวัน ทาจิกิสถาน เนปาล บรูไน ปากีสถาน ปาเลสไตน์ ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย มาเก๊า ศรีลังกา สปป.ลาว และอัฟกานิสถาน
๔. การศึกษาดูงานสภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซีย (Paralympic Council of Malaysia: PCM)
- Dato’ Zainal Abu Zarin ประธานสภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซีย และในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาคนพิการแห่งเอเชีย (Asian Paralympics Committee: APC) บรรยายดังนี้ สภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเยาวชนและกีฬา วัตถุประสงค์และพันธกิจที่สำคัญของสภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนากีฬาสำหรับคนพิการในมาเลเซีย โครงสร้างของสภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียเป็นรูปแบบคณะกรรมการบริหาร จำนวน ๑๐ ตำแหน่ง ประกอบด้วย ตำแหน่งประธานฯ จำนวน ๑ ตำแหน่ง รองประธานฯ จำนวน ๑ ตำแหน่ง เลขาธิการฯ จำนวน ๑ ตำแหน่ง กรรมการบริหาร จำนวน ๕ ตำแหน่ง เหรัญญิก จำนวน ๑ ตำแหน่ง และผู้จัดการทีม จำนวน ๑ ตำแหน่ง
- สภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียประสบปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคนิคให้กับนักกีฬา ขาดครูผู้ฝึกสอน ขาดผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และขาดแพทย์จำแนกประเภทความพิการของนักกีฬา อย่างไรก็ดี สภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียมีแนวคิดที่ส่งเสริมการวิจัย รวมถึงเพิ่มศักยภาพและประสบการณ์การแข่งขันกีฬาให้แก่นักกีฬาคนพิการให้มากขึ้น โดยจะจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคฤดูหนาว (Asian Winter Para Games) รวมถึงการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ (Paralympics Academy)
- ตามธรรมเนียมปฏิบัติประเทศที่เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันซีเกมส์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ด้วย หากแต่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๕ ที่ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพไม่พร้อมที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ดังนั้น มาเลเซียจึงรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแทนซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ ทั้งนี้ สภาการกีฬาคนพิการแห่งมาเลเซียได้กำหนดกีฬาไว้ ๑๐ ประเภท โดยมีสถาบันกีฬาแห่งชาติมาเลเซียเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเช่นเดียวกับนักกีฬาทั่วไป
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. สามารถนำแนวทางการจัดการและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของมาเลเซียมาพัฒนาสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาในไทยได้
๒. ส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของมาเลเซีย
๓. รับทราบความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ ๕
คำค้น วิทยาศาสตร์การกีฬา อาเซียนพาราเกมส์ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย
เสาหลัก เสาสังคมและวัฒนธรรม
|