สาระสังเขป
คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปหารือและศึกษาดูงานกิจการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๖ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมาธิการในประเด็น ดังนี้
๑. การหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร กับแขวงจำปาสัก
นายนิพอน เนียมประเสริฐ รองเจ้าแขวงจำปาสัก นายไขแก้ว ไขสวัสดี หัวหน้ากงสุลชายแดนแผนการต่างประเทศ แขวงจำปาสัก และนายบุนเทียน ทองแก้ว สมาชิกสภาแห่งชาติลาว พร้อมคณะให้การต้อนรับ พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และคณะ ในโอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ดังนี้
๑.๑ ข้อมูลทั่วไปของแขวงจำปาสัก
นายนิพอน เนียมประเสริฐ รองเจ้าแขวงจำปาสัก ได้อธิบายข้อมูลทั่วไปของแขวงจำปาสักโดยสังเขปว่า แขวงจำปาสักตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ สปป. ลาว มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๔๑๕ ตารางกิโลเมตรประกอบด้วย ๑๐ เมือง ๖๖๔ หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ คน (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖) แขวงจำปาสักมีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทยมีเขตแดนติดต่อทางด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และกัมพูชามีเขตแดนติดต่อทางด่านดงกะลอ จังหวัดสตึงแตรง
หน่วยงานภาครัฐแขวงจำปาสักได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมืองปากซอง ได้มีการส่งเสริมการทำเกษตรกรรม การปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ และการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากแขวงมีภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ
๑.๒ นโยบายของแขวงจำปาสัก (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖)
๑) แขวงจำปาสักมีนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของแขวงจำปาสักอยู่ที่ร้อยละ ๑๐.๓๐
๒) แขวงจำปาสักมีการจัดทำความตกลงเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย กับ สปป. ลาว ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าบริเวณชายแดนไทย-ลาว ณ บริเวณเขตการค้าชายแดนร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประกอบธุรกิจซื้อขาย ลงทุน และแลกเปลี่ยนสินค้า
๓) แขวงจำปาสักให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
๔) แขวงจำปาสักให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว และการโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
๑.๓ การส่งเสริมการเช่าที่ดินเพื่อการลงทุนทำประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมของ สปป. ลาว
นายนิพอน เนียมประเสริฐ รองเจ้าแขวงจำปาสัก ได้อธิบายประเด็นการส่งเสริมการเช่าที่ดินเพื่อการลงทุนทำประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมของ สปป. ลาว ไว้ ดังนี้
๑) โครงการส่งเสริมการลงทุนการเพาะปลูกยางพาราในแขวงจำปาสัก ขนาด ๒๑๘,๗๕๐ ไร่ รัฐบาลได้สั่งการให้ระงับการดำเนินโครงการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรขาดความรู้ในการปลูกและดูแลรักษาต้นยางพาราและขาดความเชี่ยวชาญในการกรีดยางพารา
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐแขวงจำปาสัก ได้มีการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น โดยการจัดสัมมนาให้ความรู้ในการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมที่ถูกต้อง
๒) การลงทุนทำประโยชน์เพื่อการปลูกพืช หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่จะดำเนินการปลูกพืชในพื้นที่นั้น ๆ จากนั้นคณะกรรมาธิการที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะนำเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลต่อไป แต่การที่จะอนุมัติให้ดำเนินการหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของรัฐบาลในการพิจารณาตัดสินใจ
๑.๔ ประเด็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แขวงจำปาสัก
สปป. ลาว และไทย ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น พ.ศ. ๒๕๔๔ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ไทยได้ให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้แก่ สปป. ลาว อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำมาสู่ผลสำเร็จในการสกัดกั้นการลักลอบการค้าและลำเลียงขนส่งยาเสพติด บริเวณชายแดนไทย ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยข้อมูล ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ชนิดของยาเสพติดที่มีการจับกุมบริเวณชายแดนแขวงจำปาสัก แบ่งเป็น สารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีน (ยาบ้า) คิดเป็นร้อยละ ๙๘ และอีกร้อยละ ๒ เป็นสารเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์ และยาอี) ถึงแม้ว่า ทางการไทย และ สปป. ลาวจะมีปฏิบัติการกวาดล้างกระบวนการค้ายาเสพติดอย่างเข้มข้น แต่แนวโน้มการแพร่ระบาดของยาเสพติดบริเวณชายแดนก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการดำเนินคดีความทางศาล เมื่อศาลพิจารณาอรรถคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ในกรณีที่ผู้ต้องหามีสารเสพติดไว้ในครอบครองเกิน ๕๐๐ กรัม ต้องโทษจำคุก ๕๐ ปี กรณีครอบครองเฮโรอีนเกิน ๕๐๐ กรัม ต้องโทษประหารชีวิต และกรณีครอบครองแอมเฟตามีนเกิน ๓,๐๐๐ กรัม ขึ้นไป ต้องโทษประหารชีวิต เช่นเดียวกัน ส่วนกรณีผู้เสพที่ครอบครองยาเสพติดไว้น้อยกว่า ปริมาณ ๐.๓ กรัม จะถูกส่งตัวไปบำบัดยาเสพติดยังสถานบำบัด อนึ่ง หากผู้เสพเคยได้รับโทษและพ้นโทษทางคดีแล้ว กลับมาเสพยาเสพติดอีก จะต้องโทษจำคุกเป็นเวลา ๒ ปี ๒ เดือน หรือ ๓ ปี
กรณีนักโทษคดียาเสพติดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ผู้ต้องหาสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาลดโทษได้ และศาลชั้นต้นเสนอประธานศาลสูงสุดให้วินิจฉัยอรรถคดีชี้ขาดว่าจะพิจารณายืนตามศาลชั้นต้นหรือพิจารณาลดโทษ
๒. การศึกษาดูงานไร่กาแฟของ บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด
คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางศึกษาดูงานไร่กาแฟของ บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการการลงทุนและการปลูกกาแฟใน สปป. ลาว โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นายไพโรจน์ โลกนิกขะพงศ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการฯ โดยได้นำคณะเยี่ยมชมแปลงกาแฟ และได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นของบริษัท
บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของไทย ได้เริ่มดำเนินกิจการลงทุนทางด้านการเพาะปลูกกาแฟ ใน สปป. ลาว มาเป็นเวลา ๕ ปี (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๖) โดยทำการศึกษา เรียนรู้ แก้ไขปัญหา และปรับปรุงด้านการผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพร่วมกับนักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีพื้นที่ในการเพาะปลูก จำนวน ๖ แปลง รวมพื้นที่สัมปทานทั้งสิ้น ๑๙,๓๐๐ ไร่ และพื้นที่ทับซ้อนกับเกษตรกรประมาณ ๔,๓๗๕ ไร่ โดยบริษัท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาโดยตลอด ทั้งนี้ มีกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานลงทุนใน สปป. ลาว ว่าหากผู้ประกอบการไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐสามารถเรียกกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ประกอบการได้รับสัมปทานกลับคืนได้
๒.๑ นโยบายการบริหารงานใน บริษัท ปากซอง ไฮแลนด์ จำกัด
๑) การยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยการให้เกษตรกรในพื้นที่ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทดูแลพื้นที่ในไร่กาแฟเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ไร่ ต่อ ๑ ครอบครัว
๒) การส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นโดยการส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming
๓) การผลิตกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ โดยการวางระบบน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิในไร่กาแฟ
๔) การพัฒนาสังคมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้ปลูกกาแฟเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
๕) การลงทุนด้านการเกษตรใน สปป. ลาว ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทชั้นนำของเอเชีย ที่ผลิตกาแฟอาราบิก้าที่มีคุณภาพสูง และได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล”
ทั้งนี้ ปัญหาจากการปลูกกาแฟที่สำคัญ คือ หนอนเจาะลำต้นกาแฟ ซึ่งได้ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการใช้ที่ดักแมลงและใส่สารล่อแมลง (น้ำมันพืช) เพื่อกำจัดแมลงไม่ให้สามารถเข้ามากัดกินต้นกาแฟ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. ไทยได้มีโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกการทำสวนยาง สนับสนุนโดยสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพันธุ์ดี และดำเนินกิจการให้การสงเคราะห์ การทำสวนยาง หรือการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน รวมทั้ง ได้ให้คำแนะนำทางวิชาการเพื่อให้มีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีความยินดีสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใน สปป. ลาว มีความรู้
ความเชี่ยวชาญในการเพาะปลูกยางให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน กับไทย ไทยควรสนับสนุน และส่งเสริม วิทยาการทางการเกษตรที่ไทยมีความเชี่ยวชาญให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง จะเกิดผลดีแก่ไทยในการส่งออกวัตถุดิบ และวิทยาการทางการเกษตรเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป
๒. กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทยมีกฎหมายว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน คือ “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑” ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับสนธิสัญญาเกี่ยวกับ
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ดังนั้น ไทยควรมีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านในการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและเป็นไปตามหลักสากลอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน
คำค้น : ชายแดน ยาเสพติด เกษตรกรรม สวนยาง ไร่กาแฟ
|