สรุปสาระสำคัญ
คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยือนและศึกษาดูงานด้านศักยภาพการค้าผ่านแดนและการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ (เส้นทางนครพนม – แขวงคำม่วน (Khammouan) – ฮาติงห์ (Hà Tĩnh) – โหยวอี้กวาน (Youyiguan)) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ข้อมูลทั่วไปจังหวัดฮาติงห์ เวียดนาม
คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมการของจังหวัดฮาติงห์ตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดฮาติงห์ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปได้ ดังนี้
๑.๑ ด้านภูมิศาสตร์
จังหวัดฮาติงห์ตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของเขตภาคกลางตอนบนของเวียดนาม ทิศเหนือติดกับจังหวัดเงอานห์ (Nghệ An) ทิศใต้ติดกับจังหวัดกวางบิงห์ (Quảng Bình) ทิศตะวันตกติดกับสปป.ลาว ทิศตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้มีชายฝั่งยาว ๑๓๗ กิโลเมตร มีประชากรราว ๑.๓ ล้านคน จังหวัดฮาติงห์อยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจตะวันตก - ตะวันออก ถือว่าเป็นประตูที่สั้นที่สุดไปสู่ทะเลจาก สปป.ลาว และยังเป็นประตูออกสู่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและเมียนมาอีกด้วย
๑.๒ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ
จังหวัดฮาติงห์มีแหล่งทรัพยากรธรณี ทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เป็นแหล่งเหมืองแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นฐานของอุตสาหกรรมเหล็กระดับชาติ ด้วยมีชายฝั่งทะเลที่ทอดยาวส่งผลให้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพประมงอย่างกว้างขวาง มีอ่าวหลายแห่งที่เหมาะกับการลงทุนก่อสร้างท่าเทียบเรือและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังมีหาดทรายที่สวยงาม เหมาะสมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ
๑.๓ ด้านเศรษฐกิจ
จังหวัดฮาติงห์มีเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ๒ แห่ง คือ
๑) เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง (Vung Ang) ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจเอนกประสงค์ เป็น ๑ ใน ๕ เขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลที่สำคัญของประเทศ ตั้งอยู่บนเส้นทางสัญจรเหนือ - ใต้และเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก สามารถเชื่อมต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในประเทศผ่านเส้นทางหมายเลข A1 เส้นทางโฮจิมินห์และเส้นทางรถไฟเหนือ - ใต้ และเข้าถึงเขตภาคกลางของ สปป.ลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยใช้เส้นทางหมายเลข R8 และ R12
ภายในเขตเศรษฐกิจนี้ มีท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง - เซินเยือง ซึ่งเปรียบเสมือนประตูสู่ทะเลที่สั้นที่สุดของ สปป.ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว ยังประกอบด้วยอุตสาหกรรมเสาหลักทางยุทธศาสตร์ของประทศ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรขนาดใหญ่ โรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
๒) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างประเทศเกาแตรว (Gau-Treo) เป็น ๑ ใน ๘ เขตเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญของเวียดนาม ตั้งอยู่ใจกลางเส้นทางจราจรเชื่อมโยงการขนส่งข้ามทวีปตะวันออก - ตะวันตก มีบทบาทสำคัญในการขยายความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นจุดผ่านการขนส่งใน ๙ จังหวัด ของ ๓ ประเทศ (ไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8A นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจดังกล่าว ยังเชื่อมต่อกับเส้นทางโฮจิมินห์และท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง - เซินเยือง โดยรัฐบาล สปป.ลาวและเวียดนามได้มีนโยบายที่จะจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจแนวชายแดนตามรูปแบบ ๒ ประเทศ ๑ นโยบาย เพื่อลดขั้นตอนทางศุลกากรลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
๑.๔ ด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุน
ฮาติงห์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุดตามข้อกำหนดของรัฐบาล โดยมีกลยุทธ์ ดังนี้
๑) มุ่งเน้นการส่งเสริมการปฏิรูปการปกครอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลไกการปกครองของหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการลงทุนที่โปร่งใส พัฒนากลยุทธ์ด้านต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภายนอก
๒) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ปรับโครงสร้างการลงทุน โครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต การให้บริการ ระบบธนาคาร โครงสร้างธุรกิจ ให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเติบโต
๓) มุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ - สังคม โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนสายหลักที่ใช้เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจและภูมิภาคต่าง ๆ ขณะเดียวกันมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง และเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาแตรว
๑.๕ ด้านการคมนาคมขนส่ง
มีเส้นทางจราจรหลักของประเทศพาดผ่าน สายเหนือ - ใต้ มีเส้นทางหลวงหมายเลข ๑ เส้นทาง โฮจิมินห์ มีแผนการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงและทางหลวงพิเศษ ผ่านจังหวัดฮาติงห์ มีทางหลวงหมายเลข 8A และ 12A เชื่อมต่อกับด่านชายแดนเกาแตรวและด่านจาลอ (Cha Lo) (จังหวัดกวางบิงห์) และเขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง
๑.๖ ด้านผังเมือง
จังหวัดฮาติงห์ได้รับการอนุมัติให้จ้างบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากสหรัฐอเมริกามาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมถึงปี ๒o๒๐ และวิสัยทัศน์ถึงปี ๒๐๕๐ มีการวางผังเมืองแบ่งโซนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โซนเศรษฐกิจทะเลและชายฝั่งทะเล โซนเศรษฐกิจศูนย์กลางบนทางหลวงหมายเลข 1A โซนเศรษฐกิจบนภูเขา โซนเศรษฐกิจตอนกลาง มีการสร้างเมืองต่าง ๆ บนทางหลวงหมายเลข 8A และตามเส้นทางหลวงโฮจิมินห์
โดยเป้าหมายในปี ๒๐๒๐ จังหวัดฮาติงห์จะพัฒนาไปสู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม
๒. การศึกษาดูงานศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดฮาติงห์
คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานสถานประกอบอุตสาหกรรมหลักและสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อทำการศึกษาถึงการพัฒนาและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจของจังหวัดฮาติงห์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๒.๑ โรงงานเหล็ก Formosa Ha Tinh Steel Corporation
จังหวัดฮาติงห์เป็นแหล่งเหมืองแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมเกือบร้อยละ ๕๐ ของปริมาณการผลิตแร่เหล็กของประเทศ มีโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่ ชื่อ Formosa Ha Tinh Steel Corporation โดยการร่วมทุนของบริษัท Formosa Plastics Group ของไต้หวัน และกลุ่มทุนของญี่ปุ่น มีพื้นที่ประกอบการประมาณ ๓๓ ตารางกิโลเมตร แบ่งการดำเนินการเป็นสองระยะ โดยในระยะแรกตั้งเป้ากำลังการผลิต ๗.๕ ล้านตันต่อปี มีอัตราการจ้างงาน ๑๐,๐๐๐ คน และในระยะที่สองเพิ่มกำลังการผลิตเป็น ๒๒ ล้านตันต่อปี มีอัตราการจ้างงานประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในด้านการลดอัตราภาษีนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลดอัตราภาษีโรงเรือน ตลอดจน การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว
โรงงานแห่งนี้เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และมีโรงไฟฟ้าเป็นของตนเองภายในโรงงาน ตลอดจนมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกภายในพื้นที่ประกอบการ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสองท่าเรือน้ำลึกหลักของจังหวัดฮาติงห์
ด้วยศักยภาพการผลิต และการพัฒนาโครงสร้างของบริษัท ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศ อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจให้กับกิจการดังกล่าว และสร้างงานอย่างมหาศาลให้กับจังหวัดฮาติงห์ และการได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภาครัฐ จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสูงในการพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทั้งสองประเทศ
๒.๒ โรงไฟฟ้าถ่านหิน
คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตจังหวัดฮาติงห์ ซึ่งมีแผนการสร้างทั้งสิ้น ๓ โครงการ โดยเป็นการลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ ๓ กลุ่ม ได้แก่ PetroVietnam, OneEnergy และ Samsung Construction & Trading Corporation ทั้งนี้ เมื่อ ๓ โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปริมาณรวม ๔,๒๙๐ เมกกะวัตต์ ซึ่งขณะที่คณะกรรมาธิการฯ ไปศึกษาดูงาน โครงการแรก ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท PetroVietnam ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ ๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์ อนึ่ง ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังการบรรยายโดยผู้บริหารของโรงไฟฟ้า ซึ่งให้ข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว ใช้เทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากดำเนินการครบทุกระยะ และเมื่อรวมกับกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนแล้ว จึงคาดการณ์ว่า ราคาค่าไฟฟ้าในเขตจังหวัดฮาติงห์จะมีราคาถูก และทุกครัวเรือนในจังหวัดฮาติงห์สามารถเข้าถึงครอบคลุมไปถึงพื้นที่ในบริเวณชายแดน สปป.ลาว
๒.๓ ท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญของจังหวัดฮาติงห์
จังหวัดฮาติงห์ มีท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญ จำนวน ๒ ท่า คือ
๑) ท่าเรือน้ำลึกเซินเยือง
ท่าเรือน้ำลึกเซินเยืองตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง ก่อสร้างและพัฒนาโดยบริษัท Formosa Ha Tinh Steel Corporation ของไต้หวัน โดยได้รับสัมปทานขุดแร่เหล็กในเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือพาณิชย์หวุงอ๋าง ท่าเรือนี้มีความลึกประมาณ ๓๕ เมตร โดยการขุดทรายในทะเลขึ้นมาถมที่ชายฝั่ง รวมทั้งมีเขื่อนกันคลื่นยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร
๒) ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างเป็นท่าเรือที่รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้ สปป.ลาวเข้าร่วมลงทุนด้วย ท่าเรือดังกล่าวจึงมีความสำคัญ เปรียบเสมือนประตูสู่ทะเลที่สั้นที่สุดของ สปป.ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย อย่างไรก็ดี ท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกประจำท่าเรืออย่างจำกัด ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ หากได้รับการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ย่อมมีศักยภาพสูง ซึ่ง สปป.ลาวอาจใช้เป็นท่าเรือทางเลือกในการขนส่งสินค้าเข้าและออกแทนการใช้ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย เนื่องจากมีระยะทางจากท่าเรือเข้าสู่ สปป.ลาวสั้นกว่ามาก โดยมีระยะทางจากด่านท่าแขกไปถึงท่าเรือหวุงอ๋าง เพียง ๓๓๐ กิโลเมตร
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
การพัฒนาประเทศไทยโดยการส่งเสริมให้มีการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศ มีการขยายตัว การค้าประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างสูง คือการค้าผ่านแดน กล่าวคือ การขนส่งสินค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยไปขายยังประเทศปลายทาง ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากแต่ละประเทศให้มีการขนส่งสินค้าผ่านแดนได้ การค้าผ่านแดนจากไทยไปบริเวณตอนใต้ของจีนในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีมูลค่าการค้าสูงถึง ๖๕,๗๖๕ ล้านบาท จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ
จากการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
๑. ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า และโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ อันจะส่งผลให้นครพนมเป็นศูนย์กลางของการส่งออกและนำเข้าสินค้าผ่านเส้นทาง R12 อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาเส้นทาง R12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต สปป.ลาว ซึ่งมีสภาพถนนทรุดโทรมเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง หากได้รับการพัฒนาแก้ไขจะทำให้เส้นทาง R12 มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ อันจะส่งผลให้ได้ประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ
๓. ควรส่งเสริมให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพิธีสารและพิธีการผ่านแดนในเส้นทาง R12 และควรส่งเสริมให้เกิดการเจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA) ให้มีผลในทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถใช้รถบรรทุกทะเบียนไทยส่งสินค้าเกษตรไปถึงชายแดนเวียดนาม - จีน ได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งยังเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและการส่งออก
๔. ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาเส้นทาง R12 เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าผ่านแดนประเภทอื่น ๆ นอกจากสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เชื่อมโยงอุตสาหกรรมในไทยกับอุตสาหกรรมในจีนตอนใต้ รวมถึงจีนตะวันออก
๕. ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของภูมิภาค เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
๖. จากการศึกษาดูงานใน สปป.ลาวและเวียดนาม โดยเฉพาะจังหวัดฮาติงห์ พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สปป.ลาวยังได้รับสัมปทานการเช่าท่าเรือ เพื่อขนส่งสินค้าเข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง หากเส้นทางการคมนาคมระหว่างสองประเทศแล้วเสร็จ ย่อมเป็นเส้นทาง การเข้าออกสู่ทะเลทางเลือกสำหรับ สปป.ลาว นอกเหนือจากการใช้ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย อันมีระยะการเดินทางที่ยาวกว่าหากไม่มีการวางแผนรับมือที่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อกิจการท่าเรือของไทย ดังนั้น หากไทยมีการศึกษาและเตรียมการอย่างเท่าทัน อาจเป็นโอกาสของไทยในการใช้เป็นเส้นทางเดินเรือทางเลือก
คำค้น การค้าผ่านแดน การขนส่ง
เสาหลัก เสาเศรษฐกิจ
|