คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เยี่ยมชมศึกษาดูงานสถานที่สำคัญที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบาหลี และการจัดการพุทธสถานบุโรพุทโธ
ณ จังหวัดบาหลี และเมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมร่วมประชุมหารือความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านการบริหารจัดการงานพิพิธภัณฑ์และการท่องเที่ยวเมืองยอกยาการ์ตา ตามคำเชิญของผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะอากุงราย (Agung Rai Museum of Art: ARMA) และคณะกรรมการการท่องเที่ยวของยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Tourism Board) โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มอบหมายให้ นายนรนิติ เศรษฐบุตร กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. สถานที่สำคัญที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบาหลี
ความศรัทธาในศาสนาฮินดูผสมผสานกับความเชื่อตามบรรพบุรุษในเรื่องพลังของธรรมชาติส่งผลให้งานสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ของบาหลีมีเอกลักษณ์โดดเด่น วัดหรือปุระ (Pura) และพระราชวังโบราณยังคงได้รับการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี ชาวบาหลีมีวิถีชีวิตผูกพันกับวัดและยังคงรักษาวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากศาสนาฮินดูอย่างเหนียวแน่น วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีสักการบูชาเทพเจ้าและยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณี การบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจึงคำนึงถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณและความเชื่อของชุมชน โดยมีวัดที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อาทิ
วัดอุลูวาตู (Pura (Luhur) Uluwatu) ตั้งอยู่บนเชิงเขาริมทะเลซึ่งสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ ๑๐ ความโดดเด่นของวัดคือ ทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงามและซุ้มประตูแยกซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะบาหลี โดยมีลักษณะเป็นยอดปราสาทผ่าครึ่ง สร้างขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของชาวบาหลี
วัดทีร์ตา เอมปุล (Pura Tirta Empul) สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ ๑๐-๑๔ ในสมัยราชวงศ์วาร์มาเดวา (Warmadewa Dynasty) มีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งในสมัยโบราณใช้ประกอบพิธีกรรมสำหรับกษัตริย์และพระราชวงศ์เท่านั้น ต่อมาได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการบูชา บ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์มีตาน้ำธรรมชาติ ซึ่งชาวบาหลีเชื่อว่าพระอินทร์ทรงเนรมิตขึ้นจึงนิยมลงไปประกอบพิธีชำระร่างกายให้บริสุทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งอัปมงคลหรือโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อของศาสนาฮินดู
วัดทานา ลอต (Pura Tanah Lot) เป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ สร้างโดยนักบวชชาวฮินดูตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ ๑๑ เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ลักษณะเด่นของวิหารแห่งนี้ คือ ตั้งอยู่บนผาหินที่ยื่นออกไปในทะเล ทำให้เกิดทัศนียภาพงดงามโดยเฉพาะช่วงเวลาน้ำขึ้นล้อมรอบ เป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์โดยมีชาวบาหลีเข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่องและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสัญลักษณ์ของเกาะ
วัดทามัน อายุน (Pura Taman Ayun) สร้างในศตวรรษที่ ๑๗ ในสมัยนั้นเป็นวัดหลวงสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งวี (Mengwi Dynasty) วัดนี้เป็นหนึ่งในวัด
ที่แสดงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของศิลปะบาหลี พื้นที่แบ่งออกเป็นสามลาน มีกำแพงกั้นเป็นแนวเขต
ลานชั้นนอกใช้สำหรับทำกิจกรรมในงานประเพณีหรืองานเฉลิมฉลอง ลานชั้นกลางใช้สำหรับจัดเตรียมพิธีบวงสรวงเทพเจ้า และลานชั้นในสุด เป็นเขตหวงห้ามเพราะถือเป็นที่สถิตของเทพเจ้าใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม คือ อาคารไม้ทรงเมรุหรืออาคารทรงปราสาทที่มีหลังคาซ้อนลดหลั่น สร้างอุทิศแด่เทพเจ้าที่ปกปักรักษาภูเขาหลายลูกในเกาะบาหลี หลังคาจะซ้อนเป็นชั้นด้วยจำนวนเลขคี่ตั้งแต่ ๓ ชั้น จนถึง ๑๑ ชั้น จำนวนชั้นของหลังคาแสดงถึงความสำคัญของเทพเจ้าที่สร้างถวายยิ่งสูงมากยิ่งมีความสำคัญมาก
๒. การบริหารจัดการงานพิพิธภัณฑ์
ในการประชุมทวิภาคีกับผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ศิลปะอากุง ราย (Agung Rai Museum of Art) คณะกรรมาธิการฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมบาหลี
พิพิธภัณฑ์ศิลปะอากุงรายเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ผู้ก่อตั้งคือนายอากุง ราย (Mr. Agung Rai)
ซึ่งชื่นชอบในงานศิลป์ ได้ซื้อภาพวาดของจิตรกรชาวบาหลี ชาวอินโดนีเซีย และชาวต่างชาติรวบรวมสะสมไว้ และได้เปิดแสดงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ มีรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของบาหลี การจัดหารายได้มาจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ การบริหารจัดการด้านพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ๑) อาคารสถาปัตยกรรมบาหลี จำนวน ๒ หลัง สำหรับใช้จัดแสดงนิทรรศการถาวรและชั่วคราว ภายในอาคารแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของศิลปะบาหลีในแต่ละยุคสมัย ผลงานชิ้นเอก ได้แก่ ผลงานของศิลปิน Batuan ช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐-๑๙๔๐ ผลงานของศิลปินชาวชวาในศตวรรษที่ ๑๙ Raden Saleh Syarif Bustaman ผลงานของอาจารย์ศิลปะชาวบาหลี และผลงานของศิลปินต่างชาติที่พำนักอาศัยในบาหลี ๒) ลานกลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งเน้นสื่อสารถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม เช่น การแสดงละคร การฟ้อนรํา การเล่นดนตรีพื้นเมือง การสอนศิลปะแบบบาหลี การทอผ้า การปรุงอาหาร เป็นต้น การจัดแสดงผลงานทางศิลปะอันทรงคุณค่าและการจัดแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าสนใจ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เข้าชมกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ รวมทั้งนักท่องเที่ยว
ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวบาหลี
๓. การจัดการพุทธสถานบุโรพุทโธ
คณะกรรมาธิการฯ ได้เยี่ยมชมพุทธสถานบุโรพุทโธและพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารกิจการบุโรพุทโธ
บุโรพุทโธตั้งอยู่ในเมืองมาเกอลัง (Magelang) จังหวัดชวากลาง เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ราวศตวรรษที่ ๗–๙ ตามแบบฉบับศิลปะคุปตะ รูปแบบฮินดู–ชวา โดยสร้างจากหินภูเขาไฟ มีลักษณะรูปทรงแบบพีระมิดขั้นบันได มีทั้งหมด ๑๐ ชั้น มหาสถูปตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานชั้นบนสุดตามลักษณะของเขาพระสุเมรุ การวางผังการก่อสร้างและองค์ประกอบทางศิลปกรรมประกอบด้วย ภาพสลักนูนต่ำ พระพุทธรูป สถูปเจดีย์ ล้วนเป็นสัญลักษณ์สะท้อนคติความเชื่อเรื่องจักรวาลในพุทธศาสนา ช่วงศตวรรษที่ ๑๙ บุโรพุทโธได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2398 ต่อมาองค์การยูเนสโกได้สนับสนุนด้านเงินทุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ก่อนประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ "กลุ่มวัดบรมพุทโธ" เมื่อปี พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๕ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย
แต่เดิมบุโรพุทโธเป็นพุทธสถานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมโดยไม่มีการประกอบกิจกรรมทางศาสนา ต่อมารัฐบาลอินโดนีเซียฟื้นฟูหน้าที่ทางศาสนาโดยการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ประจำชาติสำหรับประกอบพิธีกรรมในวันวิสาขบูชา ในด้านการบริหารจัดการ องค์กรบริหารกิจการบุโรพุทโธ (PT. Taman Wisata Candi Borobudur: TWCB) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ สงวนรักษา บูรณปฏิสังขรณ์ รวมถึง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวทางมรดกโลกชั้นนำในการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ได้กำหนดเป้าหมายยกระดับบุโรพุทโธให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพ นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมส่วนใหญ่มีรูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม ดังนั้น การพัฒนาบุโรพุทโธจึงเน้นการสร้างคุณค่าทางศาสนาในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในอินโดนีเซียโดยมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปี เช่น การจัดริ้วขบวนผู้ร่วมแสวงบุญ กิจกรรมการบริจาคทาน การเจริญจิตภาวนา การจัดพิธีลอยโคมในเวลากลางคืน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเน้นการเชื่อมโยงกับชุมชน โดยให้ชุมชนได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การจัดตลาดนัดสินค้าอุปโภคบริโภค การจําหน่ายของฝาก สินค้าที่ระลึกท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจในแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในท้องถิ่นของตน อันนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการรักษาทำนุบำรุงให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
๔. การท่องเที่ยวเมืองยอกยาการ์ตา
คณะกรรมาธิการฯ นําโดย พลเอก กิตติพงษ์ เกษโกวิท กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ เข้าร่วมประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวกับคณะกรรมการการท่องเที่ยวของยอกยาการ์ตา
ยอกยาการ์ตาคือศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมชวาและเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวแถบตอนกลางของเกาะชวาซึ่งมีแหล่งมรดกโลกคือกลุ่มวัดบุโรพุทโธและกลุ่มวัดพรัมบานัน (Prambanan Temple Compounds) นอกจากนั้น ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ใกล้เคียงจนสามารถผลักดันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น
- Kulon Progo เป็นเขตภูเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และความงดงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ
- Gunung Kidul โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่น
ไว้เป็นอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่ของสํานักวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้จัดฝึกอบรมภาษาอังกฤษและการให้บริการนักท่องเที่ยวแก่คนในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว
- Bantul เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประกอบด้วยหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา หมู่บ้านบาติก หมู่บ้านการเกษตร นอกจากนั้น ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างหาดปารังตรีตีส (Parangtritis Beach) ซึ่งโดดเด่นด้วยหาดทรายสีดําอันเกิดจากเถ้าถ่านของภูเขาไฟเมอราปี
ยอกยาการ์ตาได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับการบริการด้านการท่องเที่ยว มีโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ เพื่อตอบสนองต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้ง รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ในการนี้ คณะกรรมการการท่องเที่ยวของยอกยาการ์ตาหวังว่าจะมีการเปิดเส้นทางบินตรงจากไทยมายังยอกยาการ์ตาเพื่อเพิ่มโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ
๑. รัฐบาลควรส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่สามารถสร้างคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว และรัฐบาลควรเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้มีความโดดเด่นจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ปลุกจิตสำนึกของชุมชนให้รู้ถึงคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของท้องถิ่น/ชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว
๒. รัฐบาลควรมีนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เชิงรุกรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน ในส่วนของพิพิธภัณฑ์เอกชน รัฐควรให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การให้เงินช่วยเหลือ การลดหย่อนภาษี เป็นต้น
๓. พิพิธภัณฑ์ควรจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อดึงดูดผู้เข้าชมทุกกลุ่มทุกวัย เช่น การจัดนิทรรศการถาวรและชั่วคราว การแสดงทางวัฒนธรรม การบรรยายให้ความรู้ การจัดสัมมนา การจัดค่ายเยาวชน การจัดกิจกรรมในวันสําคัญ เป็นต้น และควรสร้างเครือข่ายระหว่างพิพิธภัณฑ์กับพิพิธภัณฑ์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ รวมถึง สร้างความร่วมมือกับสถานศึกษาและองค์กรภายนอกต่าง ๆ
๔. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรเรียนรู้ และส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการปกป้อง ดูแล ทำนุบำรุงโบราณสถานในพระพุทธศาสนาบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์
คำสำคัญ วัดในบาหลี พิพิธภัณฑ์ศิลปะอากุงราย บุโรพุทโธ การท่องเที่ยวเมืองยอกยาการ์ตา
เสาหลัก สังคมและวัฒนธรรม
|