ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา เดินทางไปเยือนและศึกษาดูงานด้านการส่งเสริม
และพัฒนาการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ ๕-๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี นายพีระพนธ์ ประยูรวงษ์ กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองเดนปาซาร์ และนายสานิตย์ ยืนนาน รองกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การเมืองและการปกครอง
- อินโดนีเซียปกครองระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
และหัวหน้าฝ่ายบริหาร รวมทั้งเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี
โดยอินโดนีเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑ เขตนครหลวงพิเศษ คือ กรุงจาการ์ตา (Jakarta) ๒ เขตปกครองพิเศษ คือ บันดาอาเจะฮ์ (Banda Aceh) และยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) และ ๓๑ จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีเมืองหลวงหรือเมืองหลัก อาทิ จังหวัดชวาตะวันออก (Jawa Timur) มีเมืองหลวง คือ ซูราบายา (Surabaya) จังหวัดบาหลี (Bali) มีเมืองหลวง คือ เดนปาซาร์ (Denpasar) จังหวัดชวาตะวันตก (Jawa Barat) มีเมืองหลวง คือ บันดุง (Bandung) เป็นต้น
- รัฐสภาอินโดนีเซียเป็นระบบสภาเดี่ยว (Unicameral System) เรียกว่า สภาที่ปรึกษาประชาชน (The People’s Consultative Assembly หรือในภาษาอินโดนีเซีย คือ Majelis Permusyawaratan Rakyat: MPR) ประกอบด้วยสมาชิก ๒ ส่วน คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (The People’s Representative Council หรือในภาษาอินโดนีเซีย คือ Dewan Perwakilan Rakyat: DPR) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภูมิภาค (The Council of Representatives of the Regions หรือในภาษาอินโดนีเซีย คือ Dewan Perwakilan Daerah : DPD) ตามรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย สภาที่ปรึกษาประชาชนมีอำนาจในการแก้ไขและตรารัฐธรรมนูญ แต่งตั้งและถอดถอนตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ทั้งนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภูมิภาคจะทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นสภาที่ปรึกษาประชาชนเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมายหรือพิจารณากฎหมายโดยตรง แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภูมิภาคสามารถเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับส่วนภูมิภาคได้ อาทิ การกระจายอำนาจ สิทธิการปกครองตนเอง การยุบ/รวมจังหวัด การพัฒนาพื้นที่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
๒. นโยบายด้านความมั่นคง
- อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับความมั่นคงภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้าน
การก่อการร้าย โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายลดแนวความคิดนิยมความรุนแรงโดยมีองค์กรต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesia National Counter Terrorism Agency หรือคำย่อในภาษาอินโดนีเซีย คือ BNPT) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มหัวรุนแรง
- ปี ๒๕๕๕ รัฐบาลเปิดศูนย์รักษาสันติภาพและความมั่นคง (Peacekeeping Training Center) ที่เมืองโบกอร์ เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาและฝึกร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การจัดการภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้ อินโดนีเซียดำเนินนโยบายการป้องกันการสร้างความแตกแยกทางศาสนาโดยได้ประกาศห้ามเผยแพร่และทำกิจกรรมของกลุ่มอะห์มาดียะห์ (Ahmadiyah) โดยเฉพาะในชวาตะวันออก ชวาตะวันตก และสุลาเวสี รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส แห่งอินโดนีเซีย (Islamic State of Indonesia หรือคำย่อในภาษาอินโดนีเซีย คือ NII) ที่มีแนวคิดเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลาม สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านความมั่นคงกับไทย อินโดนีเซียสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลและเป็นสื่อกลางในการอธิบายปัญหาให้กับประเทศมุสลิมอื่น ๆ ในองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC)
๓. นโยบายด้านการต่างประเทศ
- ในระดับพหุภาคีอินโดนีเซียดำเนินนโยบายการทูตรอบด้าน (All Direction Foreign Policy) ที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเสริมสร้างพลวัตที่สมดุล (Dynamic Equilibrium) นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) นโยบายการทูตภูมิภาค (Regional Diplomacy) รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของอินโดนีเซียทั้งในระดับอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ
- ในระดับทวิภาคีอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เน้นการใช้กลไกทวิภาคีในกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ
- นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีบทบาทนำในอาเซียนในการแก้ไขข้อขัดแย้งในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก อาทิ การส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมา ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการและส่งเสริมประเด็นข้ามชาติต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
๔. นโยบายด้านเศรษฐกิจ
- ตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปี ๒๕๕๔ – ๒๕๖๔ (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development: MP3 EI) มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีความก้าวหน้า การกระจายตลาดไปในภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขกฎระเบียบด้านการลงทุน การออกมาตรการด้านภาษีเพื่อเอื้อและจูงใจนักลงทุนต่างชาติ และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตภายในเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ด้านพลังงาน และการท่องเที่ยว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลกภายในปี ๒๕๖๘ และติดอันดับ ๑ ใน ๖ ของโลกภายในปี ๒๕๙๓
- ปี ๒๕๕๖ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้วยการลดภาษีให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การยกเว้นหรือลดอัตราภาษีเงินได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (Tax Holidays) รวมถึงการปรับแก้การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย (Negative Investment List หรือคำย่อในภาษาอินโดนีเซียคือ DNI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลหะหนัก น้ำมันและปิโตรเคมี และพลังงานทดแทน ทั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุนในโครงการท่อก๊าซ East-West Java กับบริษัท Pertamina ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย
๕. การท่องเที่ยว
- อินโดนีเซียมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สวยงามและได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลก อาทิ โบโรบูดูร์ (Borobudur) หรือบุโรพุทโธ ศาสนสถานสำคัญของศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ใหญ่ที่สุดในโลก วิหารปรัมบานัน (Candi Prambanan) หรือวัดพรามนันต์ ศาสนสถานสำคัญของศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม อาทิ พระราชวังสุลต่าน (Sultan Palace หรือ Kraton Ngayogyakarta) ที่มีสถาปัตยกรรมแบบชวาผสมผสานกับดัชต์ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสุลต่านยอกยาการ์ตา ปุระทานาห์ลอต (Pura Tanah Lot) หรือวิหารทานาล็อต สร้างขึ้นบนโขดหินตั้งอยู่กลางทะเลเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าและปีศาจแห่งท้องทะเล เป็นต้น
- สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ เกาะบาหลี จากสถิติในปี ๒๕๕๖ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมายังเกาะบาหลีจำนวน ๓.๓ ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยว
ชาวต่างประเทศที่เดินทางมามากที่สุด ๕ อันดับแรก คือ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้
และสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวในเกาะบาหลีประสบปัญหาบางประการ อาทิ ท่าอากาศยานเกาะบาหลีมีขนาดเล็กและไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ รวมถึงการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทั้งทางด้านการคมนาคมและการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวขาดการพัฒนาและไม่ครอบคลุม
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอินโดนีเซียมีการจัดระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไม่มีการตั้งร้านค้าหรือร้านจำหน่ายของที่ระลึกในบริเวณโบราณสถาน ทำให้สภาพภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยวในอินโดนีเซียคงความสวยงาม ดังนั้น ควรนำแนวทางการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานมาเป็นต้นแบบในการจัดการอย่างจริงจัง โดยอาศัยอำนาจและบังคับใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
๒. เกาะบาหลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง มีการจัดระเบียบชายหาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การจัดระเบียบร้านค้า การไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเกาะภูเก็ตของไทย จะเห็นได้ว่ามีการบุกรุกพื้นที่จากผู้ประกอบการโรงแรม บ้านเรือนประชาชน และร้านค้าต่าง ๆ จนทำให้เกิดสภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น ควรเร่งแก้ไขปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของชายหาด เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบในเชิงทำเลที่ตั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้กับไทยอย่างยั่งยืน
คำค้น การเมืองการปกครอง ความมั่นคง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เกาะบาหลี บุโรพุทโธ
เสาหลัก สังคมและวัฒนธรรม
|