คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการการจราจร ณ บริษัท Networld Events Structure Management สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีผู้บริหารของบริษัทให้การต้อนรับและได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน สรุปสาระสำคัญดังนี้
สิงคโปร์ได้มีนโยบายในการควบคุมปริมาณรถยนต์ เพื่อลดความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนน โดยการจัดเก็บค่าผ่านทางบริเวณต่าง ๆ ตามความแออัดของประชากรและเขตธุรกิจ โดยเฉพาะแหล่งชอปปิงบริเวณถนนออร์ชาร์ด (Orchard Shopping Street) รวมถึงการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่สูง (ร้อยละ ๕๐ ของราคาขายสุดท้าย) และการจัดเก็บค่าจอดรถยนต์ในอัตราที่สูง สำหรับการจัดเก็บค่าจอดรถยนต์ได้เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อควบคุมการจอดรถยนต์ของผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการประเมินตนเองและเป็นเงื่อนไขของประชาชนในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ กฎหมายภายในของสิงคโปร์ยังมีความเข้มงวดและมีบทลงโทษอย่างจริงจัง เช่น ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรจะมีกล้องบันทึกภาพการฝ่าฝืน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งใบสั่งค่าปรับทางไปรษณีย์ให้ผู้ฝ่าฝืนมาเสียค่าปรับเป็นเงินประมาณ ๗๐ ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD)
ระบบขนส่งสาธารณะของสิงคโปร์เป็นระบบที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยมีเครือข่ายรถไฟแบบต่างๆ กระจายครอบคลุมเขตตัวเมือง เรียกว่าระบบ MRT (Mass Rapid Transit) และมีเครือข่ายรถโดยสารประจำทางให้บริการครอบคลุมในส่วนที่เหลือ ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางตามป้ายและมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะเวลาและช่วงเวลาเดินทาง ประมาณ ๕ ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) โดยจะจ่ายค่าโดยสารด้วยเงินสดหรือบัตร EZ-Link ก็ได้ ในกรณีจ่ายด้วยเงินสดผู้ใช้บริการจะต้องเตรียมเงินให้พร้อมชำระที่ตู้รับชำระเงินอัตโนมัติตรงหน้าประตูทางเข้า และจะไม่มีการทอนเงินคืนให้ หรือในกรณีจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร EZ-Link ผู้โดยสารจะต้องแตะบัตรตอนขึ้นและแตะบัตรตอนลงจากรถโดยสารประจำทาง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีรถแท็กซี่ให้บริการ โดยจัดเก็บค่าโดยสารราคาเริ่มต้นที่ ๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) และจัดเก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑.๕ ถึง ๒ ดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) ทั้งนี้ ตามแต่ช่วงเวลาที่ใช้บริการ ซึ่งช่วงเวลาตอนเย็นถึงกลางคืนจะมีค่าโดยสารแพงที่สุด แต่ในกรณีที่มีการขับผ่านย่านธุรกิจจะต้องจ่ายค่าผ่านทางตามสถานที่ดังกล่าวด้วย
การจัดเก็บค่าผ่านทางเข้าเมืองของสิงคโปร์เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งในขณะนั้นสิงคโปร์ยังไม่มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และมีรถประจำทางสภาพไม่ดี โดยใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางที่เรียกว่า Area Licensing Scheme หรือ ALS โดยคนขับรถยนต์จะต้องซื้อใบอนุญาตเข้าพื้นที่ก่อนและติดใบอนุญาตดังกล่าวบริเวณหน้ากระจกรถยนต์ ต่อมาในปี ๒๕๔๑ สิงคโปร์ได้เปลี่ยนการจัดเก็บค่าผ่านทางเข้าเมืองมาใช้ระบบ Electronic Road Pricing หรือ ERP ซึ่งได้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ที่บริเวณป้าย ERP เพื่อเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติโดยไม่ต้องลงไปซื้อใบอนุญาต และรถยนต์ทุกคันจะต้องติดกล่องบริเวณด้านหน้าขวามือ รวมถึงจะต้องเติมเงินไว้ในบัตรเงินสดเสมอ ในกรณีที่ขับรถยนต์ผ่านบริเวณที่เสียค่าบริการในย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญเครื่องตัดเงินอัตโนมัติจะทำการตัดเงินจากกล่องดังกล่าวในทันที สำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้เติมเงินไว้ กล้องบันทึกภาพที่ติดอยู่ที่เครื่องตัดเงินอัตโนมัติจะทำการบันทึกหมายเลขทะเบียน และจะส่งใบเรียกเก็บเงินไปที่บ้านของผู้ขับรถยนต์เพื่อให้ไปเสียค่าปรับ
บริษัท Net World Events Structure Management เป็นบริษัทขนส่งที่ดำเนินงานในระบบเครือข่ายร่วมกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีการให้บริการขนส่งด้วยรถยนต์ที่มีคุณภาพ เช่น รถ Minivan รถ MPV รถโค้ช และรถหรู เป็นต้น รวมถึงบริษัทมีการบริหารจัดการด้านการคมนาคมขนส่งและการจราจรขององค์กรให้สอดคล้องกับกฎหมายและกติกาของสิงคโปร์เป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นของภาษาต่าง ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าในทุกระดับ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. แนวทางการบริหารจัดการการจราจรของสิงคโปร์สามารถแก้ไขปัญหาความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนนได้ดี ดังนั้น ไทยควรนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้
๒. ไทยควรขยายเส้นทางรถโดยสารปรับอากาศ NGV เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ และเป็นการยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชนให้ดีขึ้น
๓. สิงคโปร์ได้มีการบริหารจัดการทางลอดอุโมงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำคัญ ๆ ในย่านห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ไทยควรนำแนวทางการบริหารจัดการทางลอดอุโมงค์ของสิงคโปร์มาบริหารจัดการทางลอดอุโมงค์ของไทยโดยเฉพาะพื้นที่เมืองสำคัญต่าง ๆ
คำค้น สิงคโปร์ คมนาคม การจราจร การขนส่ง รถโดยสารประจำทาง
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|