๑. ข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรของสิงคโปร์
สิงคโปร์มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียงร้อยละ ๓ จากพื้นที่ของประเทศ ๗๐๑ ตารางกิโลเมตร ทำให้มีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น สินค้าเกษตรทุกชนิดต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก อีกทั้ง สิงคโปร์ก็ไม่มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงเลย แม้ว่าประเทศจะเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเล ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของสิงคโปร์มีรายละเอียดดังนี้
๑) ไข่ไก่ นำเข้าจากมาเลเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
๒) อาหารทะเล ส่วนใหญ่นำเข้าจากมาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และไทย
๓) ผักสด นำเข้าจากมาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ไทย และเวียดนาม
๔) เนื้อสัตว์ ไม่มีการผลิตภายในประเทศ นำเข้าจากบราซิล มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย
๒. การควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรของหน่วยงาน Agri-Food and Veterinary Authority of Singapore หรือ AVA
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรของหน่วยงาน AVA ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development) สรุปสาระสำคัญดังนี้
๒.๑ วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพในการบริการที่เป็นเลิศ และมุ่งมั่นต่อความเป็นอยู่ของประเทศชาติ
๒.๒ ภารกิจ
๑) กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าและการจำหน่ายสินค้าอาหาร พืช และสัตว์มีชีวิต
๒) ควบคุมตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
๓) นำภาคเอกชนเดินทางไปสำรวจแหล่งผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานในต่างประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลให้แก่นักธุรกิจชาวสิงคโปร์เพื่อประกอบการพิจารณานำเข้าหรือลงทุน
๒.๓ หลักเกณฑ์และการดำเนินการด้านความปลอดภัยของอาหาร
๑) การตรวจสอบ และออกใบอนุญาตให้แก่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิต
๒) การออกหมายเลขทะเบียนฟาร์ม หรือโรงงานให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบ
๓) การตรวจสอบสินค้านำเข้า ณ จุดนำเข้าสินค้า
๔) การตรวจตราสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือสินค้าที่เคยมีประวัติการละเมิดมาตรฐานความปลอดภัย
๒.๔ การควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าสินค้า
สินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสิงคโปร์จะต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดภายใต้ Sale of Food Act และ Food Regulations ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานสินค้าอาหารนำเข้าและการแสดงฉลาก โดยผู้นำเข้าสินค้าอาหารจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับ AVA จึงจะมีสิทธิขออนุญาตนำเข้าได้ และการนำเข้าทุกครั้งทำได้โดยผ่านระบบ Trade Net
๒.๕ ตัวอย่างการนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ
๑) สุกร
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศห้ามการเลี้ยงสุกรภายในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ดังนั้น จึงอนุญาตให้นำเข้าสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรแปรรูปได้ภายใต้ระเบียบที่กำหนด และการควบคุมของ AVA โดยสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นำเข้าจะต้องผลิตจากฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงฆ่า โรงชำแหละ และโรงงานแปรรูปที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก AVA แล้วเท่านั้น
สำหรับประเทศที่ AVA รับรองและอนุญาตให้นำเข้าสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากสุกรมายังสิงคโปร์ได้ ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา จีน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ไทยยังไม่สามารถส่งออกสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรแช่แข็งไปยังสิงคโปร์ได้ เนื่องจาก AVA ยังไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะ AVA จะต้องตรวจฟาร์มและรับรองว่าปลอดภัยจากโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mount Disease: FMD) รวมทั้งจะต้องได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties: OIE)แล้วเท่านั้น สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผ่านความร้อนสูงจากไทยทาง AVA อนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะฟาร์มที่ AVA รับรองเท่านั้น
๒) ผักและผลไม้
ผักและผลไม้ทุกชนิดที่นำเข้าสิงคโปร์จะต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบการนำเข้าภายใต้
The Food Regulations ที่มีข้อกำหนดเรื่องการติดป้ายแสดงแหล่งที่มาเพื่อที่จะทำให้ทราบได้ว่ามาจากฟาร์มใด และข้อกำหนดเรื่องสารตกค้าง หรือสารรักษา/ถนอมผลไม้ ซึ่ง AVA และ Food Control Department: FCD ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสินค้าขณะที่มีการนำเข้า และจัดให้มีจุดตรวจประจำ ณ Fruit & Vegetable Wholesale Center หากตรวจพบยาฆ่าแมลงหรือสารพิษตกค้างเกินอัตราส่วนที่กำหนดในผักและผลไม้ที่นำเข้า FCD จะสั่งให้ส่งสินค้ากลับประเทศผู้ส่งออก หรือสั่งให้ทำลายสินค้านั้นทันที พร้อมทั้งดำเนินคดีด้วย เนื่องจากสิงคโปร์ให้ความสำคัญและเข้มงวดอย่างมากในด้านสุขอนามัยสินค้าที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายและบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สิงคโปร์นำเข้าผักสดจากไทย ได้แก่ เผือก พริก ผักชี มะเขือ ขิง ข้าวโพดอ่อน คิดเป็นร้อยละ ๓ ของปริมาณการนำเข้ารวม และนำเข้าผลไม้จากไทย ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว ลำไย ฝรั่ง และทุเรียน คิดเป็นร้อยละ ๘ ของปริมาณการนำเข้ารวม โดยมีสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย และไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังสิงคโปร์
๓) ไข่ไก่
AVA เป็นหน่วยงานที่ควบคุมการนำเข้าไข่ไก่ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะจากโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบจาก AVA แล้วเท่านั้น และผู้ส่งออกจะต้องแนบใบรับรองจากหน่วยงานภายในประเทศที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุกครั้งที่ส่งออกมายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ไข่ไก่จากไทยยังไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าสิงคโปร์ได้
๓. การดำเนินงานของบริษัท NTUC Fairprice Co-operative Limited
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท NTUC Fairprice Co-operative Limited สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ National Trades Union Congress หรือ NTUC ได้จัดตั้งซุปเปอร์มาเก็ต (Supermarket) ของสหกรณ์ขึ้น โดยมีชื่อว่า “NTUC Welcome” ภายหลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลและผู้ใช้แรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง เนื่องจากราคาสินค้าและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อโดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล นอกจากนี้ Singapore Industrial Labour Organization หรือ SILO และ Pioneer Industries Employees Union หรือ PIEU ได้จัดตั้งสหกรณ์เพื่อดำเนินธุรกิจซุปเปอร์มาเก็ตเช่นเดียวกัน ต่อมาสหกรณ์ทั้งสองแห่งได้ควบรวมเป็น Singapore Employees Co-operative หรือ SEC ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. ๒๕๒๖ NTUC Welcome และ SEC ได้ควบรวมเป็นบริษัท NTUC Fairprice Co-operative Limited เนื่องจากสภาวะการแข่งขันสูงทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในประเทศได้และกลายเป็นซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำของสิงคโปร์
ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบซุปเปอร์มาเก็ตของบริษัทภายใต้ชื่อ Fairprice Supermarkets นำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีเครือข่ายมากกว่า ๑๐๐ แห่งทั่วประเทศ และมีสมาชิกมากกว่า ๔๕๐,๐๐๐ คน รวมถึงสามารถให้บริการประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคน โดยยึดหลัก “หัวใจของการดำเนินงานคือช่วยผู้มีรายได้น้อย” อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกแห่งแรกของสิงคโปร์ที่มีคลังสินค้าและระบบการกระจายสินค้าที่ทันสมัยเป็นของตนเองและดำเนินงานเอง ตลอดจนสามารถควบคุมและดำเนินการอย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ บริษัทได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าประเภทอาหารสดแห่งใหม่ที่มีเนื้อที่ ๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร และมีโรงเก็บสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิตามประเภทของสินค้าเพื่อส่งไปยังทุกสาขาในเครือข่าย ทั้งนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตของบริษัทจะได้รับใบรับรองมาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร Hazard Analysis and Critical Control Point System: HACCP
นอกจากนี้ บริษัท NTUC Fairprice Co-operative Limited ได้ดำเนินโครงการเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ร่วมกับสหกรณ์ในจังหวัดลพบุรีและเพชรบูรณ์ในการปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษ (Organic) มากกว่า ๓๐ ชนิด ภายใต้ยี่ห้อ “Pasar Organic” เช่น ข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ คะน้า แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น โดยส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำด้านเทคโนโลยีการขนส่งการตรวจสอบ และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรจากระบบเกษตรพันธสัญญาเฉลี่ยปีละประมาณ ๓ ล้านเหรียญสิงคโปร์ และคาดว่าปริมาณการผลิตจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในสิงคโปร์หันมานิยมบริโภคผักและผลไม้ปลอดสารพิษมากขึ้น
๔. การดำเนินงานของสมาคมผู้นำเข้าและส่งออกผักและผลไม้สิงคโปร์ (Singapore Fruits and Vegetables Importers and Exporters Association: SFVA)
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมผู้นำเข้าและส่งออกผักและผลไม้สิงคโปร์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
สมาคมผู้นำเข้าและส่งออกผักและผลไม้ของสิงคโปร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยกลุ่มผู้นำเข้าผักและผลไม้ในประเทศ ช่วงแรกสมาคมมีสมาชิกเพียง ๑๗ คน และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนน Carpenter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดขายส่งของสิงคโปร์ ต่อมาผู้นำเข้าและส่งออกผักและผลไม้หลายแห่งได้รวมตัวกันเพิ่มขึ้นทำให้มีสมาชิกมากกว่า ๕๐ คน และย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ใน Pasir Panjang Wholesale Centre (PPWC) ซึ่งเป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมการค้าส่งผลไม้ ผัก ของดอง และของแห้ง
หน้าที่หลักของสมาคมฯ คือ การส่งเสริม สนับสนุน สร้างการรวมกลุ่มของสมาชิก และสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพ รวมถึงให้ความช่วยเหลือสมาชิก และเป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับสมาชิก ตลอดจนนำเสนอผักและผลไม้เพื่อจำหน่ายในสิงคโปร์ สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมหลายด้านเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกสามารถติดตามภาวะแนวโน้มตลาดสินค้าของสิงคโปร์ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าและส่งออกชาวต่างชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ กับตลาดต่างประเทศอยู่เสมอเพื่อประโยชน์ในการค้าขายสินค้าผักและผลไม้ เนื่องจากการบริโภคในประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เยี่ยมชมตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่มีสินค้าหลากหลายชนิดซึ่งนำเข้ามาจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศแถบเอเชีย ในการนำเข้าสินค้าจะขนส่งผ่านสามช่องทาง ได้แก่ ทางบก ทางเรือ และทางอากาศ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากไทยโดยรถบรรทุกผ่านมาเลเซียจะเป็นช่องทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด แต่ประสบปัญหาจากการที่มาเลเซียกำหนดโควตาในการนำเข้าผักและผลไม้แต่ละชนิดที่จะขนส่งผ่านมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีการนำเข้าสินค้าในส่วนที่เกินจากโควตาที่มาเลเซียกำหนดเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๑๐-๒๐ และส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปยังสิงคโปร์
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าสิงคโปร์ต้องการที่จะนำเข้าผักและผลไม้จากไทยเพิ่มขึ้น หากมีการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) คุณภาพของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีการแก้ไขปัญหากรณีมาเลเซียกำหนดโควตา การนำเข้าผักและผลไม้ผ่านแดนไปยังสิงคโปร์ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้ผู้นำเข้าของสิงคโปร์พิจารณานำเข้าจากประเทศอื่นแทน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องควรหารือร่วมกับมาเลเซียในการยกเลิกหรือผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสินค้าที่ขนส่งผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง รักษาตลาด และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสิงคโปร์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด เนื่องจากการกำหนดโควตาสินค้าส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทย
๒. ความต้องการบริโภคผักและผลไม้สดของไทยในสิงคโปร์มีความหลากหลายและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ มะม่วง มะพร้าวอ่อน ฝรั่ง น้ำมังคุดพร้อมดื่ม โดยเฉพาะลำไยที่มีความต้องการสูง และไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ดังนั้น หากมีการควบคุมคุณภาพสินค้าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะทำให้สินค้าไทยสามารถรักษาตลาดและขยายการส่งออกสู่ตลาดสิงคโปร์ได้มากขึ้น
๓. ผักและผลไม้สดที่สิงคโปร์นำเข้าจะมีการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของผู้บริโภคในประเทศ หากพบว่ามีสารตกค้างหรือสารปนเปื้อนเกินกว่าปริมาณที่กำหนดจะถูกทำลายทันที และหากผู้นำเข้าได้รับการตักเตือนเกินกว่าสองครั้งจะถูกห้ามไม่ให้นำเข้าเป็นเวลา ๓-๖ เดือน อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้สดจากไทยมักพบสารปนเปื้อนเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นควรที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อรักษาตลาดและคุณภาพสินค้าให้สามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง
คำค้น สิงคโปร์ การเกษตร สมาคมผู้นำเข้าและส่งออกผักและผลไม้สิงคโปร์ AVA Agri-Food Veterinary Authority NTUC Fairprice SFVA
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|