สาระสังเขป
คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เดินทางศึกษาดูงานด้านความสัมพันธ์ทางการลงทุนและการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดสรุปสาระสำคัญดังนี้
๑. ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและ สปป.ลาว
๑.๑) ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สปป.ลาว ได้ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี รวมถึงมีการแก้ไขกฎหมายและมาตรการด้านภาษีให้เอื้อต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ ต่อปี อย่างไรก็ดี สปป.ลาว ยังคงประสบปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินกีบที่ไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาการขาดดุลการค้า การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย และปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ หนังดิบและหนังฟอก และสินค้านำเข้าที่สำคัญคือ เครื่องจักรกล รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สารเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และเครื่องอุปโภคและบริโภค
๑.๒) ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนและการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ไทยเป็นประเทศที่ลงทุนใน สปป.ลาว มากที่สุด โดยนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่จะลงทุนในด้านพลังงานไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มและหัตถกรรม ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคาร อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ และการขนส่งและโทรคมนาคม ในขณะที่ไทยมีนโยบายสนับสนุนสินค้านำเข้าด้านการเกษตรจาก สปป.ลาว อาทิ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (ASEAN Integration System of Preferences: AISP) และการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าในลักษณะOne Way Free Trade นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน อาทิ ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินกีบและเงินบาท ความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย-ลาว ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน อย่างไรก็ดี การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสปป.ลาวยังประสบปัญหาหลายด้านทั้งในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ปัญหาด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาวยังมีอุปสรรค เนื่องจาก สปป.ลาวยังไม่เปิดเสรีด้านการค้าโดยสมบูรณ์ โดยที่การนำเข้าและการส่งออกต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีใบอนุญาตต้องอาศัยการนำเข้าและส่งออกผ่านบริษัทที่มีใบอนุญาต ทำให้ค่าบริการและค่าขนส่งในการนำเข้าและส่งออกกลายเป็นต้นทุนส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยมีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้นำเข้าอื่น ๆ
๑.๓) ความเชื่อมโยงระหว่างไทย สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ สปป.ลาวกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงอาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างอินเดียและจีนเข้ามายังอาเซียน โดยมีเส้นทางที่สำคัญ ดังนี้
- เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก - ตะวันตก (เส้นทางหมายเลข ๙) เริ่มจากเขตเศรษฐกิจของเวียดนาม - แขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว - จังหวัดมุกดาหารของไทย (ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) และผ่านหลายจังหวัดจนไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก - อ่าวเมาะตะมะ
เมืองมะละแหม่ง เมียนมา - เชื่อมต่อไปยังอินเดียและภูมิภาคตะวันออกกลาง
- เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ - ใต้ (เส้นทาง R3E หรือ R3A) เส้นทางบกเชื่อมต่อระหว่าง
นครคุนหมิงของจีน - กรุงเทพฯ ส่วนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ที่เชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนามเข้าด้วยกัน แยกเป็นเส้นทางสายกลางจากกรุงเทพฯ - พนมเปญของกัมพูชา - เมืองวังเทาของเวียดนาม และเส้นทางสายเหนือจากกรุงเทพฯ ไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว - กัมพูชา - สิ้นสุดที่ตอนกลางของเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเลียบชายฝั่งด้านใต้เริ่มจากกรุงเทพฯ เลียบอ่าวไทยผ่านไปยังจังหวัดตราด - เกาะกง
ของกัมพูชา – สิ้นสุดที่เวียดนาม
๒. การศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด
๒.๑) วัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงาน เพื่อทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนและรับฟังความคิดเห็น
ในประเด็นหนี้สินของประชาชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความคิดเห็นจากหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่จะนำไปสู่การบูรณาการร่วมกัน
ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อความอยู่ดีกินดีและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาหนี้สินของประชาชนคือ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ยกตัวอย่าง สำหรับภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาต้นทุนการผลิตจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้องเลิกกิจการกะทันหันส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน สำหรับภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ไม่สามารถมีรายได้จากการทำการเกษตรได้ตามปกติ และสำหรับภาคครัวเรือนพบว่ามีการใช้จ่ายเกินความจำเป็น ประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งเงินกู้ยืมทั้งแหล่งเงินกู้ในระบบและแหล่งเงินกู้นอกระบบ โดยปัญหาหนี้สินของประชาชนที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ หนี้นอกระบบ สืบเนื่องจากการที่ประชาชนส่วนหนึ่งขาดความรู้และความเข้าใจหลักเกณฑ์และประเภทสินเชื่อของธนาคาร รวมถึงการไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ทำให้ประชาชนเลือกกู้เงินจากเจ้าหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติหลายเท่าตัวอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ การติดตามทวงหนี้ได้นำไปสู่การข่มขู่ กรรโชก และทำร้ายร่างกาย อันเป็นปัญหาสังคมที่สร้างความเดือดร้อนตามมา ลูกหนี้ที่วนเวียนในปัญหาหนี้นอกระบบเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ ลูกหนี้ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วประสบปัญหาจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้และไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มได้อีก ลูกหนี้ในระบบที่ใช้จ่ายเงินเกินตัวเกินความจำเป็นและไม่สามารถกู้เกินวงเงินได้อีก ลูกหนี้ธุรกิจที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้หรือติดเครดิตบูโร ลูกหนี้ที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบได้อย่างสิ้นเชิง เช่น ผู้ที่ทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวน เป็นต้น
๒.๒) แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จำเป็นต้องช่วยเหลือให้ลูกหนี้นอกระบบให้กลับเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลังได้ผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยมีธนาคารในเครือข่ายเข้าร่วมโครงการและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ประกอบด้วย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ประเภทหนี้บัตรเครดิต
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ธนาคารออมสิน ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ประเภททั่วไป
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย
๒.๓) หลั กเกณฑ์การพิจารณาโอนหนี้สำหรับลูกหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย
- ลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านการเจรจาหนี้และมีเงินต้นคงค้างไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
- วงเงินกู้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
- อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ ๑๒ ต่อปี ใน ๓ ปีแรก สำหรับธนาคารออมสินใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ ๐.๗๕ ต่อเดือนตลอดระยะเวลาการกู้
- ระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ไม่น้อยกว่า ๘ ปี เว้นแต่ผู้กู้สมัครใจทำสัญญากู้น้อยกว่า ๘ ปี
- วงเงินกู้ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท มีผู้ค้ำประกัน ๑ คน สำหรับวงเงินกู้ตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๑-๒๐๐,๐๐๐ บาท ต้องมีผู้ค้ำประกัน ๒ คน ทั้งนี้ ผู้ค้ำประกันต้องมีรายได้รวมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของวงเงินกู้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี กรณีที่ลูกหนี้นอกระบบที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
๑. ไทยและ สปป.ลาวจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะทางถนนเป็นเส้นทางการเดินทางและการขนส่งที่สำคัญ หากมี
การพัฒนาถนนให้มีมาตรฐานจะทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น
๒. หน่วยงานภาครัฐควรพิจารณาลดหย่อนกฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น
๓. สถาบันการเงินจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูแก่ลูกหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้ซ้ำซ้อนและกลับมาเป็นหนี้ใหม่อีก
๔. หน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมให้สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีวินัยในการใช้จ่ายและส่งเสริมการออม ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
๕. หน่วยงานภาครัฐควรรวมลูกหนี้ที่ค้างชำระทุกประเภทเป็นกลุ่มเดียว และให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นเจ้าหนี้รายเดียวโดยกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ระยะยาว
คำค้น สปป.ลาว, ปัญหาหนี้สิน, เงินกู้นอกระบบ, ยุทธศาสตร์, ความตกลง, การลงทุนและการค้า, เส้นทาง- ระเบียงเศรษฐกิจ
เสาหลัก เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
|