สาระสังเขป
คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๐ - วันจันทร์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๖ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. การเข้าเยี่ยมผู้แทนกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองเดนพาซาร์ พร้อมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางเข้าพบนายวรวิน ไวยโภคี ผู้แทนกงสุลกิตติมศักดิ์ ซึ่งได้ให้การต้อนรับและกล่าวสรุปข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเมืองเดนพาซาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนี้
๑.๑ สภาพปัจจุบันของเมืองเดนพาซาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
เดนพาซาร์เป็นเมืองในเขตการปกครองของจังหวัดบาหลี หากกล่าวในภาพรวมของจังหวัดบาหลี บาหลีคือหนึ่งในจำนวนเกาะกว่า ๑๗,๐๐๐ เกาะของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีฐานะเป็นจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นเกาะสุดท้ายทางฝั่งตะวันออกที่มีสภาพแวดล้อมเป็นแบบป่าฝนของเอเชีย มีพื้นที่เพียง ๕,๖๒๐ ตารางกิโลเมตร บริเวณที่กว้างที่สุดมีระยะทาง ๑๔๐ กิโลเมตรและบริเวณที่ยาวที่สุดมีระยะทางเพียง ๘๐ กิโลเมตรเท่านั้น แต่ภูมิประเทศของบาหลีกลับมีความหลากหลายมาก พื้นที่ทางตอนกลางมีภูเขาไฟเป็นจุดสูงที่สุดของเกาะและยังคุกรุ่นอยู่ คือ ภูเขาไฟกุหนุงอากุง (Gunung Agung) มีความสูงถึง ๓,๑๔๒ เมตร นอกจากภูเขาสูงแล้วยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมกับหาดทรายทอดยาวไปตามชายฝั่ง ทางตอนใต้เป็นแหล่งปลูกข้าวบนนาขั้นบันได และทางตอนเหนือปลูกกาแฟ เครื่องเทศ และต้นสลัก
บาหลีมีประชากรประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่ มีความรักและความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังบาหลีปีละนับล้านคน แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย การทำกสิกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวแบบขั้นบันได หรืออาชีพหัตถกรรมต่าง ๆ ศาสนาประจำถิ่นของชาวบาหลีคือศาสนาฮินดูที่เรียกว่า ฮินดูธรรม (Hindu Dharma) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชวา เป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาฮินดูแบบที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่กับศาสนาพุทธซึ่งแพร่หลายเข้ามาก่อนหน้า โดยหลักปฏิบัตินั้นได้มาจากปรัชญาอินเดีย ร่วมกับ
การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อท้องถิ่น การผสมผสานกันนี้เองทำให้ศาสนาฮินดูที่บาหลีแตกต่างจากศาสนาฮินดูที่อินเดียมาก ชาวบาหลีเชื่อในธรรมชาติว่ามีพลังและเชื่อในจิตวิญญาณว่าทุก ๆ สิ่งจะมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีความนับถือในบรรพบุรุษและวิญญาณของผู้ล่วงลับ ชาวบาหลีโดยส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู ร้อยละ ๙๓.๑๘ ชาวมุสลิมร้อยละ ๔.๗๙ ชาวคริสต์ร้อยละ ๑.๓๘ และชาวพุทธร้อยละ ๐.๖๔ โดยมีเชื้อชาติเป็นชาวบาหลีร้อยละ ๘๙ ที่เหลือเป็นชาวชวาและอื่น ๆ
บาหลีมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย แต่ชาวบาหลีที่มีฐานะไม่ดีจะให้บุตรหลานเรียนเพียงระดับมัธยมศึกษาและออกมาทำงานและเรียนเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบอาชีพตามที่ถนัดและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของบาหลีที่เน้นเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น เรียนทางด้านภาษาเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ เรียนทางด้านศิลปะการแสดงเพื่อเป็นนักแสดง และเรียนทางด้านศิลปหัตถกรรมเพื่อเป็นช่างหัตถกรรม เป็นต้น
๑.๒ ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ไทยมีความสัมพันธ์กับดินแดนที่เป็นอินโดนีเซียในปัจจุบันมาช้านานโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับชวาและมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอย่างลึกซึ้งทั้งทางวรรณคดี อาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องดนตรี เป็นต้น พระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ พระองค์ได้เคยเสด็จเยือนดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันกล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จฯ เยือน ๓ ครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยได้เสด็จฯ ไปกรุงจาการ์ตา เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก จังหวัดยอร์ค จาการ์ตาร์และจังหวัดบาหลี
ไทยและอินโดนีเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๓ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองดำเนินไปได้ด้วยดีมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับทวิภาคีและกรอบพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
๒.การศึกษาดูงานและประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถาบันพัฒนศิลป์ : INSTITUT SENI INDONESIA (ISI) DENPASAR
คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถาบันพัฒนศิลป์ : INSTITUT SENI INDONESIA (ISI) DENPASAR โดยมี MR. I GEDE ARYA SUGIARTHA : RECTOR OF ISI และคณะ ให้การต้อนรับโดยในการประชุมร่วมกันครั้งนี้ คณะผู้บริหารของสถาบันได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของสถาบัน ISI DENPASAR สรุปได้ดังนี้
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสถาบัน ISI DENPASAR
สถาบัน INSTITUT SENI INDONESIA (ISI) DENPASAR เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติอินโดนีเซีย แยกตัวออกจากสถาบันนาฏศิลป์ (Dance Academy) เดนพาซาร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่เมืองเดนพาซาร์ อินโดนีเซีย โดยเป็นการรวมตัวกันของสองสถาบัน ได้แก่ (๑) DENPASAR INDONESIAN ARTS COLLEGE (STSI) และ (๒) DENPASAR STUDY PROGRAM OF ART AND DESIGN (PSSRD) OF UDAYANA UNIVERSITY
สถาบันพัฒนศิลป์มีภารกิจในการรักษา พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของศิลปะ และคุณค่าทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดงานทางวิชาการ ความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ และนำเสนอผลงานด้านศิลปะในรูปแบบใหม่และสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันภายในประเทศ และส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม
การจัดการศึกษาของสถาบันมีทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรปริญญาบัตรซึ่งจัดการเรียนการสอน จำนวน ๒ คณะ ได้แก่
๑) คณะศิลปะการแสดง ประกอบด้วย ๔ สาขาวิชา ได้แก่ (๑) การเต้นรำ (๒) โปรแกรมการศึกษา Karawitan (๓) ละครรำและดนตรี และ (๔) การศึกษาศิลปะหุ่นกระบอก
สาขาการเต้นรำ ดนตรี ทัศนศิลป์ การร่ายรำและการแสดงต่าง ๆ นับว่าเป็นจุดเด่นของสถาบันซึ่งมีบทบาทสำคัญในสังคมของชาวบาหลีมาเป็นเวลานาน มีการร่ายรำเกี่ยวกับเรื่องรามายณะ มหาภารตะ เป็นต้น ซึ่งการร่ายรำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และสามารถชมได้ทั่วไปในบาหลี ได้แก่ ระบำเลกอง (Legong) ระบำบารอง (Barong & Rangda)
๒) คณะศิลปะและการออกแบบ ประกอบด้วย ๗ สาขาวิชา ได้แก่ (๑) วิจิตรศิลป์ (๒) การออกแบบตกแต่งภายใน (๓) ออกแบบนิเทศศิลป์ (๔) การถ่ายภาพ (๕) แฟชั่นการออกแบบ (๖) ศิลปหัตถกรรมศึกษา และ (๗) โทรทัศน์และภาพยนตร์
ในปีการศึกษา ๒๕๕๕-๒๕๕๖ มีบุคลากรทางการศึกษา ๒๑๗ คน และนักศึกษา ๑,๓๑๙ คน สถาบันได้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการพัฒนาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลาย ๆ มหาวิทยาลัยรวมถึงไทยด้วยมีนักศึกษาต่างชาติจำนวน ๖๕ คน โดยได้รับทุนการศึกษาของสถาบัน ๕๘ คน และออกค่าเล่าเรียนเอง ๗ คน ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้มาจาก ๒๐ กว่าประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บังกลาเทศ เบลเยียม เช็ก ฮังการี ญี่ปุ่น โปแลนด์ เซอร์เบีย สโลวาเกีย สเปน ยูเครน เวเนซุเอลา กรีซ แอฟริกาใต้ มาดากัสการ์ รัสเซีย บราซิล จีน และมีนักศึกษาจากไทย ๒๙ คน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต การรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษานั้นนักศึกษาต้องสมัครผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศที่นักศึกษาพำนักอยู่ และสถานเอกอัครราชทูตจะส่งข้อมูลของนักศึกษาถึงรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อไป
สถาบันพัฒนศิลป์ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งเรียนรู้ และการอนุรักษ์ คือศูนย์ศิลปะ (The Art Documentation Center ISI Denpasar) โดยมีการรวบรวมเครื่องดนตรีพื้นเมือง งานจิตรกรรมแบบพื้นเมืองและแบบร่วมสมัย หน้ากากและหุ่นตัวละครต่าง ๆ และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษา เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
จากการเดินทางไปศึกษาดูงานและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ เมืองเดนพาซาร์ อินโดนีเซียในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและเป็นแนวทางในการพัฒนา
การจัดการศึกษาของไทย โดยสรุปดังนี้
๑. การจัดการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาของอินโดนีเซียเน้นการขยายความรู้ การพัฒนาทักษะ การเตรียมนักเรียนสำหรับการศึกษาขั้นสูงเพื่อให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรเร่งดำเนินการสร้างภาพลักษณ์ของสถาบันอาชีวศึกษาและสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนต่อสายอาชีพ เพื่อจูงใจให้เด็กสนใจเข้าศึกษาต่อ
๒. อินโดนีเซียได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ในครอบครัวถือว่าเป็นการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งได้ปลูกฝังค่านิยมทางศาสนา วัฒนธรรม ศีลธรรม และทักษะ การศึกษาเช่นนี้เกิดขึ้นนอกระบบโรงเรียนแต่อยู่ในระบบการศึกษาซึ่งเป็นนโยบายของชาติโดยรวม และรัฐมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น ไทยโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญโดยเน้นให้เด็กและเยาวชนเกิดการศึกษาเรียนรู้เริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นสถาบันแรกที่ปลูกฝังค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม ศีลธรรม และทักษะการใช้ชีวิต
๓. จังหวัดบาหลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคเอเชียและยังคงรักษาอัตลักษณ์ความโดดเด่นได้เป็นอย่างดี อันได้แก่ ธรรมชาติอันงดงาม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาจกล่าวได้ว่าเป็น "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" โดยความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นเป็นฝ่ายผลักดัน และได้รับความร่วมมือจากนักธุรกิจ องค์การนอกภาครัฐ (Non- Governmental Organization หรือเอ็นจีโอ (NGO)) และประชาชน ดังนั้น ไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในท้องถิ่นจึงต้องตระหนักในการสร้างภาพลักษณ์โดยร่วมมือกันอย่างจริงจังในการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนในสังคม และศิลปวัฒนธรรม รวมถึง ประเพณีของท้องถิ่น
๔. อินโดนีเซียได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบของทุกระดับชั้น โดยเน้นการจัดหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทาง มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตเพื่อเป็นกำลังแรงงานให้มีทักษะความสามารถในเชิงปฏิบัติการสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ของประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องให้ความสำคัญและมีการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพในสาขาที่มีความขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นกำลังแรงงานมีทักษะความสามารถในเชิงปฏิบัติการสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
๕. ในพื้นที่จังหวัดบาหลีรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในทุกระดับและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา โดยได้ให้งบประมาณสนับสนุนแก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อจัดการศึกษาทั้งหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรปริญญาบัตร ซึ่งเน้นการจัดหลักสูตรเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ได้แก่ หลักสูตรศิลปะการแสดง เช่น ศิลปะการร่ายรำ หรือการแสดงดนตรีวงมโหรี และหลักสูตรศิลปหัตถกรรม เช่น การแกะสลัก การถ่ายภาพ นอกจากนี้สถาบันการศึกษาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสรับและให้ทุนแก่นักศึกษาได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเผยแพร่และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและนำไปสู่ความสามารถที่จะแข่งขันในระดับโลกได้ ดังนั้น ไทยซึ่งถือได้ว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักทั่วโลก จึงควรพัฒนาหลักสูตรศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศในแขนงต่าง ๆ สำหรับการศึกษาทุกระดับ และเน้นพัฒนาการจัดการศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษาในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยจัดหลักสูตรศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้บัณฑิตได้พัฒนาทักษะและสามารถประกอบอาชีพได้เมื่อสำเร็จการศึกษา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ของประเทศ นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาของไทยควรมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการพัฒนาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศทั่วโลก
คำค้น การศึกษา, สถาบันพัฒนศิลป์, อินโดนีเซีย
สาหลัก เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
|