๑. การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสปป.ลาว ณ แขวงสะหวันนะเขต
ในการศึกษาดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ณ แขวงสะหวันนะเขต ได้รับฟังบรรยายสรุปและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปสาระได้ดังนี้
แขวงสะหวันนะเขตเป็นแขวงที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของ สปป.ลาว มีพื้นที่ทั้งหมด ๒๑,๗๗๔ ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรมากที่สุดประมาณ ๙๔๘,๐๐๐ คน เป็นแขวงที่ตั้งอยู่ในแนวเศรษฐกิจ East - West Economic Corridor (โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนกับจีน) เป็นเขตที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากคือมี GDP ประมาณร้อยละ ๑๒.๖ นอกจากนี้ แขวงสะหวันนะเขตยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ และเหมืองแร่ ซึ่งมีทั้งแร่ทองคำและแร่ทองแดง มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก
ในเรื่องการทำความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการค้า การลงทุน รวมทั้งการผ่านด่านพรมแดนตามเส้นทาง East - West Economic Corridor ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และเมียนมา เกี่ยวกับแนวทางการตรวจสินค้าผ่านพรมแดนด้วยระบบการตรวจสินค้าผ่านแดนร่วมกัน ณ จุดเดียวกัน เพื่อเป็นการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
โครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของแขวงสะหวันนะเขต มีดังนี้
๑) โครงการสร้างทางรถไฟฟ้า เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย สปป. - ลาว - เวียดนาม - จีน เพื่อทำการขนส่งสินค้า รวมทั้งการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ซึ่งได้มีการทำการสำรวจการก่อสร้าง โดยมีบริษัทจากมาเลเซียและเวียดนามร่วมกันสำรวจโครงการดังกล่าว โดยมีงบประมาณในการดำเนินงานก่อสร้างประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
๒) โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่เมืองเซโน ในแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งได้รับเงินกู้จากจีน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว
๓) โครงการก่อสร้างท่าเรือบนบก โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ทำการสำรวจและลงทุนในการก่อสร้าง เพื่อจะทำให้เชื่อมโยงการคมนาคมให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับความสัมพันธ์และการติดต่อกันระหว่างไทยและ สปป. ลาว นับตั้งแต่มีการเปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ โดยเชื่อมจากแขวงสะหวันนะเขตมายังจังหวัดมุกดาหารของไทยทำให้การพัฒนา
ด้านเศรษฐกิจของแขวงสะหวันนะเขตมีความเติบโตอย่างมาก เนื่องจากมีโครงการลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากถึง ๑๙๐ โครงการ สำหรับนักลงทุนจากไทยรายใหญ่คือ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลใน สปป.ลาว และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัทน้ำตาลมิตรลาว จำกัด” ทั้งนี้ ได้ผลิตและส่งออกไปยังทวีปยุโรปด้วย สำหรับเรื่องการตรวจสินค้าผ่านด่านพรมแดน จะมีการตรวจสินค้า ณ จุดเดียวเพื่อให้เกิดความสะดวกและประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่จะมีการกระทำร่วมกันระหว่างไทยและ สปป.ลาว
ในส่วนนโยบายของ สปป.ลาว ได้มีการกำหนดแนวทางในเรื่องดังกล่าวไว้ ดังนี้
๑) กรณีที่มีการขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยเข้าไปยัง สปป. ลาว การตรวจสินค้าผ่านด่านพรมแดนจะตรวจ ณ จุดเดียว คือ ที่ด่านตรวจฝั่งแขวงสะหวันนะเขต โดยเป็นการตรวจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรของทั้งสองประเทศ แต่ในส่วนของไทยนั้น กฎหมายยังไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรของไทยเข้าไปตรวจสินค้าใน สปป. ลาวได้ แต่ในส่วนของ สปป. ลาวได้อนุญาตแล้ว
๒) กรณีที่มีการขนส่งสินค้าจากฝั่ง สปป. ลาวเข้ามายังไทยนั้น การตรวจสินค้าผ่านด่านพรมแดนจะตรวจ ณ จุดเดียว คือ ที่ด่านตรวจฝั่งจังหวัดมุกดาหาร โดยเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง
เจ้าหน้าที่ศุลกากรของทั้งสองประเทศคือ ไทยและสปป.ลาว
๓) ด้านประเพณีวัฒนธรรม และภาษาพูด ไทยและ สปป.ลาวมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระหว่างแขวงสะหวันนะเขตกับจังหวัดมุกดาหารประชาชนได้ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอและมีความเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการสืบทอดประเพณีต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การทำบุญวันออกพรรษา การแข่งเรือประเพณีระหว่างกัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นและจุดแข็งในด้านความสัมพันธ์ รวมทั้งการนับถือศาสนาเดียวกันด้วยคือ ศาสนาพุทธ
๒. การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ณ แขวงคำม่วน
ในการศึกษาดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ณ แขวงคำม่วน ได้รับฟังบรรยายสรุปและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปสาระได้ดังนี้
แขวงคำม่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของ สปป.ลาว มีพื้นที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรประมาณ ๓๗๙,๐๐๐ คน ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ประมาณ ๑,๓๐๐ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี และ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จะพยายามพัฒนารายได้ของประชากร ให้ได้เฉลี่ย ๑,๘๐๐ -๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
รายได้หลักของประชาชนในแขวงคำม่วนมาจากอุตสาหกรรมป่าไม้ การให้บริการผ่านแดน การค้าการท่องเที่ยว การให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าและเหมืองแร่ ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญของแขวงคำม่วน ได้แก่ แร่โปแตช (ส่งออกไปยังเวียดนามและจีน) สินค้าทางการเกษตร (ส่งออกไปยังเวียดนามและไทย)
ปัจจุบัน สปป.ลาวแบ่งเขตพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ออกเป็น ๒ เขต ดังนี้
๑) เขตพื้นที่ที่ติดกับสะพานมิตรภาพ ๓ (นครพนม - คำม่วน) ซึ่งได้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อจัดทำเป็นเขตอุตสาหกรรม และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๒) เขตเศรษฐกิจจำเพาะภูเขียว มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเขตอุตสาหกรรม และได้เชิญ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
สำหรับแผนที่จะพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๓ มีดังนี้
๑) การพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ โดยเชื่อม ๔ ประเทศ คือ ไทย - สปป.ลาว -เวียดนาม - จีน ตามเส้นทางหมายเลข ๘ หมายเลข ๑๒ และหมายเลข ๑๓ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
๒) การพัฒนาการท่องเที่ยว มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมทั้งคนใน สปป. ลาวและต่างประเทศ เช่น พระธาตุศรีโครตบูร ถ้ำกลองลอ อุทยานประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างสปป.ลาว กับฝรั่งเศสและอังกฤษ และหมู่บ้านประวัติศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายโฮจิมินต์ เป็นต้น
๓) การพัฒนาระบบการชลประทานสำหรับพื้นที่ทำการเกษตร
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
จากการศึกษาดูงานข้างต้น คณะกรรมาธิการได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวว่า ควรมีการพัฒนาร่วมกันระหว่างไทยกับ สปป.ลาว เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามโครงการที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอาณาจักรศรีโครตบูรที่เชื่อมระหว่างจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนมและแขวงคำม่วน รวมทั้งเมื่อมีการเปิดใช้สะพาน
แห่งที่ ๓ (เชื่อมจังหวัดนครพนมกับท่าแขก) ระหว่างไทย - สปป. ลาวแล้ว การพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การลงทุน วัฒนธรรม ควรจะมีการพัฒนาไปพร้อมกันโดยให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศ
คำค้น สปป.ลาว , กิจการสภาผู้แทนราษฎร , แขวงสะหวันนะเขต , แขวงคำม่วน
เสาหลัก เศรษฐกิจ
|