ปัญหาการสนับสนุนงบประมาณในการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) |
กระทู้ถามที่ 1051/2556
| สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24/2554 |
วันที่เสนอ |
22 สิงหาคม 2561 |
สมัยคณะรัฐมนตรี |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม |
นางชมภู จันทาทอง พรรคเพื่อไทย จังหวัดหนองคาย |
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพีรพันธุ์ พาลุสุข) |
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพีรพันธุ์ พาลุสุข) |
ประเภทกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา |
สถานภาพกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130
ตอนพิเศษ 102 ง หน้า 77 – 87 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2556
|
สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม |
เนื่องจากการค้นคว้าวิจัยในประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาทุนทางปัญญาให้เกิดนวัตกรรมที่มีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งต้องใช้งานวิจัยเป็นหัวใจในการพัฒนา โดยจะให้สถาบันวิจัยของรัฐหลายแห่งร่วมกับเอกชนในการวิจัยให้ได้ผลในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันขาดแคลนทุนทรัพย์ในการดำเนินการวิจัยดังกล่าว ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า
1. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนโยบายสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยให้สถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนในการวิจัยให้ได้ผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
2. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสนับสนุนส่งเสริมงานวิจัยของบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาต่อยอดอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
|
สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม |
คำตอบที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดทำแผนปฏิบัติการการบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศ ประเด็นการขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การใช้ประโยชน์จากกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี1 (Talent Mobility) และการใช้ประโยชน์จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการวางนโยบายเพื่อสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้การลงทุนพัฒนาของภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ในการนำผลงานวิจัยไปพัฒนาหรือต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ
2. การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการจัดทำมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
คำตอบที่ 2 การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 ประเด็นที่ 8 ว่าด้วย “การวิจัยและพัฒนา (Research & Development)” เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยการส่งเสริมบุคลากรทั้งจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและเป็นการเพิ่มผลิตภาพ2 (productivity) ให้สูงขึ้น โดยอาศัยหลัก 4 ประการ คือ
1. การวิจัยและพัฒนา
2. การแก้ปัญหาเชิงเทคนิค
3. การวิเคราะห์ทดสอบและระบบมาตรฐาน
4. การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย Talent Mobility จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยโดยรวม
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558 ในหลายประเด็นสำคัญ เช่น การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ การค้าและการลงทุน การพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐาน ซึ่งเงื่อนไขสำคัญหนึ่งต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น คือ การมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการที่ดีเพื่อนำศักยภาพของบุคลากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
|
เชิงอรรถ |
1Talent Mobility คือ การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกันอันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาในภาคการผลิตและบริการให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ที่มา : https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1397208891
2ผลิตภาพ (productivity) หมายถึง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณและ/หรือมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยคำนึงถึงการใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับปรุงคุณภาพปัจจัยการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต ซึ่งการเพิ่มผลผลิตในที่นี้ หมายถึง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) หรือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) ด้วยจิตสำนึกเป็นแรงผลักดัน และใช้เทคนิคและเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิต/ผลิตภาพ (Productivity Techniques and Tools) เป็นตัวช่วยให้ประสบความสำเร็จ
ที่มา : http://www.logisticafe.com/2009/09/productivity/
|
เอกสารต้นเรื่อง |
1. สรุปสาระสำคัญ
|