การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการวางระบบคมนาคมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย |
กระทู้ถามที่ 498/2556
| สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24/2554 |
วันที่เสนอ |
22 สิงหาคม 2561 |
สมัยคณะรัฐมนตรี |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม |
นางสาวชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดราชบุรี |
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) |
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) |
ประเภทกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม |
สถานภาพกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา |
สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม |
เนื่องจากประเทศไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมฐานการผลิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่สามารถแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศของประเทศยังขาดความเชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาค ขาดศักยภาพในการวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรติดขัดและการขนส่งที่ไร้ระบบทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและเวลา ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะชะลอการลงทุนได้ ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ดังนั้น เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทยในด้านการคมนาคม การวางระบบโครงข่ายการคมนาคมที่เป็นระบบและสมบูรณ์แบบจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป จากเหตุผลดังกล่าว ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า
1. รัฐบาลได้มีการวางแผนและวางโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศให้มีความเป็นระบบและเป็นรูปธรรมแล้วหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
2. หากได้มีการวางแผนงานและวางโครงข่ายในเรื่องดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะมีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน นักท่องเที่ยวและนักลงทุนทราบได้อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
|
สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม |
คำตอบข้อที่ 1 การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ถือเป็นศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้มากที่สุด แต่ประเทศไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาในอนาคตอันใกล้จะทำให้สูญเสียโอกาสในภูมิภาคเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงได้วางแผนการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งไว้อย่างเป็นระบบ แบ่งได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่
1. การพัฒนาโครงข่ายถนนภายในประเทศที่มุ่งสู่ชายแดนเชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนในประเทศเพื่อนบ้าน
1.1 เส้นทางแนวเหนือ-ใต้ (North-South Corridor) เส้นทางเหนือเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านทางอำเภอเชียงของ และมุ่งสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผ่านทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร และเส้นทางใต้ที่มุ่งสู่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา โดยจะมีการขยายถนนในประเทศเป็น 4 เลน เชื่อมจังหวัดสำคัญตามแนวเส้นทาง
1.2 เส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ซึ่งเชื่อมโยงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จนถึงจังหวัดมุกดาหาร เข้าไปยังเมืองสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปจนถึงท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม โดยจะมีการขยายถนนในประเทศเป็น 4 เลน
มีการพัฒนาด่านพรมแดนไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด
1.3 เส้นทางแนวใต้ (Southern Corridor) ซึ่งเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ไปจนถึงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ถือเป็นเส้นทางหลักเพราะเชื่อมโยง 3 เมืองหลักของอาเซียน โดยจะมีการขยายถนนในประเทศเป็น 4 เลน แล้วจะมีการก่อสร้างถนนเชื่อมลงมาด้านตะวันออก ลงมาที่จังหวัดจันทบุรี ทำให้โครงข่ายถนนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเชื่อมลงมาทางภาคตะวันออกได้สะดวกขึ้น ในอนาคตก็จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์
ทั้งนี้ นอกจากการขยายโครงข่ายและปรับปรุงถนนภายในประเทศแล้ว ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือการปรับปรุงถนนของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของโครงข่ายถนน นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า จำนวน 15 แห่ง ในจังหวัดหลักตามเส้นทางทั่วประเทศ
2. การพัฒนาท่าอากาศยาน
2.1 การขยายท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี
2.2 การขยายท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง โดยการเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2) ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 22 ล้านคนต่อปี
2.3 การขยายท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี
3. การพัฒนาท่าเรือ
3.1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังโดยเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี จากเดิม 10 ล้านตู้ต่อปี การพัฒนาระบบเครนขนส่ง การพัฒนาโครงข่ายถนนรอบท่าเรือแหลมฉบัง
3.2 โครงการก่อสร้างท่าเรือเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแม่น้ำป่าสัก ท่าเรือที่จังหวัดชุมพร ท่าเรือที่จังหวัดสงขลา 2 และท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าส่งออกผ่านไปยังประเทศสิงคโปร์
4. การพัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน การปรับปรุงโครงข่ายรถไฟทั้งประเทศ การสร้างรถไฟทางคู่ ระยะทาง 2,900 กิโลเมตร การสร้างเส้นทางรถไฟใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทาง 688 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงกับแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และแนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
ทั้งนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือ อันได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ….1 และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. ...
คำตอบข้อที่ 2 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์เรื่องแผนและวางโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่ง โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจหลักการและความจำเป็นของโครงการพัฒนา การสร้างความรับรู้สถานภาพของโครงการต่าง ๆ ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และประเทศจะพัฒนาไปอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านเวทีการสัมมนาทั่วประเทศ
2. ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมด้วยกันได้ ผ่านเวทีการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียน
3. นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนรับรู้ว่าประเทศไทยได้มีการวางแผนที่ดี มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ตลอดจนมีความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ผ่านเวทีการประชุมทั่วโลกของนายกรัฐมนตรี
|
เชิงอรรถ |
1 อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3 - 4/2557 วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญมีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม
สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/center3-4_57.pdf
|
เอกสารต้นเรื่อง |
1. สรุปสาระสำคัญ
|