คำตอบข้อที่ 1 การจัดตั้งประชาคมอาเซียนมีปัญหา อุปสรรค และโอกาส ดังนี้
ประเด็นปัญหาและอุปสรรค ของการบรรลุเป้าหมายของการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น คือความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมถึงระบบการบริหารปกครองประเทศ ระบบพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เชื้อชาติและศาสนา รวมทั้ง การแข่งขันกันเองระหว่างประเทศสมาชิก และประเทศนอกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีปัญหาและอุปสรรคอื่น ๆ อาทิ การขาดความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น การสร้างมาตรฐานร่วมในด้านต่าง ๆ เช่น กฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน การผ่านแดน และมาตรฐานสินค้า เป็นต้น ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละประเทศมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องเหล่านี้
ประเด็นโอกาสและผลประโยชน์ ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหลายประการ อาทิ ในด้านการค้า ซึ่งในปี 2553 ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น คิดเป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอาจได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงกันระหว่างอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า และเครือข่ายโทรคมนาคมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย รวมถึง การเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมและการขนส่งในภูมิภาค นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคและเพิ่มอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มอีกด้วย
คำตอบข้อที่ 2 ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ควรมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อเป็นประชาคมอาเซียน ดังนี้
1. ภาครัฐ ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีต่าง ๆ ของอาเซียน การปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน และแผนปฏิบัติการของประชาคมอาเซียน พร้อมทั้ง การเผยแพร่ให้ความรู้แก่หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม และเป็นการเร่งพัฒนาบุคลาการในทุกภาคส่วนเพื่อให้มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน
2. ภาคเอกชน ต้องตระหนักถึงศักยภาพของประชาคมอาเซียน และต้องมีการปรับตัวให้สามารถ
ใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการที่อาเซียนมุ่งเข้าไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เสมอภาคและสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ ด้วยการรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้ตามความต้องการของตลาด ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศที่กำหนด การสร้างและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายนักธุรกิจและผู้ประกอบการในอาเซียน รวมถึง การมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการเจรจาความตกลงต่าง ๆ ในอนาคต
3. ภาคประชาชน ต้องสร้างความเข้าใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และในระยะยาวจะต้องสร้างให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน โดยมีการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนนั้นไปยังประชาชน คู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาในทุกระดับ
คำตอบข้อที่ 3 รัฐบาลมีมาตรการและแผนการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมตามหลักการของประชาคมอาเซียน โดยข้าราชการในฐานะผู้ขับเคลื่อนแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนแก่ประชาชน ซึ่งในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานราชการต่าง ๆ นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวงโดยตรง และผ่านคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนงานในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งวิทยากรไปให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้จัดการเตรียมความพร้อมของข้าราชการเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และ
ก้าวต่อไปของการปรับตัวทางภาครัฐสำหรับประชาคมอาเซียน คือการให้ทุกกระทรวงหรือเทียบเท่าจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอาเซียนโดยเฉพาะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการดำเนินงานด้วย และสำหรับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคประชาชนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือ
1. ด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ขับเคลื่อนความร่วมมือ
ด้านการศึกษาในอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อผลักดันให้เกิดหลักสูตรอาเซียนศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนได้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียน ให้กับศูนย์ศึกษาอาเซียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ของกรมอาเซียนเดินทางไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง จัดโครงการอาเซียนสัญจรเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนไปยังภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว คือการจัดกิจกรรมวันอาเซียน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่นักเรียนและนักศึกษา ในการเข้าร่วมแข่งขันตอบคำถามอาเซียน (ASEAN Quiz)
2. ด้านวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียนขึ้น และเตรียม
ที่จะจัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทางภาษา สังคม และวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง การแนะนำภาษา และวัฒนธรรมของไทยให้กับสมาชิกอาเซียนได้รู้จัก โดยในอนาคตได้มีการวางแผนการจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย
การเตรียมตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนนั้น ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัตินับว่ามีความสำคัญยิ่งในการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้ในอนาคต
|