การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน

กระทู้ถามที่ 33/2553 วุฒิสภา
วันที่เสนอ 31 พฤษภาคม 2553
สมัยคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม นายเจริญ ภักดีวานิช สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพัทลุง
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ)
ประเภทกระทู้ถาม กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม
สถานภาพกระทู้ถาม กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา

ในที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)


วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2553
 

สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม

           จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน ข้อ 1 ย่อหน้าที่ 10 คือ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน และจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนประกอบกับการพัฒนาแผนปฏิบัติการเรื่องการศึกษา 5 ปีของอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็งภายในอาเซียนและคู่เจรจา โดยตกลงที่จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อบทบาทการศึกษาเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้แก่ บทบาทของภาคการศึกษาในด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งมีการเสนอให้มีการแบ่งปันทรัพยากรแก่กันและจัดตั้งกองทุนพัฒนาด้านการศึกษาของภูมิภาค ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกรอบข้อตกลงที่ถือว่าเป็นพันธกรณีที่ต้องผูกพันกัน ประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า 
           1. รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตามกรอบอาเซียนด้านการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันในประชาคมอาเซียนหรือไม่ อย่างไร
           2. รัฐบาลมีแผนงานโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียนอย่างไร และเริ่มดำเนินการเมื่อใด

สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม

           คำตอบข้อที่ 1  รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกรอบพันธกรณีอาเซียนด้านการศึกษาโดยเตรียมการพัฒนาระบบการศึกษาที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นเฉพาะนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาในทุกๆด้าน โดยมุ่งสร้างความตระหนักรู้ของคนไทยในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนไทยให้เป็นบุคคลในประชาคมอาเซียน พัฒนาสมรรถนะให้พร้อมในการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษา อีกทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนเรียกว่า Education Hub ใน 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการขยายโอกาสทางการศึกษา และด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น มุ่งที่การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน สถานศึกษา และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information Communication Technology : ICT) เข้ามาพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพในการสร้างความเสมอภาคและโอกาสโดยเรียนฟรี 15 ปี รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของครู

           คำตอบข้อที่ 2  กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมที่สำคัญทั้งในระดับกระทรวง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และในระดับสถานศึกษา ดังนี้ 
           ประการที่หนึ่ง การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียนในสถานศึกษาทุกระดับ ผ่านการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมสัปดาห์อาเซียน (ASEAN Week) ในวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นต้น
           ประการที่สอง การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศหรือภาษาอังกฤษ และให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้เป็นหลักสูตรที่จะต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนไปสู่ระดับสากล โดยมีข้อตกลงว่าในปี 2558 มีภาษาที่ใช้ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ของคนในอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมการพัฒนาโรงเรียนไปสู่มาตรฐานสากลจำนวน 500 โรงเรียน และได้เตรียมการพัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ตามรอยตะเข็บชายแดน(Buffer School) ให้เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ซึ่งในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีระดับความเข้มข้นในการพัฒนาต่างกัน กล่าวคือ ในระดับโรงเรียนที่มีมาตรฐานสากล และโรงเรียนนานาชาติ มีครูเจ้าของภาษามาสอนนักเรียนโดยตรง และได้มีการพัฒนาการใช้ภาษา ตลอดจนการเรียงความที่สามารถสื่อสารได้ ส่วนในระดับโรงเรียนดีประจำอำเภอได้มีการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นบางส่วน (Mini English Program) และจะมีการพัฒนาโครงการที่เรียกว่า จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการและใช้สื่อเทคโนโลยีมาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนา
           ประการที่สาม การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน เพื่อให้ประชาชนมีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษาและครู เพื่อความเข้าใจที่ดีผ่านกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
           นอกจากนี้ ได้พัฒนาหลักสูตรความเป็นบุคคลในประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการเรียน การสอนโดยใช้การศึกษาเป็นกลไกในการทำให้ประชาชนในประชาคมอาเซียนมีความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดีของประชาคมอาเซียนและของโลก อีกทั้งยังมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อให้มีการแข่งขันและแลกเปลี่ยนแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพอีกด้วย

เอกสารต้นเรื่อง 1. สรุปสาระสำคัญ