คำตอบข้อที่ 1 กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ได้จัดสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจสิทธิและประโยชน์ทางภาษีศุลกากร พิธีการศุลกากร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เกี่ยวกับสินค้าเขตการค้าเสรีอาเซียนและเขตการค้าเสรีต่าง ๆ ให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการทั่วไป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย เป็นต้น สำหรับอัตราภาษีนำเข้า ระเบียบพิธีการต่าง ๆ มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ โดยปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีข้อมูลครบถ้วนและทันสมัย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ รวมทั้ง เครือข่ายสังคม (social network) ต่าง ๆ เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วย
มีการจัดตั้งศูนย์บริการ FTA One Stop Service ในศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์ ถนนรัชดาภิเษก จัดตั้งห้องสมุดเฉพาะทางเพื่อเป็นคลังข้อมูล FTA รวมทั้งอาเซียน และ AEC เพื่อประกอบการศึกษาค้นคว้าของผู้ที่สนใจ เปิดสายด่วนคอลเซ็นเตอร์ (call center) เพื่อให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามต่าง ๆ ทางโทรศัพท์ เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน
ตู้ ปณ. 150 นนทบุรี 11000 และการจัดสัมมนาสาธารณะเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
คำตอบข้อที่ 2 รัฐบาลกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหว (sensitive list) ของประเทศไทยไว้เพียง 4 รายการเท่านั้น ได้แก่ กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ไม่มีสินค้าอื่น ๆ อีก
คำตอบข้อที่ 3 รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับสำหรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) โดยมี 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม มีการประสานงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และมีการกำหนดมาตรการในการดูแล โดยเฉพาะแนวทางมาตรการกำกับดูแลและติดตามการนำเข้าสินค้าเกษตรตามข้อผูกพัน AFTA 7 ประการ ได้แก่
1. การกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า
2. การพิจารณาชนิดสินค้าที่จะนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ
3. การกำหนดระยะเวลาการนำเข้า
4. ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Ruled of Origin: RoOs)
5. การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้า
6. การกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดตามกติกาสากล และการกำหนดเงื่อนไขปลอดจีเอ็มโอ (GMOs)
7. การกำหนดด่านที่จะนำเข้าสินค้า
คำตอบข้อที่ 4 ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้เข้าไปดูแลเกษตรกรและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการใช้มาตรการที่เป็นที่ยอมรับภายใต้กติกาสากล ในกรณีที่มีการทะลักเข้ามาของสินค้าและมีผลกระทบอย่างรุนแรง คือมาตรการปกป้อง (Safeguard) ของความตกลง ต่าง ๆ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้ดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไปแล้วหลายโครงการใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 480 ล้านบาท มีมาตรการระบบป้องกันความเสี่ยง เช่น โครงการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับเกษตรกรในเรื่องความเสี่ยงด้านราคา และภัยธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำ ระบบดิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มเติม การบริการข้อมูลข่าวสาร การสร้างระบบมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอีกด้วย
คำตอบข้อที่ 5 รัฐบาลได้ดำเนินการในการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารพืชเศรษฐกิจ โดยเปลี่ยนแปลงจากระบบการรับจำนำ มาสู่การประกันรายได้เกษตรกร เนื่องจากในอดีตมีประเด็นปัญหาการเข้ามาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำ ซึ่งโครงการประกันรายได้นั้นจะไม่มีการส่งมอบผลผลิตแต่เป็นการรับประกันรายได้ของเกษตรกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในโครงการประกันรายได้แต่ละช่วงฤดูกาล ซึ่งเกษตรกรจะต้องแจ้งพื้นที่เพาะปลูก
สำหรับเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ โดยช่วงปี 2552 – 2553 จับกุมผู้ลักลอบได้ ประมาณ 500 ราย รวมมูลค่าสินค้าประมาณ 20 ล้านบาท นอกจากนี้กรมศุลกากรได้กำชับด่านต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ เช่น เอกสารชำระอากร เอกสารรับรองแสดงสิทธิชำระภาษีตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ครบถ้วนที่สุด และยังได้ดำเนินการป้องกันปราบปรามการลักลอบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น แนวชายแดนต่าง ๆ ระหว่างช่วงเวลาที่มีการรับจำนำหรือรับประกันตามโครงการของรัฐบาล
คำตอบข้อที่ 6 หลักคิดของรัฐบาลเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ คือ การเข้าเป็นภาคีเขตการค้าเสรีไม่ว่าอาเซียนหรือเขตการค้าเสรีใดก็ตาม แนวทางคือการเปิดมากกว่าการปิด การแสวงโอกาสของความได้เปรียบ เช่น มาตรการลดอัตราภาษีศุลการกรเป็นร้อยละ 0 ในกลุ่มเฉพาะสมาชิก รัฐบาลจึงมีแนวคิดจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่เรียกว่า (Economic City) เพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือภายใต้กรอบอาฟต้า คำนึงถึงการเป็นเมืองท่าหน้าด่านในชายแดน โดยกำหนดนโยบาย 5 ประตู คือ ประตูเหนือ ประตูตะวันตก ประตูใต้ ประตูตะวันออก และประตูอีสาน โดยในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสร้างขึ้นประกอบไปด้วย เขตนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (logistics park) เขตนำเข้า ส่งออก (single inspection) ตลอดจนศูนย์การค้าเพื่อการส่งออก ศูนย์การค้า เพื่อการค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งคำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่มีราคาถูก แรงงานที่ ไปเช้าเย็นกลับ ผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถใช้ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และพื้นที่ดำเนินการให้ต้นทุนต่ำที่สุดของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศไทย ในการผลิตเพื่อส่งออกสำหรับการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและอื่น ๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการพัฒนาโลจิสติกส์ภายใต้แนวคิดอาเซียนเป็นประชาคมแห่งความเชื่อมโยง (community of connectivity)
คำตอบข้อที่ 7 นโยบายรัฐบาลนี้เป็นแนวใหม่ (new model) ซึ่งจะแปลงวิกฤตเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนศักยภาพของชาติ สำหรับอุปสรรคทางการค้าอื่น รวมทั้งมาตรการที่มิใช่ภาษี จะใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม และเน้นใช้กลไกของการเจรจา รวมทั้งมาตรการปกป้อง (safeguard) เมื่อเกิดกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง
|