การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน |
กระทู้ถามที่ 127/2556
| สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24/2554 |
วันที่เสนอ |
22 สิงหาคม 2561 |
สมัยคณะรัฐมนตรี |
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร |
ชื่อผู้ตั้งกระทู้ถาม |
นายเรวัต อารีรอบ พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดภูเก็ต |
ชื่อผู้ถูกตั้งกระทู้ถาม |
นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) |
ชื่อผู้ตอบกระทู้ถาม |
รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) |
ประเภทกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม |
สถานภาพกระทู้ถาม |
กระทู้ถามที่ตอบในที่ประชุม
ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130
ตอนพิเศษ 3ง หน้า 68 - 71 ลงวันที่ 9 มกราคม 2556
|
หมายเหตุ |
กรณีกระทู้ถามทั่วไปที่ขอให้ตอบในที่ประชุมสภา
โอนไปตอบในราชกิจจานุเบกษา
เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551
ข้อ 162 วรรคสาม กำหนดให้กระทู้ถามที่ต้องตอบในที่ประชุมสภา ทั้งที่ได้รับการบรรจุและยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ
ในสมัยประชุมหนึ่งๆ เมื่อสิ้นสุดสมัยประชุมให้ประธานสภารวบรวมแจ้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินการตอบในราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวัน
|
สรุปสาระสำคัญของกระทู้ถาม |
โดยที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะมีการจัดตั้งใน พ.ศ. 2558 ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันโดยสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและเตรียมตัวในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในอนาคต ผู้ตั้งกระทู้ถามขอทราบว่า
1. รัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ไว้อย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2. รัฐบาลมีแนวทางในการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
3. รัฐบาลมีนโยบายเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย เช่น การส่งเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
|
สรุปสาระสำคัญของคำตอบกระทู้ถาม |
คำตอบข้อที่ 1 รัฐบาลมีนโยบายในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 โดยการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง และนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกยังได้รวมถึงการเร่งดำเนินการตามข้อผูกพันในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกภูมิภาค ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้แสดงถึงข้อผูกพันในระดับสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดวิสัยทัศน์การเป็นประชาคมอาเซียนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ได้แก่ การสร้างความมั่นใจว่า หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศจะเข้าใจวิสัยทัศน์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและส่งเสริมบรรยากาศของการลงทุนในอาเซียน อาทิ การสนับสนุนการผ่านกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือสนธิสัญญาของอาเซียน การลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งการมีผลบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement – ACIA) และสนับสนุนมาตรการเยียวยา โดยมี 2 มาตรการ คือ 1) กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และ 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงประโยชน์ของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า จะช่วยให้อาเซียนมีการขยายตัวด้านการค้าและบริการมากขึ้น ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิตจะช่วยให้การนำเข้าวัตถุดิบมีราคาลดลง
สำหรับการดำเนินการให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีมาตรการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันและทำการค้าขายกันได้สะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสำหรับการลงทุนในโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Project) เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงและ Land Bridge เป็นต้น อีกทั้งการเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทย ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน เช่น การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ การส่งเสริมให้สร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เพื่อประสานนโยบายและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการและเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการประสานนโยบายอย่างแท้จริง รวมทั้งเร่งรัดผลักดันการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558
คำตอบข้อที่ 2 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการอาเซียนแห่งชาติและกรรมการจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจและผลกระทบในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาบุคลากรให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในโรงเรียน สถานศึกษา และในกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ได้แก่ การจัดวิทยากรไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในการประชุม สัมมนา อบรมต่าง ๆ การจัดโครงการอาเซียนสัญจรไปยังมหาวิทยาลัย และโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาเซียน เช่น การตอบคำถามอาเซียน การจัดพิมพ์และมอบหนังสือแผ่นพับ สื่อ/DVD การจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและสถานศึกษาในวันอาเซียน (8 สิงหาคม) ของทุกปี การจัดทำเว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ วิทยุ โดยร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนต่อสาธารณชน เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
คำตอบข้อที่ 3 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชนไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเด็นการพัฒนาหลักสูตรอาเซียนแก่นักเรียน คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษาในทุกระดับและให้มีการสอนภาษาประจำชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ควบคู่กับภาษาอังกฤษ การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยตั้งแต่ระดับเยาวชน และส่งเสริมความรู้สึกการเป็นพลเมืองอาเซียนและการเพิ่มขีดความรู้และข้อมูลที่ทันสมัยให้แก่ครูและบุคลากรด้านการศึกษาผ่านโครงการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ครูเป็นกลไกในการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนต่อเยาวชนไทย
ประเด็นการส่งเสริมพัฒนาความรู้อาเซียนในสถาบันการศึกษาระดับสูง กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาและบัณฑิตวิทยาลัยในประเทศไทยที่จะพัฒนาหลักสูตร และพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนภายในประเทศ อาทิ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา การพัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษาขึ้นในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถาบันปรีดี พนมยงค์) มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นต้น
ประเด็นการจัดตั้งสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินกิจกรรมของสมาคมอาเซียน – ประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและการเป็นพลเมืองอาเซียน
ประเด็นการจัดตั้งโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนแก่สาธารณชน กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำเว็บไซต์สื่อประชาสัมพันธ์ สื่อการสอนและรายการวิทยุ “เราคืออาเซียน” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณชนและส่วนราชการต่าง ๆ และได้จัดโครงการอาเซียนสัญจรไปยังต่างจังหวัด นอกจากนี้ คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ประชาคมอาเซียน โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อส่งเสริมการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียนแก่สาธารณชนไทยและประชาสัมพันธ์กิจกรรมอาเซียนด้วย
|
เชิงอรรถ |
1 สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/other-20170418-154749-889019.pdf
2 มหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในจังหวัดลำปาง เริ่มแรกก่อตั้งเป็น “วิทยาลัยโยนก” เมื่อปี 2531 และได้เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยโยนก” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2549 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเนชั่น” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554
|
เอกสารต้นเรื่อง |
1. ต้นฉบับกระทู้ถาม 2. สรุปสาระสำคัญกระทู้ถาม
|