ปิดฉาก APPF ๓๐ อย่างเป็นทางการ รัฐสภาไทยได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้อง ชื่นชมที่จัดงานได้เป็นอย่างดี และการประชุมครั้งนี้บรรลุข้อตกลงทั้ง ๑๑ ข้อ โดยฉันทามติ


 
​วันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น B ๒ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ หรือ APPF ครั้งที่ ๓๐ และประธานคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ ซึ่งรัฐสภาเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ รัฐสภา โดยมี หัวหน้าและคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิก APPF ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ คณะทูตานุทูต ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร       วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง สมาชิกรัฐสภาไทย       คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธี

โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ หรือ APPF ครั้งที่ ๓๐ และประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุม ใจความสำคัญว่า “การประชุมได้ดำเนินมาจนถึงวันสุดท้ายของการประชุมแล้ว ขอแสดงความขอบคุณ           อย่างสุดซึ้งต่อผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิก APPF ทุกท่านสำหรับการสนับสนุนอันมีค่ายิ่งในการประชุมประจำปีครั้งนี้ ด้วยบรรยากาศแห่งมิตรภาพและความสมัครสมานสามัคคี ขอแสดงความขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยให้การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ ๓๐ ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก APPF ในการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียม สมดุล โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง อันสะท้อนให้เห็นในผลลัพธ์หลักของการประชุมนี้ ด้วยความเข้มแข็งและความหลากหลายของเรา เราจะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นและเจริญรุ่งเรืองขึ้นร่วมกัน เพื่อพวกเราทุกคนผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน การประชุมเมื่อสองวันที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงพลังของพหุภาคี ด้วยการแบ่งปันข้อห่วงใยร่วมกันอย่างแข็งขันและการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบความเป็นหุ้นส่วน เรามั่นใจว่าภูมิภาคของเราจะก้าวไปข้างหน้าในทุกมิติอย่างยั่งยืนมากขึ้น APPF ในฐานะตัวแทนของประชาชน เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมฉันทามติและการสนับสนุนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย       ของเรา เราต้องเปลี่ยนผ่านวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ และขับเคลื่อนภูมิภาคของเราไปสู่สันติภาพ ความมั่งคั่ง      และความยั่งยืน เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประชาคมโลก ตลอดจนโลกของเรา”
 
จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธาน APPF และประธานกรรมการบริหาร ส่งมอบธง APPF ให้แก่เจ้าภาพการประชุม APPF ครั้งที่ ๓๑ โดย Mr.Ronald dela Rosa สมาชิกวุฒิสภา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ หัวหน้าคณะผู้แทนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกครั้งต่อไป พร้อมกล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งถัดไปเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของ APPF ฟิลิปปินส์มีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกประเทศ ความร่วมมือระหว่างกันของประเทศสมาชิกเป็นสิ่งที่ฟิลิปปินส์จะดำเนินการต่อไป และจะเรียนรู้การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมจากไทย การได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งถัดไป ถือเป็นความภาคภูมิใจของฟิลิปปินส์ที่จะได้ต้อนรับทุกท่านที่กรุงมะนิลา ขอบคุณประเทศไทยที่จัดการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดี

โดยในช่วงก่อนพิธีปิดการประชุมเป็นการประชุมเต็มคณะ วาระที่ ๔ ด้านการดำเนินกิจกรรม       ของ APPF ประกอบด้วย การรายงานการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี โดย นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา   ประธานการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี กล่าวรายงานการประชุมต่อที่ประชุมว่า ที่ประชุมได้พูดคุยใน ๒ ประเด็นหลัก คือการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า    การแพร่ระบาดของโรคโควิด - ๑๙ ได้สร้างผลกระทบในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนความเป็นอยู่ของสตรีที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนด้านการทำงาน และสวัสดิการ      ของสตรี ปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ขณะที่ต้องเผชิญความท้าทายระดับโลกด้านต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ นอกจากนี้ ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี      ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งด้านงบประมาณ ด้านสังคม การเข้าถึงสาธารณสุข ตลอดจนการกำจัดความรุนแรงต่อสตรี การสร้างความเท่าเทียมกันในสถานที่ทำงาน และการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงาน อีกทั้งยังมีข้อคิดเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลควรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ซึ่งรัฐสภาต้องกระตุ้นให้รัฐบาลพัฒนานโยบายต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างสะดวก มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่ออนาคตที่ดี การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้สตรี          และเด็กผู้หญิงมีโอกาสพัฒนาทุกด้านในชีวิตให้มีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พูดถึงการส่งเสริมโอกาสการเป็นผู้นำทางการเมือง ที่จะต้องส่งเสริมให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองให้มากที่สุด และเห็นร่วมกัน      ที่จะผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ภายหลังการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีได้เห็นชอบ ๒ ข้อมติ คือการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต เสนอโดยรัสเซียและประเทศไทย และข้อมติการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลัง       การแพร่ระบาดโรคโควิด - ๑๙ เสนอโดยประเทศไทยและแคนาดา และนำข้อมติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของที่ประชุมเต็มคณะ วาระที่ ๔ และท้ายที่สุด ที่ประชุมเต็มคณะได้ร่วมให้การรับรองรายงานของสมาชิก      รัฐสภาสตรี เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันที่จะผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป


การรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม โดย นายกิตติ   วะสีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) กล่าวรายงาน      การประชุมต่อที่ประชุม ว่ารัฐสภาสมาชิกได้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนักในการพิจารณาร่างข้อมติที่เกิดขึ้นจากการประชุมทั้ง ๔ คณะ ก่อนได้ข้อยุติ ๑๑ ร่างข้อมติ จากคณะทำงานด้านการเมืองและความมั่นคง คณะทำงาน        ด้านเศรษฐกิจและการค้า คณะทำงานด้านสมาชิกรัฐสภาสตรี และคณะทำงานด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค อาทิ การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคโควิด - ๑๙ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพและความมั่นคง การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การพัฒนาและการขยาย    การเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค และการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยที่ประชุมให้การรับรองทั้ง ๑๑ ร่าง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธาน APPF ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหาร APPF กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพบปะกันครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - ๑๙  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละวาระการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพยายามไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกโดยมุ่งไปที่สันติภาพ ประชาธิปไตย และความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือ       ทุกองค์การ การขยายความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค         การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้มีการประชุมโต๊ะกลมของยุวสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารได้มีมติรับรองข้อบังคับการประชุม APPF และระเบียบวาระและกำหนดการประชุม APPF ครั้งที่ ๓๐  ซึ่งมีการรับรองวาระและกำหนดการของการประชุมในปีนี้ และเรื่องอื่น ๆ ที่ได้นำเสนอในการประชุม รวมไปถึงการทบทวนแนวทางการพิจารณาสมาชิกภาพของสมาชิกและวาระของการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารทั้งในอนุภูมิภาค โดยเสนอให้รัฐสภาแต่ละประเทศพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่ง        ของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้านการเมืองและความมั่นคง เน้นการส่งเสริมการทูตเชิงรัฐสภา ส่งเสริมบทบาทของสมาชิกรัฐสภาเป็นศูนย์กลางภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด - ๑๙ ส่งเสริมประชาธิปไตยสันติภาพและความมั่นคงภายในภูมิภาค  ด้านเศรษฐกิจและการค้า เป้าประสงค์คืออภิปรายในการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เชื่อมโยง ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านความร่วมมือในภูมิภาคในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เน้นย้ำไปที่ความสำคัญของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (BCG model) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม   การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

จากนั้น เป็นการรับรองข้อมติและแถลงการณ์ร่วม และการลงนามในแถลงการณ์ร่วม โดยหัวหน้าคณะผู้แทนแต่ละประเทศลงนามตามลำดับตัวอักษร เมื่อถึงลำดับของประเทศไทยขึ้นเวทีเพื่อลงนาม ในแถลงการณ์ร่วม ประเทศสมาชิกต่างยืนขึ้นพร้อมใจกันปรบมือเพื่อเป็นเกียรติในฐานะที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของรัฐสภาไทย ที่ต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมได้เป็นอย่างดี บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น อบอุ่น ได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้อง ถือเป็นความสำเร็จของรัฐสภาไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ อีกทั้ง ที่ประชุมมีฉันทามติรับรองร่างมติต่าง ๆ รวม ๑๑ ร่าง จนบรรลุเป็นแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและภูมิภาค