เอกสารวิชาการ ฉบับที่ 6/2567 ภาวะเศรษฐกิจมหภาค แนวโน้มทางการคลัง และปัจจัยทางเศรษฐกิจการคลัง

Share :
รายงานการวิเคราะห์ เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจมหภาค แนวโน้มทางการคลัง และปัจจัยทางเศรษฐกิจการคลัง จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจ การคลัง และการงบประมาณ และวิเคราะห์จัดทำข้อเสนอแนะ ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 อยู่ในสภาวะชะลอตัวอันเป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัว การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว และการเบิกจ่ายงบประมาณที่เป็นไปอย่างล่าช้า
  • ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทาน การส่งออกหดตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิตลดลงมาก
  • ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลง อัตราการว่างงานลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลและเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
แนวโน้มทางการคลังของรัฐบาลปัจจุบัน
  • การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ล่าช้ากว่าปกติ 7 เดือน ส่งผลให้การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนอยู่ในระดับต่ำ
  • การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในภาพรวมต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย
  • การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับสูง
  • รัฐบาลควรพึงระวังการก่อหนี้สาธารณะใหม่ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ปัจจัยทางเศรษฐกิจการคลังที่รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง มีดังนี้
  1. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: การปล่อยก๊าซ CO2 ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบทางลบในด้านต่าง ๆ
  2. ความยากจนในมิติพื้นที่: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนและสัดส่วนคนจนมากที่สุด ในขณะเดียวกันพื้นที่ในเขตเทศบาลมีจำนวนและสัดส่วนคนจนน้อยกว่าพื้นที่นอกเขตเทศบาล
  3. การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการกู้เงิน: ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้รับการจัดอันดับ BBB+ อย่างไรตาม สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาลไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้
  4. ภาระหนี้สาธารณะของประเทศต่าง ๆ: สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก​​มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ก่อหนี้สาธารณะมากขึ้น เช่น การออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มงบประมาณเพื่อป้องกันประเทศ
  5. อัตราเงินเฟ้อโลก: อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2567 - 2568 โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด 10 อันดับแรกของโลก ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อาจไม่จูงใจให้เอกชนลงทุนเพิ่ม
  6. ผลประกอบการของวิสาหกิจขนาดใหญ่: ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 10.3 ในปี 2566 อย่างไรก็ดี วิสาหกิจขนาดใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ลำดับแรก กลับมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2566 ถึงร้อยละ 10
  7. ค่าจ้างขั้นต่ำ: การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบเชิงบวกในการกระตุ้นภาคบริโภค และการพัฒนาศักยภาพแรงงานและเทคโนโลยีการผลิต อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ควรคำนึง เช่น การแข่งขันทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

จำนวนดาวน์โหลด: 124 ครั้ง