สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรพงษ์ รวิรัฐ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,057 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     การบริหารทรัพยากรบุคคลมีขึ้นในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่าแปดสิบปี และปัจจุบันมีผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรเอกชนและภาคธุรกิจจำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลให้แก่องค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเอกชนและภาคธุรกิจให้มีศักยภาพสูงในการประกอบธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง การประสานประโยชน์ การสร้างความร่วมมือและการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์ของลูกจ้าง การวางแผนกำลังคน การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรมหรือการพัฒนาบุคลากร การบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์ให้แก่บุคลากรในองค์กร การควบคุมกำกับดูแลบุคลากรในองค์กรหรือการให้ข้อเสนอแนะแก่นายจ้างหรือผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับขององค์กรหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากการดำเนินการข้างต้นของผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ กฎหมาย คุณธรรม หรือไม่เป็นไปตามจริยธรรมที่เหมาะสม ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในภาคเอกชนและภาคธุรกิจ อันอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างขึ้นได้ ดังนั้น วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลจึงเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลพนักงานในองค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้พนักงานได้รับสวัสดิการที่ดี ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินเลื่อนตำแหน่งและค่าตอบแทน มีความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในการควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณสำหรับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีมาตรฐานเดียวกันและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้ง การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

     ซึ่งมีสาระสำคัญในประเด็นดังต่อไปนี้

     1. คำนิยามเกี่ยวกับวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล ได้แก่ “วิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล” “จรรยาบรรณ” “มาตรฐานวิชาชีพ” ผู้ประกอบวิชาชีพ” “ผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาต” “ใบอนุญาต” “สภาวิชาชีพ” “สมาชิก” “กรรมการ” “คณะกรรมการ” “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามร่างมาตรา 4

     2. ให้มีสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามร่างมาตรา 7

          2.1 สภาวิชาชีพมีวัตถุประสงค์ ตามร่างมาตรา 8

          2.2 สภาวิชาชีพมีหน้าที่และอำนาจ ตามร่างมาตรา 9

     3. สมาชิกต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามร่างมาตรา 15

     4. คณะกรรมการสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วยบุคคลตามร่างมาตรา 21 และมีหน้าที่และอำนาจ ตามร่างมาตรา 30

     5. คณะกรรมการจรรยาบรรณ ประกอบด้วยบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน โดยเลือกและแต่งตั้งจากสมาชิกสามัญผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามร่างมาตรา 33 และมีหน้าที่และอำนาจ ตามร่างมาตรา 39

     6. ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพ ประเภทสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบ ตามร่างมาตรา 51

     7. ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาตต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพประเภทสมาชิกสามัญ ตามร่างมาตรา 52

     8. ผู้ประกอบวิชาชีพรับอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคลและสามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ตามร่างมาตรา 56

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1.1 ปลัดกระทรวงแรงงาน

     1.2 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

     1.3 อธิบดีกรมการจัดหางาน

     1.4 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

     1.5 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     2.1 นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

     2.2 ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์

     2.3 ประธานสหภาพแรงงานไทยคาร์บอนแบล็ค

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการกำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9)

     2. ท่านเห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 15)

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งโครงสร้างและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 21 และมาตรา 30)

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ รวมทั้งคุณสมบัติและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจรรยาบรรณมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
(ร่างมาตรา 33 และมาตรา 39)

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งผู้ที่ประสงค์จะเป็น
ผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลรับอนุญาตจะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล (ร่างมาตรา 51 และมาตรา 52)

     6. ท่านเห็นว่าการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลรับอนุญาต
ตามมาตรา 56 มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

     7. ท่านเห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร

     8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)