สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย พลตำรวจเอก วินัย ทองสอง กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 34,354 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     การเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเป็นการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยกำหนดให้ให้อดีตข้าราชการตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ  กับปรับปรุงการคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยให้นำหลักเกณฑ์การคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มาใช้ในการคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) และมีการปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวนให้สามารถปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเองสูงขึ้นตั้งแต่ระดับรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนถึงระดับผู้บังคับการ เนื่องจากตำแหน่งสายงานพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะทางที่ต้องทุ่มเทการทำงานตลอดเวลาทั้งในเวลาหรือนอกเวลาราชการ ต้องใช้ความรู้ความสามารถหลากหลายสาขา เพื่อแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเข้าสู่สํานวนการสอบสวนให้สมบูรณ์ที่สุด อีกทั้งต้องทำหน้าที่บําบัดทุกข์บํารุงสุขให้กับประชาชน ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ และรัฐต้องดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อที่จะให้การแก้ไขปัญหาในองค์กรตำรวจสำเร็จตามเจตนารมณ์ของสังคมได้ เพื่อให้องค์กรตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น เป็นอิสระและมีเอกภาพในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองหรือองค์กรทางบริหารฝ่ายอื่น นอกจากนั้นเพื่อเป็นการธํารงไว้ซึ่งระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนและมีความสำคัญสำหรับสายงานยุติธรรมเป็นอย่างมาก

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

     1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม

     1. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

     2. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

     3. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

     4. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

     5. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

     6. สมาคมพนักงานสอบสวน

3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

     ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และการกำหนดให้ให้อดีตข้าราชการตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (มาตรา 3)

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการปรับปรุงการคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยให้นำหลักเกณฑ์การคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มาใช้ในการคัดเลือกและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) โดยอนุโลม (มาตรา 5)

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวนโดยให้ตำแหน่งของผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวน เป็นตำแหน่งควบที่สามารถปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเองสูงขึ้นตั้งแต่ระดับรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนถึงระดับผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน (มาตรา 7)

     4. ท่านเห็นว่าการบริหารงานกิจการตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565  ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

     5. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)