สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ภายหลังประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 พบว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวยังขาดกลไกของกองทุนแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานและหลักประกันซึ่งมีความจำเป็นในการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน ปัจจุบันพบว่ากิจการโรงงานบางแห่งไม่มีมาตรการป้องกันและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอุบัติเหตุอุตสาหกรรม การรั่วไหลของสารเคมี หรือการปล่อยทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือของเสียอันตราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งแวดล้อม การแก้ไขพระราชบัญญัตินี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้ง "กองทุนโรงงานอุตสาหกรรม" ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินในการป้องกัน ระงับ และบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากกิจการโรงงานอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกลไกการบริหารจัดการกองทุนที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบโดยมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลาย
ภาคส่วนเข้ามากำกับดูแล และมีการกำหนดในเรื่องการวางหลักประกันของผู้ประกอบการเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปตามเป้าหมาย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1. กระทรวงอุตสาหกรรม
2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

1. กรมบัญชีกลาง
2. สำนักงบประมาณ
3. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
4. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
5. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
6. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
7. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
8. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

- ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้มีกองทุนโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนโรงงานอุตสาหกรรมในกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการบริหารกองทุนโรงงานอุตสาหกรรม

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินตามมาตรา 44/2

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 หรือจำพวกที่ 3 มีหน้าที่วางหลักประกันต่อกองทุน เป็นเงินจำนวนสิบเท่าของค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อใช้ในการเยียวยาความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

4. ปัจจุบันการประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เพียงใด

5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)