Error inserting IP into survey_ip:
โดยที่มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการความถนัดในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ อีกทั้งจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งต้องมีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพได้มาตรฐานสากล มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิทธิ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยให้มีความคล่องตัวที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความซ้ำซ้อนการบริหารงาน กระจายอำนาจจากส่วนกลางและเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพครูสร้างเสริมพลเมืองไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศตามหลักสากล ตลอดจนเสริมสร้างให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเก็บเครดิตผ่านธนาคารสมรรถนะได้ สร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษาประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านการศึกษา โดยเฉพาะให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้มีความรู้ความสามารถ ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน
จึงสมควรมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บท
ในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
ตารางเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) กระทรวงศึกษาธิการ
2) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3) กระทรวงมหาดไทย
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
5) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
6) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
7) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
8) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
9) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
10) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
11) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
12) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
13) กรมส่งเสริมการเรียนรู้
14) กรมกิจการเด็กและเยาวชน
15) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
16) สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
17) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
18) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
19) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
20) สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
21) สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย
22) สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
23) สมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย
24) สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
25) สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการจัดการศึกษาของชาติโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้มีระบบการศึกษาตลอดชีวิต กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาและหน่วยงานหรือองค์กรทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส ความเสมอภาค ความเป็นธรรม การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดการศึกษาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งการกำหนดรูปแบบ ระดับ และประเภทการศึกษาโดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ (ร่างมาตรา 6 ถึงร่างมาตรา 10)
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับแนวทางการจัดการศึกษาโดยรัฐต้องจัดให้ทุกคนมีสิทธิและโอกาสรับการศึกษาอย่างเสมอภาคโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอนุปริญญา และรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทุกระดับให้มีมาตรฐานและคุณภาพ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีศักยภาพประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาทุกระดับ จัดหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน การกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร (ร่างมาตรา 11 ถึง ร่างมาตรา 33)
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการจัดระบบการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 34 ถึงร่างมาตรา 47)
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาในทุกรูปแบบ ทุกระดับ และทุกประเภทการศึกษา กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้เรียนและสถานศึกษาของรัฐได้ กำหนดให้รายได้ที่สถานศึกษาได้รับไม่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณ (ร่างมาตรา 50 ถึงร่างมาตรา 58)
5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และจัดสรรงบประมาณของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิเพื่อสนับสนุนการศึกษา (ร่างมาตรา 59)
6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคล สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักเกณฑ์และวิธีการให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นการประเมินเชิงประจักษ์เพื่อลดภาระงานด้านเอกสาร การประเมินวิทยฐานะในระดับต่าง ๆ และให้มีการพิจารณาทบทวนอัตราเงินเดือน เงินค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะและเงินอื่นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ (ร่างมาตรา 70 ถึงร่างมตรา 73)
7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดให้มีธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการเทียบโอน หรือโอนผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ทุกรูปแบบ ทุกระดับ และทุกประเภทการศึกษาและเป็นหน่วยงานกลางในการประสานการเทียบโอน หรือโอนผลการเรียนรู้ (ร่างมาตรา 27)
8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับ และทุกประเภทจะต้องส่งเสริมการนำธนาคารสมรรถนะมาใช้ในการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนของบุคคล (ร่างมาตรา 76 ถึงร่างมาตรา 78 และร่างมาตรา 80)
9.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
10.ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)