คณะ กมธ.กิจการเด็กฯ รับหนังสือขอให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 9 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 เพื่อให้บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้สัญชาติไทยจากการสมรส ย้ำไม่ว่าจะเกิดจากสมรสแบบไหน เพศใด เมื่อเกิดในประเทศไทยเรื่องสัญชาติก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่ต้องนำมาพิจารณา
13 มีนาคม 2568
วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2568 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่สอง พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม กมธ. และที่ปรึกษา กมธ. รับยื่นหนังสือจาก ดร.ฉัตรชัย เอมราช เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เพื่อให้บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้สัญชาติไทยเพราะเหตุแห่งการสมรส ซึ่งมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 บัญญัติว่า "หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรส กับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง" เป็นหลักการได้สัญชาติไทยโดยการสมรสของคนต่างด้าวที่กำหนดให้การสมรสเป็นเงื่อนไขพิเศษในการได้สัญชาติไทย นอกเหนือจากการขอแปลงสัญชาติของคนต่างด้าวในกรณีทั่วไป แนวความคิดดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเมื่อคนต่างด้าวเข้ามามีสัมพันธ์กับพลเมืองของรัฐใดโดยการสมรสแล้ว ก็ควรที่จะให้คนต่างด้าวนั้นได้รับสัญชาติของรัฐนั้นโดยสะดวกขึ้นกว่าการขอสัญชาติในกรณีทั่วไปเพื่อให้ครอบครัวมีความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิทธิของคนต่างด้าวเพศหญิงเท่านั้น ไม่รวมถึงชายต่างด้าวซึ่งได้สมรสกับผู้ที่มีสัญชาติไทยด้วย เนื่องจากเป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานหลักด้านความมั่นคงของรัฐ ในการป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่ทางการทหารต่างชาติ แม้ว่าสิทธิในครอบครัวของบุคคลนั้นจะเป็นสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับความคุ้มครองในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ และยังเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ความคุ้มครองมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังมีหลักความเสมอภาคระหว่างเพศตลอดจนหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศก็ได้ถูกนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในครอบครัวของคนไทย โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยปัจจุบันที่การก่อตั้งครอบครัวมีความหลากหลายมากขึ้น ตลอดจนสังคมไทยและสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จึงสมควรอย่างยิ่งที่รัฐจะได้ทบทวนถึงแนวคิดและหลักการกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านเพศของบุคคลในการได้สัญชาติไทย
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า แม้ว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่การแก้ไขกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลำดับเดียวกันยังมีอีกหลายฉบับที่ทางคณะ กมธ.ได้เคยเชิญงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งเรื่องสัญชาติก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีการทบทวนเช่นเดียวกัน คณะ กมธ.จะนำหนังสือร้องเรียนและข้อเสนอแนะในวันนี้ไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการให้สัญชาติ แม้ว่าจะต้องนำเรื่องของความมั่นคงมาประกอบการพิจารณา แต่ประเทศไทยกำลังประสบภาวะ การเกิดของเด็กที่น้อยลง จึงปฏิเสธเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ และความเป็นเมืองของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ดังนั้นการให้สัญชาติก็เป็นหนึ่งในอีกมิติที่ต้องเรื่องความมั่นคงและสังคมมาพิจารณาประกอบกัน เหนือสิ่งอื่นใดสิทธิของเด็กที่จะเกิดมาไม่ว่าจะเกิดจากสมรสแบบไหน หรือเพศใด เมื่อเกิดและดำรงอยู่ในประเทศไทยเรื่องสัญชาติก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่เราต้องนำมาพิจารณา และคณะ กมธ.จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.ต้องขอบคุณประชาชนและ ดร.ฉัตรชัยที่ ได้นำประเด็นดังกล่าวมาเสนอในวันนี้ สามารถบอกได้อย่างหนึ่งว่านี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศ แต่แม้กระทั่งเพศชายและเพศหญิงก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม นี่คือกฎหมายชายเป็นใหญ่ที่ไม่ให้สิทธิของผู้หญิงอย่างเท่าเทียม และส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก สวัสดิภาพ สิทธิการศึกษา และเรื่องสถานะบุคคลที่จะเติบโตขึ้นมาเพื่อสร้างสรรค์โลกใบนี้ การแก้ไขมาตรา 9 ใน พ.ร.บ.สัญชาติ ทางคณะ กมธ.ต้องการที่จะศึกษาต่อและแก้ไขอย่างแน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เรายืนยันเสมอก็คือ เรามองคนทุกคนเท่ากัน รวมทั้งคนทุกเพศต้องเท่ากัน และเด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลรวมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กสูงที่สุด