หน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

     รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมีหน้าที่และอำนาจทางด้านนิติบัญญัติและ
ด้านอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา มีหน้าที่และอำนาจ
ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 5 ดังนี้
          (1) เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
          (2) กำหนดการประชุมรัฐสภา
          (3) ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
          (4) รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณรัฐสภา
          (5) เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
          (6) แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ตาม (7)
          (7) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
          ส่วนประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา มีหน้าที่และอำนาจช่วยประธานรัฐสภาในกิจการอันเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาหรือปฏิบัติการตามที่ประธานรัฐสภามอบหมายตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง
          เมื่อมีการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา กล่าวคือการประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องเป็น การประชุมที่มีบทบัญญัติให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะจึงจะมีการประชุมรัฐสภาได้ โดยมีหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีดังนี้

 


ด้านการปฏิบัติหน้าที่

          รัฐสภาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะในอันที่มีผลต่อการปกครองบ้านเมืองและการบริหารประเทศในหลายด้าน เช่น การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การตรากฎหมาย การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา อันมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก จึงกำหนดการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมตามมาตรา 3 วรรคสอง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือ ความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 114


ด้านหมวดพระมหากษัตริย์

         ในด้านหมวดพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้
         1. ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือ
เพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 
แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 17
          2. การเข้ารับหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งกำหนดไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา
          3. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ตามมาตรา 20 กำหนดไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 
เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใดให้คณะองคมนตรีจัดทำ
ร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
          4. การอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปตามมาตรา 21 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ 
และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
          ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้
ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 20 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้
ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


ด้านการประชุม

          1. การปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีก่อนครบกำหนดเวลา 120 วันจะกระทำได้ก็แต่ โดยความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 121 วรรคสาม กล่าวคือ ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลา 120 วันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ หากมีการปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีก่อนครบกำหนดเวลา 120 วัน จะกระทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
          วันประชุมครั้งแรกให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด แต่ในกรณีที่การประชุมครั้งแรกมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่เพียงพอที่จะจัดให้มีการประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองสำหรับปีนั้นก็ได้ 
          การเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจำนวน 500 คน หรือเมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว หากมีความจำเป็นจะต้องเรียกประชุมรัฐสภาก็ให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของ
สภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
          2. การเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามมาตรา 122 กำหนดไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุม สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาท ซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้ 
              เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้ 
              การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
          3. การประชุมรัฐสภา ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันตามมาตรา 156
          (1) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 17
          (2) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา 19
          (3) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ตามมาตรา 20
          (4) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา 21
          (5) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา 121
          (6) การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา 122
          (7) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 132
          (8) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา 146
          (9) การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 147
          (10) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 155 และมาตรา 165
          (11) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157
          (12) การแถลงนโยบายตามมาตรา 162
          (13) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177
          (14) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178
          (15) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
          (16) กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ด้านการตรากฎหมาย

          1. การตราร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
​             ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ตามมาตรา 130
​             (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
​             (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
​             (3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
​             (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
​             (5) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
​             (6) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
​             (7) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
​             (8) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
​             (9) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง
​             (10) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
​             ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย
​             (1) คณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
​             (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 131
​             ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นอกจากที่บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ให้กระทำเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติตามมาตรา 132
​             (1) การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วันโดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอ
​             (2) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป
​             (3) ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภาและให้รัฐสภา ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในการนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดำเนินการต่อไป

          2. การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา 146 กำหนดไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

          3. การให้ความชอบตามที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอให้พิจารณาบรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 147 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ ความเห็นชอบที่ตกไปนั้น ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

          4. การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา 157 กำหนดว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา

          5. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงได้กำหนดโครงสร้าง กลไก พื้นฐานของการปกครองประเทศและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะและแตกต่างกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั่วไป
          ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้อันเป็นหลักการของดินแดนเพื่อไม่ให้มีการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นประเทศอื่นหรือในรูปแบบอื่นที่มิได้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันและประเทศไทยต้องเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นหลักการของการปกครองประเทศ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญและการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหลักการดังกล่าวย่อมกระทำมิได้โดยเด็ดขาด ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้
          (1) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นจะกระทำได้โดยการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากผู้ที่มีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้
                - คณะรัฐมนตรี
                - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
                - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
                - ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
          (2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและ ให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
          (3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
          (4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียง ในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชน เป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย
          (5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
          (6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
          (7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม(6) แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
          (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือ องค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป
          (9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่าง การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

 

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

           1. กรณีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา
ตามมาตรา 155 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้งแต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
           การประชุมดังกล่าวให้ประชุมลับ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย
           2. การแถลงนโยบายตามมาตรา 162 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน
ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ 
           ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
           3. คณะรัฐมนตรีขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 165 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

 

ด้านการให้ความเห็นชอบ

           1. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา 177 กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
               มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
           2. การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
           หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
           หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือ การลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางดังกล่าว ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วมหรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
           ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาด้วย
   เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

กรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น 
          ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 กำหนดว่า ญัตติขอให้รัฐสภามีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 





 

 

รัฐสภา● เกี่ยวกับรัฐสภา■ หน้าที่และอำนาจรัฐสภา■ โครงสร้างรัฐสภา■ ประธานรัฐสภา■ รองประธานรัฐสภา■ ทำเนียบประธานรัฐสภา■ คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.)● การประชุมร่วมกันของรัฐสภา■ ระเบียบวาระการประชุม○ ระเบียบวาระการประชุม
○ ระเบียบวาระการประชุม (Flip e-Book)
■ บันทึกการประชุม■ บันทึกการออกเสียงลงคะแนน■ รายงานการประชุม○ รายงานการประชุม
○ รายงานการประชุม (Flip e-Book)
■ สรุปผลงานการประชุม■ ข้อมูลการประชุมสภา (โมบายแอพฯ)○ ข้อมูลการประชุมสภา (iOS)
○ ข้อมูลการประชุมสภา (Android)
○ คู่มือการใช้งาน
■ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา● คณะกรรมาธิการ■ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา■ คณะกรรมาธิการร่วมกัน■ คณะกรรมาธิการในอดีต (สภาผู้แทนฯ ชุดที่ 25)■ รายงานของคณะกรรมาธิการ● เครือข่ายในวงงานรัฐสภา■ เครือข่ายรัฐสภาทั่วโลก■ เครือข่ายนิติบัญญัติ○ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
○ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
○ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
○ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
■ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ○ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
○ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
○ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
○ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
○ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
■ องค์กรอื่นๆ○ ศาลยุติธรรม
○ ศาลปกครอง
○ ศาลรัฐธรรมนูญ
○ สำนักงานอัยการสูงสุด
● บริการรัฐสภา
สภาผู้แทนราษฎร● เกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร■ หน้าที่และอำนาจสภาผู้แทนราษฎร■ โครงสร้างสภาผู้แทนราษฎร■ ประธาน/รองประธาน สภาผู้แทนราษฎร○ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
○ ทำเนียบประธานสภาผู้แทนราษฎร
■ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร○ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
○ ทำเนียบผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
■ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร○ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
○ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (โมบาย แอพฯ)
● การประชุมสภาผู้แทนราษฎร■ ระเบียบวาระการประชุม○ ระเบียบวาระการประชุม
○ ระเบียบวาระการประชุม (Flip e-Book)
■ แบบการแจ้งความจำนงขอปรึกษาหารือฯ■ กระทู้ถาม○ ระเบียบวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา
○ ระบบตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา
○ แบบฟอร์มตั้งกระทู้ถาม
○ แบบฟอร์มถอนกระทู้ถาม
○ กระทู้ถามที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา
■ บันทึกการประชุม■ บันทึกการออกเสียงลงคะแนน■ รายงานการประชุม○ รายงานการประชุม
○ รายงานการประชุม (Flip e-Book)
■ สรุปผลงานการประชุม■ ข้อมูลการประชุมสภา (โมบายแอพฯ)○ ข้อมูลการประชุมสภา (iOS)
○ ข้อมูลการประชุมสภา (Android)
○ คู่มือการใช้งาน
■ ข้อมูลการประชุมในอดีต■ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร● คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร■ คณะกรรมาธิการสามัญ■ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติ■ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ■ คณะกรรมาธิการในอดีต (สภาผู้แทนฯ ชุดที่ 25)■ รายงานของคณะกรรมาธิการ● บริการสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร● เกี่ยวกับสำนักงานฯ■ ประวัติความเป็นมา■ โครงสร้างสำนักงานฯ■ หน้าที่และอำนาจ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์■ ผู้บริหารสำนักงานฯ■ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง■ ทำเนียบเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร■ แผนปฏิบัติราชการ● ประกาศ■ จัดซื้อจัดจ้าง ■ รับสมัครงาน■ เงินอุดหนุนการวิจัย● คุณธรรมความโปร่งใส■ แผนปฏิบัติราชการ■ แผนดำเนินงาน■ มาตรฐานการปฏิบัติงาน■ การให้บริการ■ แผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี■ การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล■ การส่งเสริมความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริต● ศูนย์ข้อมูลข่าวสารราชการ● บริการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาบริการทั้งหมด ■ ข้อมูลการประชุมสภา■ ข้อมูลกฎหมาย■ ข้อมูลต่างๆ ของรัฐสภา■ แจ้งเรื่องร้องเรียน■ ข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก■ สำหรับบุคคลในวงงานรัฐสภา● Health_madia