ประธานกมธ.การอุตสาหกรรม แถลงข่าวผลการพิจารณา ปัญหาการนำเหล็กไม่ผ่านเกณฑ์ สร้างตึก สตง.
10 เมษายน 2568
วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกมธ.การอุตสาหกรรม แถลงข่าวผลการพิจารณาของคณะกมธ. เมื่อวันพุธที่ 9 เม.ย. 68 ซึ่งได้มีการพิจารณาปัญหาการนำเหล็กก่อสร้างที่อาจไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อันอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งให้เกิดการพังทลายของอาคารดังกล่าว โดยเชิญกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) มาให้ข้อมูลต่อคณะกมธ. สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้อาคาร สตง.ถล่มนั้น สร้างความสูญเสียให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากคณะ กมธ.จึงนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาคุณภาพของการผลิตสินค้าที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็ก ที่ใช้ในการก่อสร้าง สมอ.ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าได้นำเหล็กจากอาคารที่เกิดเหตุสุ่มตรวจสอบทั้งหมด 9 รายการ ซึ่งมีเหล็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 2 รายการคือ DB20 (แรงดึง) และ DB32 (คุณสมบัติทางกล) แต่ทาง MTEC มีข้อกังวลว่าเหล็กที่ สมอ.นำมาตรวจสอบไม่ใช่เหล็กใหม่ แต่เป็นเหล็กที่อยู่ในอาคารที่เกิดเหตุ ฉะนั้น กมธ.จึงมีข้อห่วงใยว่าข้อมูลที่ สมอ.จะนำส่งไปให้กับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตรวจสอบอาคารพังทลายของสตง. ที่รัฐบาลตั้งขึ้นนั้น ควรจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูล ให้รอบคอบรัดกุม และมีการทดสอบผลที่น่าเชื่อถือทางด้านวิชาการ ว่าเหล็กทั้ง 2 รายการ เมื่อเทียบกับตอนใช้งานแล้วและยังไม่ใช้งาน ไม่ได้มาตรฐานจริง จึงควรหาค่าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถที่ยืนยันได้ เนื่องจากมีความกังวลว่าเมื่อนำไปสู่ชั้นการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม อาจจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ผลิตเหล็กได้ โดยอาจอ้างว่าเหล็กที่ สมอ.ตรวจนั้นเป็นเหล็กที่ถูกใช้งานไปแล้ว คณะ กมธ.จึงขอให้การดำเนินการตามกฎหมายของหน่วยงานราชการเป็นไปอย่างรัดกุมและถูกต้อง
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า ตามระเบียบก่อนที่จะมีการก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้างต้องมีการตัดชิ้นตัวอย่างไปดำเนินการตรวจสอบ กมธ.จึงจะทำหนังสือขอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนที่ควบคุมการก่อสร้างว่าเหล็กที่ตรวจนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการในการก่อสร้างด้วย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งปิดโรงงานผู้ผลิตดังกล่าว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากตรวจสอบพบว่าผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ผลิตได้ทำหนังสือชี้แจงมาว่าได้มีการปรับปรุงแล้ว แต่ประเด็นนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการในการตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังไม่ได้ถูกแก้ไขเนื่องจากโรงงานดังกล่าวไฟไหม้ สมอ.จึงมีคำสั่งให้โรงงานดังกล่าวปรับปรุงคุณภาพก่อนถึงจะสามารถจำหน่ายเหล็กได้ และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานถูกอายัดไว้ 40,000 กว่าเส้น จึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าถ้าไม่ยังไม่แก้ไข ก็ไม่สามารถผลิตได้ และโรงงานดังกล่าวยังถูกคำสั่งปิดโรงงานอยู่
ท้ายนี้ คณะกมธ.ได้มีการติดตามผู้ผลิตดังกล่าวตั้งแต่เหตุการณ์เครนถล่ม ตั้งแต่ เม.ย.67 และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นกมธ.จึงได้มีการพิจารณาก่อนที่จะมีแผ่นดินไหวแล้วตึกถล่มว่า จะถอนทุนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมโรงงานดังกล่าวได้หรือไม่ BOI แจ้งว่าสามารถทำได้หากโรงงานผู้ผลิตนั้นละเมิดกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรมจังได้ทำบันทึกไปถึง BOI เพื่อให้พิจารณาถอนสิทธิประโยชน์ ทางด้าน กมธ.จึงขอให้ BOI พิจารณาว่าการถอนเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าแล้วนำไปตรวจสอบพบว่าไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การอายัด ถ้ามีการละเมิดกฎหมายตามเงื่อนไข BOI จึงควรพิจารณาถอดถอน สิทธิประโยชน์ในการลงทุน
ทั้งนี้ การดำเนินการอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่กมธ.ให้การสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้สบายใจว่าเมื่อมีการเกิดเหตุแล้ว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการอย่างตรงไปตรงมา และเฉียบขาด เป็นไปด้วยความโปร่งใส กมธ.จะได้ดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอต่อไป